GISTDA เฉลยแล้ว "ดัชนีความร้อนพุ่ง มีผลต่ออะไรบ้าง"

08 มี.ค. 2567 | 09:09 น.

ไขข้อข้องใจ "ดัชนีความร้อนพุ่ง มีผลต่ออะไรบ้าง" ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา เผยปี 67 Heat Index ค่าดัชนีความร้อนสูงกว่าปี 66

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2567 ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-38 องศาเซลเซียส โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43 - 44.5 องศาเซลเซียส 

 

การคาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดในปีนี้ที่ 43 – 44.5 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกของมนุษย์ หรือหรือ Heat Index อาจสูงมากกว่า ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน - ต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนมากบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร 

 

สำหรับค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index มีผลต่ออะไรบ้างกับมนุษย์เรา วันนี้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA  ได้เผยแพร่บทความ "ดัชนีความร้อนพุ่ง มีผลต่ออะไรบ้าง" โดยมีเนื้อหารายละเอียดดังต่อไปนี้ 

 

หลายวันมานี้คงได้ยินข่าวเรื่องสภาพอากาศบ้านเราที่ร้อนระอุอุณหภูมิแตะกว่า 40 องศาเซลเซียสในหลายจังหวัด ซึ่งเป็นผลจากค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น ค่าความชื้นในดินที่ต่ำลง สภาวะอากาศที่แปรปรวนและปิด สภาวะโลกร้อนที่คืบคลานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเราจะต้องเฝ้าระวังในหลากหลายด้านเพราะสิ่งที่จะตามมาล้วนแต่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น ทั้งด้านสุขภาพอนามัย ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

ดัชนีความร้อนพุ่ง มีผลต่ออะไรบ้าง
 

ด้านสิ่งแวดล้อม ค่าดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ไฟป่าที่ยังครุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเกิดจุดความร้อนขึ้นสูงมากจนบางประเทศขึ้นแตะนิวไฮในช่วงที่มีการเก็บข้อมูลจุดความร้อนของแต่ละช่วงเวลา 

 

โดยเฉพาะประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เกิดจุดความร้อนภายในประเทศสูงสุดถึง 3,013 จุด นับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลในช่วงฤดูกาลไฟป่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเองอย่างพม่าก็พุ่งสูงเช่นกันถึง 6,332 จุด นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศโดยรอบอีกด้วย ซึ่งก็คือในเรื่องของ PM 2.5 ทำให้หลายพื้นที่มีค่าคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจในระดับสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง

 

ด้านสุขภาพอนามัย PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจโดยตรง ค่าดัชนีความร้อนที่สูงขึ้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้น เป็นตะคริว เพลียแดด หรืออาจจะมีความรุนแรงถึงขึ้นฮีทโสตรก Heat Stroke จนอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อากาศที่ร้อนบวกกับควันไฟอาจจะทำให้เป็นลมหมดสติได้ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง ตลอดเวลา จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมากขึ้นเช่นกัน
 

 

ทีมนักภูมิสารสนเทศของ GISTDA ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการติดสถานการณ์รายวัน อาทิ ดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ระบบเวียร์ ดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียมฮิมาวาริ ดาวเทียม Sentinel-2 เป็นต้น รวมถึงระบบเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอาสาสมัคร ภาคประชาชน เป็นต้น ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Web Service และ แอปพลิเคชัน ได้อย่างแม่นยำ อนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลและการติดตามสถานการณ์มากยิ่งยิ่งขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นและทันท่วงที

 

กรมอนามัยเผยแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มฮีทสโตรกเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากกรมอนามัย ที่มีการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรค Heat Stroke) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ

 

ในปีที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ติดตามเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยพบว่า อาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ/สับสน/มึนงง มีผื่นแดงตามผิวหนัง รวมถึงยังพบพฤติกรรมเสี่ยงจากความร้อน เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด อยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศดื่มสุรา น้ำหวาน และน้ำอัดลม

 

จากการเฝ้าระวังดังกล่าว กรมอนามัยจึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ 

 

นอกจากนั้นแล้ว แนะนำให้ติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง