Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
1,961 Views

  Favorite

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ

      ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ค.ศ. ๑๙๐๐ - ๑๙๙๙) ได้มีความพยายามในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ใช้สอยกับผู้ใช้ทั่วไปได้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานประสานกับมนุษย์ด้วยภาษาพูด  ความพยายามที่ว่านี้เป็นการใช้วิทยาการที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการสร้างให้เครื่องจักรสามารถเข้าใจภาษาธรรมชาติของมนุษย์ (natural language) ทั้งในรูปภาษาเขียนและภาษาพูด  ปัญหาที่ยากมากในการทำให้เครื่องจักรรับรู้และเข้าใจภาษามนุษย์คือแม้แต่มนุษย์เองก็ยังไม่สามารถเข้าใจกระบวนการของการเรียนรู้ภาษาได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เพราะกระบวนการนี้เป็นเรื่องอัตโนมัติสำหรับมนุษย์ซึ่งมีกลไกในสมองที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาได้อย่างรวดเร็วมากในวัยเด็ก กระบวนการเรียนรู้ที่ว่านี้ยังมีการศึกษาอยู่ว่าเกิดขึ้นและพัฒนาต่อไปได้อย่างไร (ที่น่าสนใจคือความสามารถในการเรียนรู้ภาษานี้จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นทำให้ผู้ใหญ่เรียนรู้ภาษาด้วยความยากลำบากกว่าเด็ก) กลุ่มนักวิจัยซึ่งทำงานในด้านนี้มาตั้งแต่ช่วยคริสต์ทศวรรษที่ ๖๐ ได้พบว่าความเข้าใจภาษานี้เป็นเรื่องยากมาก ๆ ความสำเร็จเท่าที่ได้มีมาแล้วยังเป็นเรื่องที่จำกัดอย่างยิ่ง ในขณะนี้ความสามารถในการเข้าใจคำสั่งภาษามนุษย์ยังมีไม่กี่คำหรือเป็นประโยคที่ไม่ซับซ้อนมากนัก  ในระยะต่อไปคาดว่าจะมีการปรับปรุงขีดความสามารถของระบบให้สามารถรับรู้คำสั่งที่ซับซ้อนใกล้เคียงกับภาษาพูดปกติในภาษาใดภาษาหนึ่ง 

 

จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม  25
ตัวอย่างงานบริการสารสนเทศต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต
เทคโนโลยีสารสนเทศ
เจ้าหน้าที่สั่งงานคอมพิวเตอร์ด้วยคำพูด

 

      ความสามารถในการรับรู้ภาษาต่าง ๆ ของมนุษย์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความสามารถในการเข้าใจสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ใช้กับภาษานั้น ๆ หากไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้เข้าไปในระบบความเข้าใจของเครื่องจักรก็ยากที่จะให้เกิดการตีความที่สื่อความหมายที่ถูกต้องระหว่างผู้ที่สื่อสารในภาษานั้น ๆ อย่างไรก็ตามในสภาพแวดล้อมที่จำกัดลงมาเราก็อาจกำหนดกรอบเงื่อนไขที่เล็กลงมา สำหรับการจัดการกับข้อความหรือคำที่เครื่องจักรจะต้องตีความ ซึ่งเห็นแล้วว่าไม่ยากนักที่จะให้สัตว์เลี้ยงรับคำสั่งเป็นคำ ๆ แต่ยากที่จะให้มันเข้าใจข้อความหลายคำหรือเป็นประโยคในกรณีของเครื่องจักรคอมพิวเตอร์ก็เช่นกันเป็นการยากที่จะสร้างโปรแกรมสอนคอมพิวเตอร์ให้แยกคำและรับรู้คำใดมีความหมายอย่างไรและเมื่อประกอบคำเหล่านั้นเข้าด้วยกันในประโยคแล้วมีความหมายอย่างไร  การเข้าใจภาษาเขียนนั้นเป็นการยากอยู่แล้วเพราะต้องแยกอักขระออกเป็นคำแล้วพิจารณาการประกอบของคำเป็นประโยค แต่การเข้าใจภาษาพูดยิ่งยากกว่าอีกมากเพราะต้องมีกระบวนการของการรับรู้เสียง แยกเสียง และส่วนประกอบของเสียงเพื่อให้ทราบว่าข้อความที่พูดนั้นหมายถึงอะไร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow