บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 91.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



วัสดุในท้องถิ่น
วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นต่าง ๆ
วัสดุธรรมชาติ
หมายถึง วัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติ นำมาใช้งานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเพื่อเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้งาน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. วัสดุในท้องถิ่นภาคเหนือ
กระสาหรือสา ใช้ทำกระดาษสา คุณสมบัติของกระดาษสา คือ ความเหนียวนุ่ม ทนทาน ไม่ผุกร่อน แตกหัก ปลวก มอดไม่กัดกิน และเก็บรักษาได้ง่าย



2. วัสดุในท้องถิ่นภาคกลาง
1) ผักตบชวา นำมาสานเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้และของตกแต่ง
2) กก นำไปประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื่อ กระเป๋าถือ ที่รองแก้ว กล่องใส่เครื่องประดับ
3) โสน นำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น กุหลาบ มะลิ เยอบีร่า บัว



3. วัสดุในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไหม นำมาทอเป็นผืน เรียกว่า ผ้าไหม ใช้ทำเครื่องนุ่งห่มและของใช้ เช่น หมอน ย่าม ประเป๋า ส่วนรังไหมที่สาวออกหมดแล้วนิยมนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ

 

 

4. วัสดุในท้องถิ่นภาคใต้
1) ย่านลิเภา นำมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋าถือสตรี
2) ยางพารา นำมาแปรรูปเป็นเครื่องเรือน เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง
3) เปลือกหอย สามารถจำแนกออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้
(1) เปลือกหอยชนิดเป็นตัว นิยมนำเปลือกมาทำผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึก
(2) เปลือกหอยชนิดเป็นฝาประกบคู่ มักนำมาทำเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับ
4) กระจูด นำมาสานเสื่อสำหรับรองนั่งหรือปูนอน ปัจจุบันพัฒนารูปแบบโดยการตัดเป็นแบบต่าง ๆ แล้วเย็บริมด้วยผ้าหรือหนังเทียม เช่น กระเป๋า กล่อง

5. วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกภาค
1) ไผ่ นิยมนำมาใช้สร้างที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี
2) หวาย นิยมนำมาทำเป็นเครื่องเรือนเครื่องใช้ เช่น เก้าอี้รับแขก ชั้นวางของ ตะกร้า
3) เกล็ดปลา นิยมนำมาใช้มีทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ
4) มะพร้าว ส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เปลือกมะพร้าวนำไปแยกเฉพาะเส้นใยมาทำเชือกและวัสดุบุที่นั่งและที่นอน ขุยมะพร้าว ใช้เป็นวัสดุในการขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ใบมะพร้าวใช้ทำเครื่องจักสาน ก้านมะพร้าวใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว กะลามะพร้าวนำมาทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องประดับ
5) ใบลาน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทสิ่งของเครื่องใช้ ของเล่น ของตกแต่ง
6) ใบตองและเชือกกล้วย นิยมนำใบตองมาประดิษฐ์เป็นภาชนะใส่อาหาร ส่วนกาบกล้วยนำมาจักเป็นเส้น ใช้เป็นวัสดุจักสานได้ดี ข้อสำคัญคือทั้งใบตองและกาบกล้วยย่อยสลายได้ง่าย
ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมประเภทของใช้
7) ไม้ แบ่งตามคุณสมบัติของเนื้อไม้ได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) ไม้เนื้ออ่อน เหมาะสำหรับทำเครื่องประดับตกแต่งบ้าน
(2) ไม้เนื้อแข็ง เหมาะสำหรับทำงานโครงสร้างต่าง ๆ
(3) ไม้เนื้อแกร่ง เหมาะสำหรับทำเครื่องเรือน 

 

 

8) ดิน เกิดจากการสลายตัวผุพังของหิน แร่ธาตุ และอินทรียวัตถุต่าง ๆ ดินที่นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องเป็นดินที่มีความเหนียว เนื้อดินละเอียด ปั้นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่าย ทรงตัวและหดตัวได้ดี ทนความร้อนสูง ไม่แตกร้าว ชนิดที่เหมาะสมในการปั้น มีดังนี้
(1) ดินดำเหนียว นิยมใช้ทำกระเบื้อง อิฐทนไฟ หรือผสมกับดินเชื้อปั้นเป็นภาชนะใช้สอย โดยนำไปเผาในอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนัก
(2) ดินทนไฟ นิยมนำมาทำอุปกรณ์หรือเครื่องมือทนไฟ
(3) ดินสโตนแวร์ สามารถขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องผสมกับดินชนิดอื่น
(4) ดินขาว มีคุณสมบัติดีที่สุด เนื้อดินแข็งแกร่ง เหนียว ทนความร้อนได้สูง สามารถนำมาปั้นขึ้นรูปทรงได้โดยไม่ต้องผสมกับวัสดุอื่น เมื่อเผาสุกเนื้อดินจะเป็นสีขาว นิยมนำมาทำเครื่องปั้นดินเผาประเภทเครื่องเคลือบ

คุณค่าของงานผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น
1. คุณค่าด้านสืบสานวัฒนธรรม
2. คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย
3. คุณค่าด้านความประหยัดค่าใช้จ่าย
4. คุณค่าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5. คุณค่าด้านศิลปะ
6. คุณค่าด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

การประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุในท้องถิ่น
การประดิษฐ์กล่องกระดาษทิชชูจากรกมะพร้าว
รกมะพร้าวเป็นส่วนเยื่อหุ้มที่ติดอยู่กับคอมะพร้าว ลักษณะเป็นแผ่นใยข่ายบาง ๆ คล้ายมุ้งลวด เนื้อหยาบ ยืดหยุ่นได้ และเหนียว นิยมนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ เช่น ที่รองแก้ว ที่ใส่ซองจดหมาย กระเป๋าสตางค์ กล่องกระดาษทิชชู
การประดิษฐ์กล่องกระดาษทิชชูจากรกมะพร้าว มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์งาน
1) ลักษณะงาน เริ่มจากการเตรียมรกมะพร้าว การตัด การเย็บ การปักตกแต่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง เรียบร้อย และสวยงาม ผู้ประดิษฐ์ศึกษาขั้นตอนให้เข้าใจ แล้วจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ให้ครบถ้วน
2) คุณสมบัติของผู้ประดิษฐ์ ควรเป็นผู้มีความรู้ด้านงานประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุในท้องถิ่น มีความคิดสร้างสรรค์ ประณีต และรู้จักนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดคุณค่า
2. การวางแผนในการทำงาน เป็นการกำหนดกรอบในการทำงานคร่าว ๆ ดังนี้

 

 

3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน เป็นการลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ มีวิธีการดังนี้
การเตรียมรกมะพร้าว
1) เลือกรกมะพร้าวที่มีขนาดใหญ่และลายตาข่ายไม่ฉีกขาด
2) นำไปล้างให้สะอาดแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
3) ฟอกขาวโดยแช่ในน้ำผสมคลอรีน 1 คืน นำไปล้างน้ำสะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง

วิธีการประดิษฐ์
1) การประดิษฐ์ฐานกล่องกระดาษทิชชู มีวิธีการดังนี้
(1) นำกระดาษแข็งมาตัดเป็นรูปหกเหลี่ยม ให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 14 เซนติเมตร
(2) นำกระดาษแข็งจากข้อ (1) มาวางทาบกับรกมะพร้าวที่เตรียมไว้ แล้วตัดให้มีขนาดเท่ากัน จำนวน 2 ชิ้น

 

 

(3) ใช้กาวลาเท็กซ์ติดรกมะพร้าวทั้งด้านหน้าและด้านหลังของกระดาษแข็งให้เรียบร้อย
2) การประดิษฐ์ขอบฐานกล่องกระดาษทิชชู มีวิธีการดังนี้



(1) ตัดกระดาษแข็งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร และยาว 39 เซนติเมตร แล้วแบ่งกระดาษแข็งออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน พร้อมกับใช้ดินสอกำหนดเส้นประแต่ละตำแหน่งไว้ ใช้คัตเตอร์กรีดเบา ๆ ตามรอยเส้นประและระวังอย่าให้กระดาษขาด
(2) นำกระดาษแข็งจากข้อ (1) มาวางทาบกับรกมะพร้าว แล้วตัดให้มีขนาดและความยาวเท่ากับกระดาษแข็งจำนวน 2 ชิ้น และตัดแบ่งรกมะพร้าวทั้ง 2 ชิ้น ออกเป็น 6 ชิ้น โดยให้มีขนาดเท่ากับช่องที่แบ่งกระดาษแข็ง
(3) ใช้กาวลาเท็กซ์ติดกระดาษแข็งและรกมะพร้าวทั้งด้านหน้าและด้านหลังเข้าด้วยกัน แล้วพับฐานกล่องและติดกาวให้เป็นรูปหกเหลี่ยม
3) การประดิษฐ์ตัวกล่องกระดาษทิชชู มีวิธีการดังนี้



(1) ตัดกระดาษแข็งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร และยาว 42 เซนติเมตร แล้วแบ่งกระดาษแข็งออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน พร้อมกับใช้ดินสอกำหนดเส้นประแต่ละตำแหน่งไว้ให้พร้อม ใช้คัตเตอร์กรีดเบา ๆ ตามรอยเส้นประ
(2) นำกระดาษแข็งจากข้อ (1) มาวางทาบกับรกมะพร้าวแล้วตัดให้มีขนาดเท่ากับกระดาษแข็งจำนวน 2 ชิ้น และตัดแบ่งรกมะพร้าวทั้ง 2 ชิ้น ออกเป็น 6 ชิ้น โดยให้มีขนาดเท่ากับช่องที่แบ่งกระดาษแข็ง
(3) ใช้กาวลาเท็กซ์ติดกระดาษแข็งและรกมะพร้าวทั้งด้านหน้าและด้านหลังเข้าด้วยกัน แล้วพับฐานกล่องและติดกาวให้เป็นรูปหกเหลี่ยม
4) การประดิษฐ์ฝากล่องกระดาษทิชชู มีวิธีการดังนี้



(1) ตัดกระดาษแข็งเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า จำนวน 6 ชิ้น วางทาบกับรกมะพร้าวแล้วตัดให้มีขนาดและความยาวเท่ากับกระดาษแข็งจำนวน 12 ชิ้น ตกแต่งรกมะพร้าวแต่ละชิ้นให้สวยงาม
(2) ใช้กาวลาเท็กซ์ติดกระดาษแข็งและรกมะพร้าวที่ตกแต่งเสร็จแล้วทั้งด้านหน้าและด้านหลังเข้าด้วยกันทั้ง 6 ชิ้น แล้วประกอบกันเป็นรูปหกเหลี่ยม และนำเชือกหรือไหมพรมสีชมพูมาติดปิดรอยต่อแต่ละจุดให้สวยงาม
5) การประกอบส่วนต่าง ๆ ของกล่องกระดาษทิชชู มีวิธีการดังนี้



(1) นำตัวกล่องและฝากล่องมาติดประกอบกัน แล้วนำไปครอบกับส่วนฐานกล่อง
(2) ทาเคลือบเงาด้วยแลกเกอร์ให้ทั่วแล้วผึ่งให้แห้ง
การนำไปใช้ประโยชน์ กล่องกระดาษทิชชูเหมาะสำหรับวางบนโต๊ะอาหารหรือห้องรับแขก เพื่อใช้เช็ดปากหรือมือในขณะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม



4. การประเมินผลการทำงาน สามารถประเมินผลโดยสังเกตจากชิ้นงานว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงหรือไม่ คุณภาพของานมีความสวยงาม สร้างสรรค์ และประณีตหรือไม่

การประดิษฐ์มู่ลี่ไม้ไผ่
การเลือกไม้ไผ่ที่จะทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ควรเลือกไม้ไผ่ที่มีลำตรง ปล้องยาว ผิวเรียบเป็นมัน ไม่มีรอยแมลงเจาะไช ของใช้ที่นิยมนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์ เช่น กระติบข้าว กระเป๋า พัด ตะกร้า เป็นต้น
การประดิษฐ์มู่ลี่จากไม้ไผ่ มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์งาน
1) ลักษณะงาน มู่ลี่ไม้ไผ่เป็นงานประดิษฐ์ประเภทของใช้เพื่อบังแสงแดด ผู้ประดิษฐ์ควรศึกษาขั้นตอนให้เข้าใจ แล้วจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ให้ครบถ้วน
2) คุณสมบัติของผู้ประดิษฐ์ ควรเป็นผู้มีความรู้ด้านงานประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุประเภทไม้ไผ่ มีความคิดสร้างสรรค์ ประณีต และรู้จักนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดคุณค่า
2. การวางแผนในการทำงาน เป็นการกำหนดกรอบในการทำงานคร่าว ๆ ดังนี้

 

 

3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน วิธีการประดิษฐ์มู่ลี่ไม้ไผ่มีดังนี้
1) วิธีการเตรียมไม้ไผ่ มีดังนี้
(1) เลือกไม้ไผ่ที่แก่ ลำตรง ไม่คด เพื่อความคงทนและไม่หดตัว ใช้เลื่อยตัดไม้ไผ่ลำเล็กยาว 30 เซนติเมตร จำนวน 2 ท่อน เพื่อทำกรอบมู่ลี่ด้านบนและด้านล่าง
(2) ใช้มีดโต้ผ่าไม้ไผ่เป็นซี่เล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ 3–5 มิลลิเมตร และใช้มีดตอกเหลาให้เรียบ จำนวน 90–100 อัน

2) วิธีการประดิษฐ์ ดังนี้
(1) นำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้สำหรับทำกรอบมู่ลี่ทั้ง 2 ท่อน มาแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ตามระยะ แล้วใช้สว่านเจาะรูให้ทะลุด้านหลัง แล้วผูกหูแขวนบนกรอบมู่ลี่ท่อนที่ 1
(2) นำเอ็นสอดร้อยเข้าไปในรูที่เจาะบนกรอบมู่ลี่ท่อนที่ 1 และม้วนปมไว้ด้านหลัง
(3) นำไม้ไผ่ซีกที่เตรียมไว้แล้วมาวางกึ่งกลางเอ็น แล้วถักไม้ไผ่โดยใช้เงื่อนตะกรุดเบ็ด โดยจับเอ็นไขว้ดึงเส้นล่างขึ้น ดึงเส้นบนลง แล้วนำไม้ไผ่อันต่อไปมาวาง ถักวิธีเดียวกันจนได้ความยาวของมู่ลี่ตามต้องการ
(4) นำกรอบมู่ลี่ท่อนที่ 2 ที่เตรียมไว้แล้วมาร้อยเอ็นสอดลงด้านล่างของกรอบ แล้วผูกมัดปมให้แน่น
(5) นำสีและพู่กันมาวาดภาพตกแต่งบนชิ้นงานให้สวยงาม แล้วเคลือบเงาด้วยแลกเกอร์ เพื่อความเรียบร้อย สวยงาม
การนำไปใช้ประโยชน์ นำมู่ลี่ที่ทำสำเร็จแล้วไปแขวนที่ช่องหน้าต่างเพื่อบังแสงแดด
4. การประเมินผลการทำงาน สามารถประเมินผลโดยสังเกตจากชิ้นงานว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงหรือไม่ คุณภาพของงานมีความสวยงาม สร้างสรรค์ และประณีตหรือไม่

การประดิษฐ์ของตกแต่งจากวัสดุในท้องถิ่น
การตกแต่งกระถางด้วยเปลือกหอย
ของตกแต่งที่ประดิษฐ์จากเปลือกหอยมักพบตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล เช่น โมไบล์เปลือกหอย พวงกุญแจ ที่ทับกระดาษ หรือนำมาประดับตกแต่งสิ่งของให้มีความสวยงามและมีมูลค่าสูงขึ้น
การตกแต่งกระถางด้วยเปลือกหอย มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์งาน
(1) ลักษณะงาน การตกแต่งกระถางด้วยเปลือกหอยต้องการสื่อถึงบรรยากาศของชายทะเลมาไว้บนกระถาง เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับสถานที่ ผู้ประดิษฐ์ควรศึกษาขั้นตอนการตกแต่งให้เข้าใจ แล้วจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ให้ครบถ้วน
(2) คุณสมบัติของผู้ประดิษฐ์ ควรเป็นผู้มีความรู้ด้านงานประดิษฐ์ของตกแต่งจากวัสดุประเภทเปลือกหอย มีความคิดสร้างสรรค์ ประณีต และรู้จักนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดคุณค่า
2. การวางแผนในการทำงาน เป็นการกำหนดกรอบในการทำงานคร่าว ๆ ดังนี้ 



3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน วิธีการตกแต่งกระถางด้วยเปลือกหอยมีดังนี้
1) วิธีการเตรียมเปลือกหอยแห้ง มีดังนี้
(1) ขัดคราบสกปรกออกจากผิวเปลือกหอย แล้วนำไปแช่น้ำผสมสารส้มประมาณ 2–3 ชั่วโมง เพื่อขจัดคราบความเค็ม
(2) นำเปลือกหอยมาแช่ในน้ำสะอาดแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
2) วิธีการตกแต่ง มีดังนี้
(1) ออกแบบลวดลายกระถางลงบนกระดาษตามจินตนาการ
(2) สวมถุงมือแล้วผสมปูนยาแนวกับน้ำ ใช้ไม้พายคนให้เข้ากันประมาณ 10–15 นาที
(3) นำปูนยาแนวที่ผสมเสร็จแล้วมาป้ายลงบนกระถางหนาประมาณ ½ นิ้ว
(4) นำเปลือกหอยที่เตรียมไว้แล้วมากดลงบนปูนยาแนวตามที่ออกแบบไว้
(5) โรยกรวดและทรายหยาบให้ทั่วเพื่อให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด แล้วผึ่งไว้ให้แห้ง



การนำไปใช้ประโยชน์ กระถางที่ทำเสร็จแล้วสามารถนำไปตกแต่งร่วมกันกับดอกไม้เลียนแบบธรรมชาติ เพื่อสร้างบรรยากาศให้สถานที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น
4. การประเมินผลการทำงาน
สามารถประเมินผลโดยสังเกตจากชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้วว่ามีความเหมือนธรรมชาติหรือไม่ คุณภาพของชิ้นงานสวยงามประณีตหรือไม่
การประดิษฐ์สับปะรดจากดินไทย
ของตกแต่งที่ประดิษฐ์จากดินไทยเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากมีความสวยงามและใกล้เคียงกับธรรมชาติ เช่น ตุ๊กตา ผลไม้หรือดอกไม้ประดิษฐ์ชนิดต่าง ๆ
การประดิษฐ์สับปะรดจากดินไทย มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์งาน
1) ลักษณะงาน เป็นการนำดินไทยมาปั้นเป็นรูปร่างสับปะรดโดยการเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อนำไปประดับตกแต่งสถานที่หรือเป็นของชำร่วยในงานมงคลต่าง ๆ ผู้ประดิษฐ์ควรศึกษาขั้นตอนการตกแต่งให้เข้าใจ แล้วจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ให้ครบถ้วน
2) คุณสมบัติของผู้ประดิษฐ์ ควรเป็นผู้มีความรู้ด้านงานประดิษฐ์ของตกแต่งจากวัสดุประเภทดิน มีความประณีต เป็นคนช่างสังเกตธรรมชาติ และรู้จักใช้วัสดุในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า
2. การวางแผนในการทำงาน เป็นการกำหนดกรอบในการทำงานคร่าว ๆ ดังนี้



3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน มีวิธีการดังนี้
1) การประดิษฐ์ใบ มีวิธีการดังนี้
(1) นำดินไทยมาผสมกับสีเขียวแล้วปั้นเป็นหยดน้ำขนาดต่าง ๆ ได้แก่ เล็ก กลาง ใหญ่
(2) ใช้เหล็กคลึงปลายแหลมกดคลึงให้แบนและบาง
(3) ใช้กรรไกรปลายแหลมตัดขาดโดยรอบใบ แล้วใช้เหล็กคลึงปลายแหลมกดคลึงให้เป็นรูปร่างคล้ายใบของสับปะรด
2) การประกอบใบและผล มีวิธการดังนี้
(1) นำดินไทยปั้นเป็นก้อนกลม ๆ แล้วคลึงให้มีลักษณะเป็นผลสับปะรด ตัดลวดสำเร็จสีเขียวเบอร์ 26 ยาว 7–9 เซนติเมตร แล้วพันด้วยดินไทยสีเขียวจนสุด ผึ่งให้แห้ง
(2) นำลวดสำเร็จจากข้อ (1) มาทากาวที่ปลายลวด แล้วนำใบสับปะรดขนาดเล็ก และใบขนาดกลางมาติดให้เรียบร้อย
(3) นำลวดสำเร็จสีเขียวที่ติดใบเสร็จแล้วมาเสียบลงตรงกลางผลดึงจนชิดกัน แล้วใช้คัตเตอร์กรีดเป็นตาของผลสับปะรด
(4) ใช้กรรไกรปลายแหลมตัดขริบตรงตาผลให้เป็นรอย นำใบขนาดกลางมาติดที่โคนผล แล้วพันก้านด้วยดินไทยสีเขียวที่ผสมไว้จนสุดก้าน แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง
(5) เมื่อแห้งแล้วใช้พู่กันเพ้นท์สีเหลืองที่ผลสับปะรด แล้วผึ่งให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง
3) การจัดตกแต่งในกระถางดินเผา
ตัดโฟมให้มีขนาดเล็กกว่ากระถางเล็กน้อย วางลงในกระถาง นำสับปะรดมาปักโฟมจัดให้สวยงาม ปักด้วยใบสับปะรดทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตามลำดับ และตกแต่งด้วยหญ้ามอสให้สวยงาม
การนำไปใช้ประโยชน์ นำไปประดับตามสถานที่ต่าง ๆ หรือมอบให้ผู้ร่วมงานเนื่องในโอกาสต่าง ๆ
4. การประเมินผลการทำงาน
สามารถประเมินผลโดยสังเกตจากชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้วว่ามีความเหมือนธรรมชาติหรือไม่ คุณภาพของชิ้นงานสวยงามประณีตหรือไม่




คำสำคัญ
วัสดุธรรมชาติ การประดิษฐ์ กระสา ผักตบชวา วัสดุในท้องถิ่น ย่านลิเภา ยางพารา


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th