แนะควบคุมสื่อโฆษณาขนม ชี้ดูซ้ำๆ เปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก

ประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ถกประเด็นเข้มในห้องประชุมและออนไลน์ ผลวิจัยชี้ชัด โฆษณาซ้ำๆ  4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กเกิดแรงกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ และตอบสนองด้วยการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมาบริโภค

รองอธิบดีกรมอนามัย การันตีอีก 1 ปีจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย ควบคุมการบริโภคขนม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงของเด็กไทยที่อ้วนเกินพิกัดจนน่าเป็นห่วง โดยสหพันธ์โรคอ้วนโลกคาดปี 2573 คนอ้วนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 30%       

ในการจัดการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 กระตุ้นให้ทุกฝ่ายและผู้เกี่ยวข้องในทุกส่วนของสังคมไทย ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้จัดทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผู้บริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่กำลังรุมเร้าพฤติกรรมในการกินและการดื่มของเด็กและเยาวชนไทยอย่างน่าสนใจ 

ปัญหาเด็กอ้วนใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ทั้งเด็กเล็ก (1-5 ปี) เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 5.8% เป็น 11.4% เด็กวัยเรียน (6-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าจาก 5.8% เป็น 13.9% เด็กวัยรุ่น (15-18 ปี) เพิ่มขึ้น 13.2% เป็นปัญหาสาธารณสุขไทย (เป้าหมายน้อยกว่า 10%) สหพันธ์โรคอ้วนโลกคาดการณ์ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในปี 2573 ของประเทศไทยสูงกว่า 30%

เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นำเสนอโดย ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมกับเปิดเผยว่า กรมอนามัย และคณะทำงานเตรียมข้อมูลวิชาการอย่างรอบด้านและยกร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยใช้ระยะกว่า 2 ปี เพื่อให้เกิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ร่วมกับการปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ได้รับข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการที่ถูกต้อง และเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญกับช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ด้วย โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเริ่มปรับตัวหันมาผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ และไม่ทำการส่งเสริมการตลาดที่มุ่งเป้าหมายมาที่เด็กและเยาวชน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ต้องทำให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนยากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย

ดร.นพ.สราวุฒิ ระบุว่า “อร่อยเต็มคำ ถูกใจทุกคน  มีวิตามินด้วย ซื้อ 1 แถม 1” ...โฆษณาซ้ำๆ 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก เด็กๆรบเร้าให้แม่ซื้อขนมกรุบกรอบ เมื่อบริโภคบ่อยๆ เด็กติดรสหวานมันเค็ม ส่งผลให้เริ่มอ้วน และอ้วนโดยไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อโรค NCDs และส่งผลเสียในระยะยาว ทั้งนี้ กว่า 31% ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อย้อนดูประวัติพบว่าเคยเป็นเด็กอ้วนมาก่อน 22% เช่นเดียวกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เคยเป็นเด็กอ้วนมาก่อนเช่นเดียวกัน และเด็กอ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 5 เท่า

ทั้งนี้ ตามกรอบมาตรการและตัวชี้วัดระดับโลกเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็ก โดยเฉพาะข้อเสนอแนะการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็ก ด้วยข้อสังเกตว่าประเทศไทยยังขาดมาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เสนอให้ประเทศไทยพัฒนานโยบายเพื่อควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กด้วย

ขณะนี้ประเทศไทยดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อจัดการปัญหาโรคอ้วนในเด็กและโรคไม่ติดต่อ ด้วยการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารและสุขภาพ และยังสนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กด้วยมาตรการร่วมกัน ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคอ้วนของประเทศไทยสูงถึง 12,142 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และการสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควร

จากงานวิจัยพบว่า หากประเทศไทยออกมาตรการควบคุมสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในช่องทางโทรทัศน์เพียงช่องทางเดียว จะช่วยลดดัชนีมวลกาย (BMI) เด็ก (อายุ 6-12 ปี) ทั้งประเทศได้เฉลี่ย 0.32กก./เมตร2 ซึ่งใช้งบประมาณเพียง 1.13 ล้านบาท ทำให้ลดภาวะเริ่มอ้วนและโรคอ้วนในเด็ก (อายุ 6-12 ปี) ได้ถึง 121,000 คน ดังนั้น มาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มจึงมีความคุ้มค่าคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยในหลักการของ กม.ฉบับนี้ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ใหญ่อ้วนและเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น เพราะไม่สามารถปิดกั้นโฆษณา  พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ผู้ผลิตอาหารปรับตัวมาผลิตทำอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มีน้ำตาลต่ำ ลดโซเดียม ดังนั้นฉลากอาหารเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเฝ้าระวังให้เป็น The Must ที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจด้วย

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้จัดการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการออก กม. ทำให้การโฆษณามีข้อจำกัด กำหนดอายุผู้บริโภค ข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการจะไม่มีภาคเอกชน เราอยากเห็นการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นสร้างประเทศสำหรับเด็กๆ ด้วยการทำประชาพิจารณ์ กม.นี้คุ้มครองเด็กให้ใช้วิจารณญาณก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า ทุกฝ่ายเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการควบคุมโฆษณาการตลาดให้มีความเหมาะสม

น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า องค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทำงานเรื่องฉลากข้อมูลการบริโภคมาอย่างยาวนานด้วยความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค มีการควบคุมเป็น กม.ชัดเจนแยกออกจากประกาศที่มีอยู่เดิม ควบคุมด้านการตลาดเน้นชุมชนออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก วัยรุ่น การรู้เท่าทันสื่อออนไลน์มีการพัฒนาช่อง you tube  เกมและการ์ตูนที่ทำให้เด็กได้มีส่วนร่วม 

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เครือข่ายภาคประชาชนและอดีตสมาชิกวุฒิสภา เผยว่า เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะอาหารและขนมเด็กบางอย่างที่ผสมอยู่นั้นมีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ด้วยช่องทางการตลาด เด็กสั่งซื้อขนมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เดินไปซื้อด้วยตัวเอง การทำฉลากขนมสำหรับเด็กควรทำเป็นสัญลักษณ์รูปภาพให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สีเขียวเหลืองแดงให้ชัดเจน  แม้แต่เด็กอนุบาลก็เข้าใจได้ง่าย หากเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท หากมีการทำผิดซ้ำซากก็ควรมีโทษจำคุก ถ้าเจ้าของกิจการยังไม่ดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด เสนอให้มีการปรับวันละ 1 หมื่นบาท

ทั้งนี้ น.ส.บุญยืนยังให้ข้อเสนอแนะด้วยว่า ควรปรับบริษัทผู้รับจ้างโฆษณาด้วย อีกทั้งดาราพรีเซนเตอร์ บริษัทด้านการตลาดที่เป็นผู้คิดในการสื่อสารการตลาด influenzer ดึงดูดเด็กเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยช่องทางให้เด็กมีความเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุมีความเท่าทันที่ยังไม่เท่าเทียมกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เสนอว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ควบคุมตาม กม.ด้วย ควรนำเสนอบันทึกปัญหาสู่ ครม.ที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ ปัจจุบันสถานศึกษาจัดบริการอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานที่โรงเรียน และมีประกาศห้ามทำการส่งเสริมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทในสถานศึกษาด้วย.             

กลยุทธ์สู้..เพื่อสุขภาพเด็ก

การศึกษาวิจัยการดำเนินมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของต่างประเทศ ที่ควบคุมการตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม HFSS ด้วยมาตรการทางกฎหมาย ปรากฏว่ามีหลายประเทศที่มีประสิทธิภาพในการลดปัจจัยการพบเห็น และลดสิ่งกระตุ้นจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเด็กได้    อาทิ

อังกฤษ : ใช้มาตรการทาง กม.ควบคุมการตลาดอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเกินเกณฑ์ nutrient profile ห้ามแสดงความคุ้มค่าด้านราคา ไม่ส่งเสริมการตลาดในสถานศึกษา ควบคุมโฆษณา จำกัดการทำการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ ควบคุมการใช้ตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์ ทำให้พบเห็นโฆษณาอาหารลดลง

ชิลี : หลังจาก กม.บังคับใช้ใน 1 ปี คือปี 2560 พบว่าร้อยละ 35 ของเด็กก่อนวัยเรียน และร้อยละ 52 ของวัยรุ่น พบเห็นโฆษณาอาหารที่มีเนื้อหาดึงดูดใจเด็กสูงลดลง (การใช้ตัวการ์ตูน) จากร้อยละ 44 ของโฆษณา ลดเหลือร้อยละ 12 ความชุกโดยรวมของบรรจุภัณฑ์ซีเรียลอาหารเช้าที่ใช้กลยุทธ์มุ่งเป้าไปที่เด็กลดลง จากร้อยละ 46 เหลือเพียงร้อยละ15

เกาหลีใต้ : ด้วยการเก็บข้อมูลการโฆษณาอาหารทางโทรทัศน์ 5 สถานี เมื่องบโฆษณาลดลงจากหลักพันครั้งเป็นหลักร้อยครั้ง แต่จากการศึกษาพบว่ามีบริษัทอาหารพยายามเลี่ยงข้อ กม. โดยเปลี่ยนช่องทางการโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นช่องทางอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่าย “ชุมชนล้อมรักษ์” ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาองค์รวม การแก้ไขไม่ใช่แค่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย เมื่อเป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้อีก

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ