เขาพระวิหาร
สมาชิกเลขที่110332 | 27 พ.ค. 55
3.7K views

เขาพระวิหาร หรือ "ปราสาทเขาพระวิหาร" (Prasat Preah Vihear) ที่ประเทศกัมพูชาเรียกขานว่า "เปรี๊ยะวิเฮียร์" เป็นปราสาทหินตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบ้านสรายจร็อม อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา และบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เขาพระวิหาร เป็นบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนพื้นเมืองสมัยก่อน ในกษัตริย์ชัยวรมันที่ 2 ได้กำหนดเขตบริเวณนี้และเรียกชื่อว่า "ภวาลัย" ภายหลังปรากฏชื่อในจารึกภาษาสันสกฤตว่า "ศรีศิขรีศวร" หมายความว่า "ผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาอันประเสริฐ" ตั้งอยู่บนยอดเขาในเทือกเขาพนมดงรัก ตามแนวเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

จากหลักฐานต่างๆ คาดว่าสร้างในปี พ.ศ.1432-1443 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่สักการะตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ โดยสมมติให้เปรียบเสมือน "เขาพระสุเมรุ" (ศูนย์กลางของจักรวาล) โดยการสร้างนั้นก็มีเหตุผลในการรวบรวมอำนาจและความเชื่อของคนในละแวกนั้นเข้าด้วยกัน เพราะในอดีตแถบนั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จึงโปรดให้สร้างเขาพระวิหารขึ้น เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจของ ชาวบ้านซึ่งจะทำให้การปกครองง่ายขึ้นด้วย

ปราสาทเขาพระวิหาร หรือ ปราสาทพระวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีความงดงาม โดดเด่นอยู่เหนือเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร ปราสาทเขาพระวิหารเป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก มีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ ส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาวและบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับ)

ปราสาทเขาพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ ซึ่งเทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้น และปราสาทเขาพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพชนของ "ขะแมร์กัมพูชา" (ขอม) แต่โบราณ ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา

ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งขะแมร์กัมพูชาก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)

ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู) คั่นอยู่ 5 ชั้น (โคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้าจะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้

เดิมทีปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ (ค.ศ.1899, ร.ศ.-118) และเมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งพระองค์ได้จารึก ร.ศ. และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า 118 สรรพสิทธิ

ต่อมาปี 2450 จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส (ปกครองเขมรขณะนั้น) อาศัยแสนยานุภาพทางทหารบีบให้รัฐบาลสยาม (ไทย) ยอมเขียนแผนที่กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม รัฐบาลสยามก็ยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศษสร้างขึ้นมาแต่โดยดีโดยมิได้ทักท้วง (ซึ่งแต่เดิมถ้าแบ่งตามสันปันน้ำเทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหารจะอยู่ในฝั่งไทยแต่พอแบ่งตามแผนที่ใหม่ของปี 1907จะอยู่ในฝั่งกัมพูชา) อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอยู่ในขณะนั้น และคนไทยก็ยังสามารถเข้าไปยังปราสาทเขาพระวิหารได้โดยง่าย

ไม่ว่าจะตามสนธิสัญญาเดิม พ.ศ.2447 หรือตามสภาพภูมิศาสตร์ กำหนดให้อยู่ในดินแดนของไทยอย่างชัดเจน จนวันที่ 6 ตุลาคม 2502 รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา ภายใต้การหนุนหลังของฝรั่งเศส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารคืน (ยื่นฟ้องทั้งหมด 73 ครั้ง) ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่

ลักษณะสำคัญของปราสาทเขาพระวิหาร

  1. บันไดดินด้านหน้าของปราสาทซึ่งบันไดดินด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา บางชั้นสกัดหินลงไปในภูเขา มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน162 ขั้น สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์ทวาร-บาล (ทะ-วา-ละ-บาน) เพื่อเฝ้าดูแลรักษาเส้นทาง
  2. สะพานนาคราช หรือ ลานนาคราชอยู่ทางทิศใต้ของบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร สองข้างสะพานนาคราชสร้างเป็นฐานเตี้ยๆ บนฐานมีนาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวเป็นนาคราชที่ยังไม่มีรัศมีเข้ามา ประกอบมีลักษณะคล้ายๆ งูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบปาปวน
  3. โคปุระ (ซุ้มประตู)ชั้นที่ 5จะมีภาพวาดโดยปามังติเอร์อยู่ สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ แต่ส่วนหลังคากระเบื้องนั้นหายไปหมดแล้ว บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 5 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา
  4. โคปุระ (ซุ้มประตู)ชั้นที่ 4(ปราสาทหลังที่ 2) จะภาพของการกวนเกษียณสมุทร ณ เขาพระวิหาร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทเขาพระวิหาร" ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช ซึ่งทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 มาเป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียงตั้งอยู่ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 4 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตร จากเหนือไปใต้ เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 5 คือ แคลง/บาปวน ด้านนอกตั้งรูปสิงห์ หน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร
  5. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 3(ปราสาทหลังที่ 1) เป็นโคปุระหลังที่ใหญ่โตมโหฬารที่ยังสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะการสร้างคล้ายกับ โคปุระ ชั้นที่ 1 และ 2 แต่ผิดตรงที่มีฝาผนังกั้นล้อมรอบความใหญ่โตมากกว่า และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ และจากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร
  6. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 2สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียวอยู่บนไหล่เขาทางทิศเหนือของโคปุระชั้นที่ 2 บริเวณพื้นราบของเส้นทางดำเนินและสองข้างทางขึ้นลงของบันได จะพบรอยสกัดลงในพื้นศิลามีลักษณะเป็นหลุมกลมๆ สำหรับใส่เสาเพื่อทำเป็นปะรำพิธี โดยมีประธานในพิธีนั่งอยู่ในปะรำพิธีเพื่อดูการร่ายรำบนเส้นทางดำเนิน กรอบประตูห้องมีจารึกอักษรขอมระบุบปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตู และมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณฑกแก่พราหมณ์
  7. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 1สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม-ย่อมุม บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 1 ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าการที่จะเข้าเฝ้าเทพนั้น จะไปด้วยอาการเคารพนพนอบในลักษณะหมอบคลานเข้าไป ทางทิศตะวันออกมีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอนเป็นเส้นทางขึ้นลง ไปสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่า "ช่องบันไดหัก"
  8. สระสรงจะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.8 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วยท่อนหินเป็นชั้นๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันได เรียกว่าสระสรงกล่าวกันว่าใช้สำหรับเป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะกระทำพิธีทางศาสนา
  9. เป้ยตาดีเป้ยเป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผาหรือโพงผา ตามคำบอกเล่าว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ซึ่งบริเวณตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักพระหัตย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า 118-สรรพสิทธิ แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานไตรรงค์

ปราสาทเขาพระวิหารนับได้ว่าเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้างเทวสถานของฮินดู และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ 81,250 ไร่ และได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทย

คดีเขาพระวิหาร

ที่ตั้งและสภาพทั่วไปของปราสาทเขาพระวิหาร

ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงเล็กหรือดงรัก (ดองแร็กภาษาเขมรแปลว่าภูเขาไม้คา) กั้นพรมแดนไทย-กัมพูชา ตั้งอยู่บนงอยของเอื้อมผาที่สูงตระหง่าน ไม่อาจหาโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรแห่งอื่นใดจักมีความทัดเทียมได้ เดิมตั้งอยู่ที่บ้านภูมิชร็อล ระหว่างช่องโพย (ตะวันตก) กับช่องทะลาย ต.บึงมะลู อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ในราชอาณาจักรไทย

ลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร

  • แผนที่อินโดจีนของชาแบร็ต แอล กัลลัง ซึ่งพิมพ์ก่อนการดำเนินงานของ คณะกรรมการผสมอ้างที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 แสดงว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตสยาม
  • แต่แผนที่ทางโบราณคดีของลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์ ในปี พ.ศ. 2444 ตีพิมพ์เรื่องบัญชีทะเบียนโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2447 ได้ยืนยันว่า การปักปันเขตแดนครั้งสุดท้าย ทำให้เปรียะวิเชียรหรือเขาพระวิหารตกมาเป็นของฝรั่งเศส
  • แต่ในช่วงเวลานี้ราชอาณาจักรสยามยังใช้อำนาจปกครองเขาพระวิหารต่อไป
  • 11 ต.ค. 2483 กรมศิลปากรของราชอาณาจักรไทย (เปลี่ยนจากสยามในช่วงนี้) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ต่อมา 4 ธ.ค. 2502 ไทยประกาศขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานแห่งชาติอีกครั้งพร้อมทั้งมีแผนที่แสดงปราสาทเขาพระวิหารแนบท้าย
  • ปี พ.ศ 2492 ฝรั่งเศส ริเริ่มและด้วยความเห็นชอบของกัมพูชาได้มีการคัดค้านอำนาจอธิปไตยของไทย เหนือเขาพระวิหารอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก ฝรั่งเศสประท้วงว่าไทยไม่ควรส่งคนไปรักษาปราสาทเขาพระวิหาร
  • กัมพูชาเริ่มเรียกร้องให้เขาพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา เริ่มเป็นทางการ พ.ศ. 2501
  • 1 ธ.ค. 2501 กัมพูชาตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับไทย
  • 6 ต.ค. 2502 รัฐบาลกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกขอให้ศาลวินิจฉัยให้ราชอาณาจักรไทยถอนกำลังหรืออาวุธออกจากบริเวณเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ปัญหาที่เกี่ยวกับการปักปันเส้นเขตแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศอาจถูกระงับไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะ

  1. รัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีเทคนิคของการสำรวจพื้นที่ที่ดีพอหรือไม่สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้เพื่อตรวจว่าเส้นเขตแดนปัจจุบันถูกต้องตรงตามที่ตนได้ทำความตกลงไว้หรือไม่ 2
  2. รัฐที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นว่าผลประโยชน์ของงานในด้านอื่นมีความสำคัญกว่า
  3. รัฐที่มีดินแดนติดต่อกันยังไม่สามารถคำนวณผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองออกได้อย่างชัดเจน
  • คดีปราสาทเขาพระวิหาร มาจากผลสืบเนื่องของอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)
  • ตามข้อกำหนดในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 ( พ.ศ. 2447) ข้อ 1 และข้อ 3 กำหนดไว้ดังนี้

"ข้อ 1 เขตแดนระหว่างประเทศสยามกับกประเทศกัมพูชาเริ่มต้นบนฝั่งซ้ายของทะเลสาปจากปากแม่น้ำสะตุง โรลูโอส….ฯลฯ ……จนถึงทิวเขาดงรัก จากที่นั้นเส้นเขตแดนคือสันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำของแม่น้ำเสนและแม่น้ำโขงด้านหนึ่งกับแม่น้ำมูลอีกด้านหนึ่ง…………."

"ข้อ 3 ให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนที่ประกอบเป็นอินโดจีนฝรั่งเศส การปักปันนี้ให้กระทำโดยคณะกรรมการผสมประกอบด้วยพนักงานซึ่งประเทศภาคีทั้งสองแต่งตั้ง งานของคณะกรรมการจะเกี่ยวกับเขตแดนส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 ………."

คณะกรรมการผสมได้ดำเนินการปักปันเส้นเขตแดนจนเกือบจะแล้วเสร็จ แต่สยามกับฝรั่งเศสได้ชิงลงนามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1907 ไปก่อน จึงยังไม่ได้มีการทำแผนที่สมบูรณ์ให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายลงนามรับรองแต่อย่างใด ต่อมาฝรั่งเศสได้ดำเนินการตีพิมพ์แผนที่ซึ่งรัฐบาลสยามยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการนั้น โดยได้จัดพิมพ์แต่เพียงฝ่ายเดียวที่กรุงปารีส แล้วจึงส่งแผนที่จำนวน 11 ท่อน มาให้รัฐบาลสยามในจำนวนนี้มีแผนที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับดินแดนบริเวณเขาพระวิหารด้วยฉบับหนึ่ง รัฐบาลสยามมิได้รับรองแผนที่ดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แผนที่ดังกล่าวกำหนดเส้นเขตแดนบนภูเขาดงรักเรียกว่า "แผ่นดงรัก" (ไทยประท้วงว่าไม่ได้ผ่านความเห็นชอบและการพิจารณาของคณะกรรมการผสม) ดังนั้น หากยึดตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) ก็จะต้องกำหนดตามเขตแดนธรรมชาติคือ สันปันน้ำ ซึ่งไทยยืนยันว่าสันปันน้ำปันเขาพระวิหารมาไว้ในอาณาเขตไทย แต่แผนที่ทำขึ้นกำหนดปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในกัมพูชา

  • กัมพูชาอ้างว่าต้นฉบับแผนที่นี้พิมพ์โดยอาศัยอำนาจมอบหมายจากคณะกรรมการผสมมีไทยฝรั่งเศส ได้มีการส่งแผนที่ไปให้รัฐบาลสยามจำนวน 50 ฉบับ เสนาบดีมหาดไทยทรงตอบรับใน พ.ศ. 2451 กับขอเพิ่มเติมอีก 15 ชุด เพื่อไปแจกจ่ายแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหาร

กัมพูชาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องไทยต่อศาลโลกหรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นเรื่องการอ้างอธิปไตยของคู่กรณีเหนือดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของซากปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่บนเทือกเขา ซึ่งเป็นผืนดินที่ต่อเนื่องออกไปจากแผ่นดินของประเทศไทยในบริเวณเทือกเขา ดงรักและหักลงสู่พื้นที่ราบลุ่มในกัมพูชา ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับเขาพระวิหารมาก

ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะเสนอข้อพิพาทนี้ สนธิสัญญา พ.ศ. 2410 ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ได้แบ่งเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนให้อยู่ต่ำกว่าบริเวณซากปราสาทพระวิหาร ต่อมาฝรั่งเศสเห็นว่าการปักปันเส้นเขตแดนยังไม่ดีพอ

ประเด็นสำคัญ

ศาลโลกจะต้องพิจารณาคือการจัดพิมพ์แผนที่ดังกล่าวโดยการกระทำฝ่ายเดียวของฝรั่งเศสมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐภาคีหรือไม่ เพียงใดและกัมพูชาจะมีอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารหรือไม่ ศาลได้ลงนามเห็นว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระวิหาร โดยอาศัยเหตุผล 2 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. ผลผูกมัดของแผนที่ภาคผนวกที่ 1 ได้แก่ คุณค่าในตัวเองของแผนที่ ความผิดพลาด ที่เกิดขึ้นในแผนที่และคุณค่าของแผนที่ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐภาคี      คุณค่าของแผนที่ในตัวเองมีการตั้งคณะกรรมการปักปันเส้นเขตแดนผสม ชุดที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่จะต้องปักปันเส้นเขตแดนในเทือกเขาดงรักด้านตะวันออกรวมทั้งเขา พระวิหารด้วย แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดที่ 2 นี้ไม่เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องเป็น เส้นเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหารอีก การกระทำนี้อาจจะตีความในทางกลับได้ว่า คณะกรรมการผสมชุที่ 2 เห็นว่าเส้นเขตแดนที่ถูกปักปันขึ้นตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 นั้นมีความชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องปักปันซ้ำอีก ศาลเห็นว่าแผนที่ของภาคผนวกที่ 1 เป็นเพียงคณะกรรมการชุดที่ 1 มีการปักปันเช่นกันแต่ยังไม่เสร็จซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการชุดที่ 1 และไม่มีเอกสารทางราชการอื่นใดที่อาจพิสูจน์ได้ ว่าแผนที่ภาคผนวกที่ 1 นั้น เป็นผลงานโดยชอบของคณะกรรมการผสมชุดที่ 1 ศาลจึงสรุปว่าในระยะเริ่มแรกในขณะที่แผนที่ได้ทำขึ้น (ค.ศ. 1907) แผนที่นั้นไม่มีลักษณะที่จะผูกมัดรัฐภาคี        ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแผนที่ศาลโลกยอมรับว่า แผนที่ภาคผนวกที่ 1 คลาดเคลื่อนไปจากแนวเส้นสันปันน้ำที่อนุสัญญา ค.ศ. 1904 กำหนดเอาไว้ อย่างหรก็ดี ถึงแม้ว่าการปักปันเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวกที่ 1 จะมิได้เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมชุดที่ 1 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็คือ "รัฐบาล มีอำนาจที่จะรับรองผลของการปักปันเส้นเขตแดนที่คลาดเคลื่อนจากแนวสันปันน้ำ (ซึ่งอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 บัญญัติไว้) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือการรับรองแผนที่ภาคผนวก 1 โดยรัฐบาลคู่พิพาทเป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ ซึ่งมีผลลบล้างข้อความที่ภาคีคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้แต่เดิมในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 นั่นเอง รัฐบาลสยามมิได้ทักท้วงข้อผิดพลาดดังกล่าว ขณะที่และภายหลังที่ฝรั่งเศสได้ส่งแผนที่ภาคผนวกที่ 1 มาให้สยามพิจารณา จึงไม่อาจอ้างเรื่องการทำแผนที่ผิดพลาด โดยนิ่งเฉย และไม่แสดงท่าทีคัดค้านเส้นเขตแดนทั้งที่ไทยสามารถหลีกเลี่ยงได้ การนิ่งเฉยของไทยนั้นเป็นการกระทำที่มีส่วนก่อให้เกิดความผิดพลาดนี้ขึ้นมา        คุณค่าของแผนที่ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐภาคีไทยอ้างว่าไทยไม่เคยให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร แก่แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะไทย รับแผนที่มา 50 ชุด และยังขอเพิ่มเติมอีก 15 ชุดจากฝรั่งเศส เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ข้าหลวงประจำจังหวัด ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1909 คณะกรรมการจัดทำแผนที่ประเทศสยามก็ยังได้ประชุมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดทำแผนที่ประเทศสยามฉบับย่อขึ้น โดยใช้แผนที่ภาคผนวกที่ 1 เป็นแม่แบบ ดังนั้น แม้ว่าฝ่ายจะไม่ได้ให้คำรับรองที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่การประพฤติปฏิบัติของฝ่ายไทยก็ส่อเจตนาที่จะยอมรับโดยพฤตินัยต่อเส้นเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหารที่ตีพิมพ์ลงในแผนที่ฉบับนี้มาโดยตลอด ฝ่ายไทยไม่เคยมีปฏิกริยา โต้ตอบเรื่องนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรด้วยเหตุนี้ศาลจึงเล็งเห็นว่าฝ่ายไทย "ได้ให้ความยินยอมโดยการนิ่งเฉยแล้ว" ดังภาษิตลาตินที่ว่า "ผู้ที่เงียบเฉยอยู่ย่อมถือเสมือนได้ว่ายินยอม ถ้าเขามีหน้าที่ที่จะพูดและสามารถที่จะพูดได้"
  2. เหตุผลอันดับรอง ท่าทีที่ขัดแย้งกันเองในข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของไทยได้ค้นพบว่ามีความผิดพลาดในการเขียนตำแหน่งของลำน้ำเสนลงในแผนที่ แต่มิได้ทำการประท้วงในระดับระหว่างประเทศ ต่อมามีความตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศส จัดตั้งคณะกรรมการประนอม ทบทวนเส้นเขตแดนหลายจุด ยกเว้นในส่วนที่เป็นข้อพิพาทนี้ อีกประการหนึ่งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของฝ่ายไทยคือกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จไปสำรวจทางโบราณคดีในเขตของเขาพระวิหาร ฝรั่งเศสได้ตั้งกองทหารรับเสด็จแต่ฝ่ายไทย ก็มิได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบเพื่อคัดค้านอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนือเขาพระวิหาร แม้ไทยจะอ้างว่ารัฐบาลของตนมิได้ทักท้วงแต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ครอบครองดินแดนส่วนนี้อย่างบริสุทธิ์ใจ คือครอบครองด้วยความเชื่อมั่นว่าดินแดนนี้อยู่ภายใต้อธิปไตยของตนมาโดยตลอดแต่ ศาลโลกเห็นว่า "เป็นการยากที่ศาลจะยอมรับว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะสามารถ ลบล้างท่าทีของรัฐบาลไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง"

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคำพิพากษาของศาลโลกได้นำเอาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความของกลุ่มประเทศแองโกล-แซกซอน มาปรับใช้กับคดีนี้หลักดังกล่าวได้แก่ "หลักทฤษฎีปิดปาก หรือเอสตอปเปิล (Estoppel)" ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาความที่ตั้งอยู่บน พื้นฐานของหลักแห่งความบริสุทธิ์ใจ เปิดโอกาสให้คู่ความใช้วิธีนี้ปิดปากฝ่ายตรงข้าม เมื่อฝ่ายหลังให้ข้อขัดแย้งกันเอง ศาลโลกไม่ได้ใช้สำนวนเอสตอบเปิลนี้โดยตรง แต่กลับหลีกเลี่ยงไปใช้คำ "Preclusion" แทน

 

อ้างอิง : ฝ่ายวิชาการ นิติศาสตรมหาบัณฑิต รุ่น 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง.2546. คดีเขาพระวิหาร.[Online]/available.URL : http://www.geocities.com/rachai_sut/

 

ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร

ศ. ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย

           ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมขอแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับข่าวสารและคำวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ที่พาดพิงถึงคดีปราสาทพระวิหารอย่างคลุมเครือ และโดยที่ผมบังเอิญมีส่วนใกล้ชิด และอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มมีปัญหา ขัดแย้งอันส่งผลไปถึงข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

           ก่อนอื่น ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพื้นฐานบางประการที่อาจอำนวยความ กระจ่างแจ้งแก่ประชาชนชาวไทยเกี่ยวกับสถานภาพและผลทางกฎหมายของคำพิพากษาศาล ยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 ในคดีปราสาทพระวิหาร ตลอดจนปฏิบัติการและท่าทีของไทยรวมทั้งการคัดค้านคำพิพากษาและข้อสงวนซึ่ง ไทยได้แถลงต่อคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 17 ในปีเดียวกัน

  1. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่างกับศาลภายในในข้อที่ศาลระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะได้รับความยินยอมจากรัฐคู่กรณี ในคดีปราสาทพระวิหาร ไทยได้คัดค้านอำนาจศาลแล้วแต่แรกเริ่ม         แต่ศาลได้มีคำพิพากษาเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1961 ยืนยันอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทั้งๆ ที่ได้เคยมีการกล่าวอ้างในศาลในคดีอื่นก่อนหน้านั้นว่าคำรับอำนาจศาลถาวรของ ไทยฉบับแรกมิได้โอนย้ายมาใช้ในศาลยุติธรรมปัจจุบัน ซึ่งรับช่วงปฏิญญา รับอำนาจศาลจากศาลถาวรภายใต้องค์การสันนิบาตชาติตามความในข้อ 36 วรรค 5 แห่งธรรมนูญศาลปัจจุบัน ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมิได้เป็นสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติมาแต่แรกเริ่มเมื่อ ค.ศ.1945
  2. คำฟ้องของกัมพูชาระบุเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ มิอาจขยายให้กว้างออกไปนอกพื้นที่จนครอบคลุมเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงรัก ฉะนั้น การกล่าวถึงข้อพิพาทในคดีว่าเป็น ‘คดีเขาพระวิหาร’ หรือ‘คดีปราสาทเขาพระวิหาร’ จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ถูกต้องคือ ‘คดีปราสาทพระวิหาร’ โดยจำกัดพื้นที่เฉพาะบริเวณที่ตั้งของปราสาท
  3. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงจำกัดเฉพาะภายในกรอบคำร้องที่ กัมพูชายื่นฟ้องโดยไม่อาจขยายพื้นที่ นอกเหนือจากบริเวณที่ตั้งของปราสาท
  4. ข้อ 59 แห่งธรรมนูญศาลกำหนดไว้ว่า คำพิพากษาของศาลไม่มีผลผูกมัดผู้หนึ่งผู้ใดยกเว้นคู่กรณี ได้แก่ไทยและกัมพูชา และเฉพาะส่วนที่เป็นประเด็นในข้อพิพาทเท่านั้น ฉะนั้น คำพิพากษาจึงไม่อาจขยายไปถึงคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และไม่ผูกพันองค์การยูเนสโกหรือทบวงการชำนาญพิเศษอื่นๆ รวมทั้งศาลซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติและศาลระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ ศาลกฎหมายทะเล
  5. คำพิพากษาของศาลไม่มีกลไกบังคับคดี ในทางปฏิบัติจึงไม่อาจนำมาบังคับคดีได้ แต่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามโดยไม่ขัดขืน หรือละเมิดคำพิพากษา ไทยได้ถอนบุคคลากรไทยผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาปราสาทพระวิหาร ย้ายเสาธงชาติไทยออกมา นอกพื้นที่ปราสาทพระวิหารและสร้างรั้วล้อมตัวปราสาท ไว้ เป็นการถอนการครอบครองปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา
  6. เนื่องจากไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา จึงไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาและยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าว และตั้งข้อสงวนไว้ โดยไทยถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และจะกลับไปครอบครองปราสาทพระวิหารอีก เมื่อคำพิพากษาได้รับการพิจารณาทบทวน แก้ไขอีกครั้ง
  7. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระ วิหาร ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ
  8. หากพิจารณาตามความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ กัมพูชาไม่อาจเข้ามาครอบครองปราสาทพระวิหารได้โดยง่าย เพราะทางขึ้นเป็นหน้าผาสูงชัน การเดินทางไปปราสาทพระวิหารของชาวกัมพูชาจึงจำเป็นต้องใช้เส้นทางที่ผ่าน ประเทศไทย            อย่างไรตาม ปัจจุบันปรากฏว่าไทยได้ปล่อยปละละเลยและไม่เข้มงวดในการสงวนเส้นทางซึ่งเป็น ของไทย และปล่อยให้ชาวกัมพูชาผ่านไปมาได้โดยเสรี ไม่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือเก็บค่าผ่านทางแต่ประการใด ฉะนั้น จึงสมควรที่จะนำมาตรการที่ถูกต้อง และเหมาะสมในการเข้าออกประเทศมาใช้อย่าง เข้มงวด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเข้าใจผิดและถือสิทธิ์อันมิชอบ ทั้งนี้ โดยยึดหลักการปักปันเขตแดนดั้งเดิมตามเส้นสันปันน้ำซึ่งไม่มีการทับซ้อนโดย เด็ดขาด
  9. คำพิพากษาของศาลในคดีนี้มิได้เป็นคำพิพากษาเอกฉันท์ เนื่องจากมีเสียงข้างมากเพียง 9 ต่อ 3 และ 7 ต่อ 5 ในบางประเด็น จึงถือได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของศาลยังมีความเห็นว่าไทยสมควรมีอำนาจอธิปไตย เหนือปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ โดยที่กฎหมายระหว่างประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่ความเห็นจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาแย้งที่มีเหตุผลอาจเป็นที่ยอมรับนับถือและปฏิบัติตาม
  10. หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่าศาลเชื่อในหลักการว่าเส้นสันปันน้ำยังคง เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณเทือกเขาดงรัก เส้นสันปันน้ำที่เขาพระวิหารอยู่ที่ขอบหน้าผา ฉะนั้น ถ้าจะมีการสำรวจใหม่ เส้นแบ่งเขตน่าจะเป็นเช่นเดิมโดยใช้สันปันน้ำเป็นหลัก ปราสาทพระวิหารจึงยังอยู่ในเขตแดนไทย
  11. เพื่อความเข้าใจในคำพิพากษาอย่างแจ่มแจ้ง จำเป็นต้องศึกษาโดยอ่านอย่างละเอียดเริ่มแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ในกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้า 146 เป็นคำพิพากษาโดยรวม ประกอบด้วยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาแย้งและคำพิพากษาเอกเทศ จึงจำเป็นต้องอ่านโดยตลอดจึงจะเห็นภาพรวมที่สมบูรณ์         ผมได้ตั้งข้อสังเกตข้างต้นเพื่อให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจภูมิหลัง จุดยืนและข้อเท็จจริงตลอดจนหลักกฎหมายที่ถูกต้องในส่วนของไทยก่อนที่จะชี้แจงหรือโต้แย้งกับฝ่ายกัมพูชาซึ่งต้องดำเนินตามข้อเท็จจริงและ หลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทยและอยู่ในเขตอำนาจ อธิปไตยของไทย โดยที่กัมพูชาเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมอาเซียน จึงควรที่จะเปิดการเจรจาอย่างสันติวิธีและเที่ยงธรรมโดยอาศัยกฎหมายและข้อ เท็จจริงเป็นหลัก

อนึ่ง ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นคดี ‘ปราสาทพระวิหาร’ ทั้งในภาษาไทย อังกฤษและฝรั่งเศสหาใช่คดี ‘เขาพระวิหาร’ หรือ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ไม่

  • สมปอง สุจริตกุล, “ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร” เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 23 มิถุนายน 2551
Share this