ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จุฬาฯ เปิดความร่วมมือผลิตบัณฑิตโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับ "ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต-สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต" รวมระยะเวลา 6 ปีจบควบ "ตรี-โท" มุ่งค้นหานิสิตทันตแพทย์พันธุ์ใหม่ เข้าใจ-เข้าถึงท้องถิ่น


เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง คณะทันตแพทยศาสตร์ กับ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตบัณฑิตโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับ ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท)

ศ.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เมื่อคณะทันตแพทย์ฯ ผลิตนิสิตหมอฟันจบใหม่ออกไปแล้ว มักพบว่าบางรายลาออก หรือบางรายไม่รู้ว่าอยากทำงานด้านทันตสาธารณสุขหรือไม่ จุดประสงค์ของโครงการนี้จึงต้องการค้นหาหรือผลิตนิสิตทันตแพทย์พันธุ์ใหม่ ที่ชอบหรือสนใจงานด้านสาธารณสุขจริงๆ

"เราจะมั่นใจได้ว่าเมื่อเขาจบไปแล้ว อยากทำงานด้านทันตสาธารณสุขที่ต้องเกี่ยวกับชุมชน หรือต้องการทำงานเป็นหมอฟันในโรงพยาบาลชุมชนจริงๆ อีกทั้งยังเป็นการหาบุคลากรที่เหมาะสมในการเข้าไปทำงาน โดยเฉพาะการทำงานอยู่ในภาครัฐแล้วไม่ลาออก" ศ.ทพ.พรชัย กล่าว

ศ.ทพ.พรชัย กล่าวว่า นิสิตที่เรียนหลักสูตรควบข้ามทันตสาธารณสุขนี้ จะมีความรู้พื้นฐานในการพัฒนาชุมชนหรือการวิจัยด้านการดูแลช่องปากของชุมชน และเนื่องจากนิสิตคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ทุกคนต้องมีการทำโครงการวิจัยอยู่แล้วในปี 4 ก็นำโครงการวิจัยนี้มาต่อยอดให้โครงการวิจัยที่ทำเทียบเท่ากับระดับปริญญาโท 

ศ.ทพ.พรชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จึงไม่ได้ต้องการผลิตทันตแพทย์ที่มีความรู้ในด้านการรักษาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องการผลิตนิสิตที่มีความรู้ด้านการวิจัยด้วย เมื่อนิสิตจบหลักสูตรดังกล่าวออกไปทำงานโรงพยาบาลระดับชุมชนหรือโรงพยาบาลทั่วไป เมื่อเกิดปัญหามีโรคระบาดในท้องถิ่น นิสิตก็สามารถนำเอาความรู้ด้านสาธารณสุขที่มองมุมกว้างมากขึ้น มาทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้

"การศึกษานิสิตที่เรียนหลักสูตรนี้ต้องมีความขยันพอสมควรในการศึกษานอกเวลา ค้นหาการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อมาทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาธาณสุขศาสตร์ โดยจะจบภายใน 6 ปี ทำให้คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น ยิ่งเมื่อถ้าไปใช้ทุนนิสิตเขาจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าทั่วไป เพราะในอนาคตทุนการเรียนเหล่านี้จะลดน้อยลงเรื่อยๆ" คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ระบุ

ด้าน ศ.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ กล่าวว่า หลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จะอยู่ภายในสถาบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถือเป็นหลักสูตรแห่งแรกของประเทศไทยในการเรียนทันตแพทย์แล้วได้ต่อระดับปริญญาโททางด้านสาธารณสุขด้วย

"จำนวนนิสิตที่เราจะเปิดมีทั้งหมด 15 คน โดยมีการทำประชาสัมพันธ์เบื้องต้นภายในจุฬาฯ ไปแล้ว และมีนิสิตที่สนใจเรียนประมาณ 5 คน ซึ่งคิดว่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคตที่มีการเรียนหลายศาสตร์ไปพร้อมกัน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตจุฬาฯ ที่จบออกไปแล้วเผชิญกับสังคมในหลายรูปแบบได้ด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 และจะเริ่มเรียนในระดับปี 5 ส่วนปี 6 เมื่อจบแล้วจะได้ปริญญา 2 ใบ" ศ.สถิรกร กล่าว

ศ.สถิรกร กล่าวว่า หลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือนิสิตของจุฬาฯ ให้มีความพร้อมทั้งเรื่องการรักษาฟัน และการดูแลประชาชน เพราะความจริงแล้วคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นสหสาขา โดยสาธารณสุขจะเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงไปกับทุกภาคส่วน รวมถึงทันตแพทย์เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขด้วย

"คนที่เข้ามาเรียนนี้จะเรียกว่าทันตสาธารณสุข จะทำให้นิสิตซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับฟันและช่องปากอยู่แล้ว ได้ลงชุมชนเรียนด้านสาธารณสุขที่มีความเข้าใจชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ การทำวิจัย การดูแลชุมชนโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือการดูแลฟันในชุมชน ที่จะนำเรื่องสาธารณสุขเข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้การวิจัยมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นและเสริมกันไป ในการสร้างองค์ความรู้และสิ่งใหม่ๆ ให้กับชุมชน" ศ.สถิรกร กล่าว