หอการค้าฯดึง 7 พันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างตระหนักรู้ PDPA ทั่วไทย

06 ก.พ. 2567 | 10:17 น.

หอการค้าฯ - ม.หอการค้าฯ ผนึกกำลัง สคส.รณรงค์สร้างการตระหนักรู้ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ป้องภาคธุรกิจทำผิดกฎหมาย ดึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่กว่า 7 พันคน ร่วมให้ความรู้เครือข่ายทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงาน (6 ก.พ. 2567) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยพิธีลงนามดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นประธานสักขีพยานและมอบนโยบายในงานดังกล่าว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  มีผลบังคับใช้สมบูรณ์ในราชกิจจานุเบกษาทั้งฉบับ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักรู้และทำความเข้าใจ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางข้อมูลส่วนบุคคลที่ปลอดภัยและยั่งยืน

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ การดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผน “The Growth Engine of Thailand” จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ 2.การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 3.การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ

นอกจากนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับ สคส. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC Eagle Eye) เพื่อยกระดับการตรวจสอบและกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วน

หอการค้าฯดึง 7 พันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างตระหนักรู้ PDPA ทั่วไทย

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจแล้ว PDPA ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจ ทั้งการเตรียมพร้อม ปรับรูปแบบ การเก็บข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย รวมถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อข้อมูลที่มีลดน้อยลง

หอการค้าฯดึง 7 พันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างตระหนักรู้ PDPA ทั่วไทย

โดยหอการค้าฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่แผนการดำเนินงาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนส่งเสริมให้มีแนวทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานสากล พร้อมทั้ง ส่งเสริมบทบาทกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าไทย ที่มีกว่า 7,000 คนทั่วประเทศ ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนและให้ความรู้เรื่อง PDPA ไปยังเครือข่ายต่างๆ ภายใต้หอการค้าไทย ทั้ง หอการค้าจังหวัด, หอการค้าต่างประเทศ สมาคมการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ SME ในแต่ละจังหวัด

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในครั้งนี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับผู้ประกอบธุรกิจการค้า โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม

หอการค้าฯดึง 7 พันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างตระหนักรู้ PDPA ทั่วไทย

อาทิ การพัฒนาหลักสูตรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหาร (Executive PDPA) การถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ YEC ในการส่งต่อความรู้กับสมาชิกในเครือข่าย และจัดทำแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ทั้งนี้ PDPC ตอบรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีในการกำกับดูแลหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป

ด้าน นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วย Big Data การปรับกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นโจทย์ครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs และ Startup ต้องแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต เพราะข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านการวิเคราะห์หา Insight ของลูกค้า เพื่อนำไปในใช้ในด้านการตลาด รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

“ถึงแม้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่ในทางกลับกันหากไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ ก็อาจนำมาสู่การถูกโจรกรรมข้อมูล และนำไปใช้ข้อมูลในทางที่ผิด ซึ่งจากประเด็นนี้ส่งผลให้เกิด PDPA ขึ้นมาในประเทศไทย”นายอธิป กล่าว

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า PDPA ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เรียนในสถานศึกษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เห็นความสำคัญในการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงมีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ในการปลูกฝังค่านิยม การรับรู้ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อวางแผนการจัดทำหลักสูตรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาประเทศ

หอการค้าฯดึง 7 พันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างตระหนักรู้ PDPA ทั่วไทย

ในงานนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “หลักเกณฑ์ กฎหมาย PDPA : ภาคธุรกิจ และ SMEs ต้องรับมืออย่างไร” เพื่อร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และนำเสนอ case study ของภาคธุรกิจ ตลอดทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษา ได้แก่ นายอมรพันธุ์ นิติธีรานนท์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล , นายสาระ ล่ำซำ กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายศรัณยู  ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จำกัด , นางสาวสิริดา นาคทัต กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย และ กรรมการผู้บริหารบริษัท ทรอปิคอล ฟรุ๊ต ฟิวชั่น จำกัด และ ผศ.ดร.ประพันธ์พงษ์  ขำอ่อน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย