‘เคาน์เตอร์เซอร์วิส’ โหมบิลเพย์เมนต์ พัฒนาฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ดันรายได้โต

11 พ.ค. 2562 | 05:04 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร่งเสริมบริการหลากหลาย ทั้งบิลเพย์เมนต์ แบงกิ้ง เอเยนต์ และบริการต่างๆเพิ่ม เผยทุ่มงบ 10% ของยอดขายพัฒนาฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ หวังขยายฐานลูกค้า ดันรายได้โต 15%

นายวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเพิ่มพันธมิตรในการให้บริการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 1,400-1,500 รายการ อาทิ ค่าสาธารณูปโภค ค่าบัตรเครดิต ค่าประกัน ค่าสินค้า ฯลฯ และล่าสุดบริษัทยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนสถาบันการเงินให้บริการฝาก ถอนเงินหรือ “แบงกิ้ง เอเยนต์” ของธนาคารออมสิน, กรุงศรีอยุธยา, ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย และมีแผนขยายรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น และครอบคลุมทุกสถาบันการเงินด้วย

“เคาน์เตอร์เซอร์วิสเริ่มต้นจากการให้บริการรับฝาก ถอนเงินให้กับสถาบันการเงินต่างๆ แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะมีบริการที่หลากหลายขึ้น อาทิ การให้บริการสินเชื่อ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ระเบียบ ข้อกำหนดของหน่วยงานที่กำกับดูแลว่า สามารถกระทำได้หรือไม่อย่างไร และบริษัทก็ยินดีที่จะให้บริการกับทุกๆสถาบันการเงิน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า”

‘เคาน์เตอร์เซอร์วิส’ โหมบิลเพย์เมนต์ พัฒนาฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ดันรายได้โต

ทั้งนี้ปัจจุบันเคาน์เตอร์เซอร์วิสมีจุดให้บริการกว่า 1.3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยอยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 1.1 หมื่นแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านเซเว่นฯเฉลี่ย 13 ล้านคนต่อวัน หรือประมาณ 1,300 คนต่อสาขาต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนที่มีลูกค้ามาใช้บริการประมาณ 1,000 คนต่อสาขาต่อวัน โดยลูกค้า 1 ใน 3ของร้านเซเว่นฯ จะใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วย อย่างไรก็ดีบริษัทมีแผนจะขยายจุดให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

ด้านแผนลงทุนบริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 10% ของรายได้ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อให้ทันสมัย รองรับความต้องการของลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งเรื่องของเน็ตเวิร์กมีความสำคัญ การจะให้บริการลูกค้าที่มีจำนวนกว่า10ล้านบิลต่อเดือนเรื่องของความถูกต้อง รวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการซํ้าต่อเนื่อง

“การให้บริการอี-เพย์เมนต์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อย เพราะปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการอยู่ในวงจำกัด ขณะที่ลูกค้าที่มาใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส จะเน้นความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งการให้บริการแบบตัวต่อตัว จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากกว่า”

นายวีรเดช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทได้ขยายเวลาทดลองให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวในเมือง หรือ Downtown VAT Refund for Tourist ออกไปจนถึงเดือนกันยายน 2562 ตามที่กรมสรรพากรประกาศขยายเวลา โดยจะให้บริการจุดคืนภาษีจำนวน 5 จุดเช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาขอคืนภาษีจะขึ้นลงตามเทรนด์ เช่น ในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนลดลง ลูกค้าที่มาใช้บริการก็ลดลงด้วย ขณะเดียวกันการให้บริการดังกล่าวเป็นช่วงของการทดลอง การรับรู้ยังน้อยอยู่ ทำให้จำนวนลูกค้ามาใช้ไม่มากนัก ซึ่งหากดำเนินโครงการเต็มที่ รัฐบาลจะต้องส่งเสริม และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดัน ร่วมกันโปรโมตให้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดเมื่อครบกำหนด 1 ปี จะต้องมีการพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันอีกครั้ง”

อย่างไรก็ดี ภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาถือว่าดี มีการหมุนเวียนดี เห็นได้จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังดี และจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการยังเพิ่มขึ้น ไม่ลดลง ทำให้เชื่อว่าในปีนี้บริษัทจะมีรายได้เติบโต 15% ตามเป้าหมายที่วางไว้ 

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3468 ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2562

‘เคาน์เตอร์เซอร์วิส’ โหมบิลเพย์เมนต์ พัฒนาฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ดันรายได้โต