พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ประดิษฐานอยู่ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 พระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ"

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม 2347 ณ พระราชวังเดิม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติตั้งแต่ปี พ.ศ.2394 ดำรงสิริราชสมบัติรวม 16 ปี 6 เดือน เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 สิริพระชนมพรรษา 64 พรรษา

ประมาณปี พ.ศ.2400-2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภว่า บ้านเมืองมักมีเหตุการณ์ โจรผู้ร้ายก่อกวนความสงบสุขของราษฎรอยู่เนืองๆ “ข้าเจ้าแข็ง บ่าวนายแรง ข่มเหงราษฎร”

ลำพังข้าหลวงกองจับ ซึ่งเป็นข้าราชการขึ้นกับกรมเมือง หรือนครบาล มิอาจสามารถระงับเหตุการณ์และปราบปรามโจรผู้ร้ายให้ราบคาบได้

จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกองตำรวจเช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอินเดีย

วันที่ 19 กรกฎาคม 2403 ได้โปรดเกล้าฯ ให้กัปตันแซมมวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์ (Capt.S.J.Bird Ames) หรือหลวงรัถยาภิบาลบัญชา ชาวอังกฤษ เป็นผู้บังคับการกองตำรวจโปลิศและคอนสเตเบิลในประเทศสยามเป็นคนแรก ให้เป็นผู้วางโครงสร้างจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เรียกว่า "กองโปลิศคอนสเตเบิล"

โดยว่าจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเข้ามาเป็นพลตำรวจ เรียกว่า "คอนสเตเบิล" มีหน้าที่รักษาการณ์ในกรุงเทพมหานครชั้นใน ขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการตำรวจเจริญก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน

กรมตำรวจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 องค์พระผู้สถาปนากิจการตำรวจสมัยใหม่ ที่ทรงก่อตั้งกองตำรวจไทยให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศตะวันตก

พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ จึงได้ดำริให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

“เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านและราชวงศ์จักรี เป็นศูนย์รวมพลังของข้าราชการตำรวจทั้งประเทศ เป็นการระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงประวัติความเป็นมาของตำรวจ และเป็นที่สักการบูชาของข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไป”

ในครั้งแรกกรมตำรวจขออนุญาตจัดสร้าง และจะนำไปประดิษฐานบนแท่นสูง 100 ซม. มีซุ้มมณฑลครอบ ณ บริเวณห้องโถงชั้น 2 อาคารหมายเลข 1 กรมตำรวจ

กรมศิลปากรได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง ได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อเดือนสิงหาคม 2531

วันที่ 29 ธันวาคม 2531 พล.ต.อ.เภา สารสิน อธิบดีตำรวจ ในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูป ร.4 ที่บริเวณปะรำพิธี หน้ากรมตำรวจ

พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 เป็นพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ ขนาดเท่าพระองค์จริง สูง 175 ซม. ในพระอิริยาบถทรงประทับยืน คาดพระแสงกระบี่นารายณ์  พระหัตถ์ขวาทรงธารพระกร (ไม้เท้า) งามสง่า

การดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เริ่มจากการสเกตช์เป็นภาพ  แล้วปั้นพระบรมรูปจำลองด้วยดินน้ำมัน ขนาดประมาณ 30-40 ซม.

เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการจัดสร้างอนุสาวรีย์ฯ และได้รับพระบรมราชานุญาตในการจัดสร้างแล้ว จะขยายแบบด้วยการปั้นพระบรมรูปด้วยดินเหนียวขนาดเท่าพระองค์จริง

แล้วนำไปเป็นแบบถอดพิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์ ก่อนนำเอาต้นพิมพ์เป็นแบบในการหล่อด้วยโลหะต่อไป

ผู้ปั้นพระบรมรูป ร.4 คือ อาจารย์สุภร ศิระสงเคราะห์ นายช่างประติมากร กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร

นายสมควร อุ่มตระกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร  ได้เล่าว่า

“ตอนนั้น ผมและพี่สุภรรับราชการเป็นประติมากร กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ทำงานอยู่ด้วยกัน

ผู้ติดต่อประสานงานให้พี่สุภรปั้นพระบรมรูปคือ พล.ต.ท.สนอง วัฒนวรางกูร (ยศขณะนั้น) ผมและพี่สุภรได้ไปพบ พล.ต.ท.สนองที่กรมตำรวจ

พระบรมรูปปั้นที่บ้านพี่สุภรอยู่ซอยจอมทอง หลังโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ ลาดพร้าว ผมไปช่วยปั้นรองพระบาท

ตอนปั้นพระบรมรูป ผู้ดูแลรูปดินเหนียวชื่อลุงเชิญ เสียชีวิตไปแล้ว คนที่ปั้นพระแสงดาบ พี่สัมพันธ์ อุทธโยธา ประติมากร ตอนนั้น”

อาจารย์ชิน ประสงค์ ปัจจุบันอายุ 80 ปี อดีตผู้อำนวยการส่วนประติมากรรม  กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ ได้เล่าว่า

“ผมและอาจารย์สุภร ศิระสงเคราะห์  เป็นเพื่อนสนิทสนมกันมากตั้งแต่เข้าเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร คุณพ่ออาจารย์สุภรเป็นตำรวจ ชื่อ พ.ต.อ.อำพันธ์ ศิระสงเคราะห์ อดีตนักเรียนเพาะช่าง เป็นช่างเขียน มีผลงานร่วมเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว

บ้านอาจารย์สุภรอยู่ที่ย่านพานถม วิสุทธิกษัตริย์ กรุงเทพฯ ผมไปอาศัยอยู่ด้วยตอนเรียนหนังสือ เพราะบ้านตัวเองอยู่นนทบุรี

เมื่อเรียนจบเข้ารับราชการเป็นประติมากร กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากรด้วยกัน

อาจารย์สุภรเป็นช่างปั้นที่เก่งมากคนหนึ่งของประเทศไทย มีผลงานการปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์ สำคัญๆ หลายแห่ง เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. เขาชะโงก จ.นครนายก พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ฯลฯ

ได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ที่เชียงใหม่ และถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555”

ผู้ดำเนินการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 คือ นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ โรงหล่อแหลมสิงห์ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

นายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงหล่อแหลมสิงห์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ได้รับรางวัลผลงานราชมงคลสรรเสริญ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี 2544 ออกแบบและหล่อพระพุทธรูปมากมาย เช่น หล่อพระยืนปางลีลา พระพุทธรูปพระประธาน ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม หล่อและปั้นพระประธานปางต่างๆ ให้แก่วัดในจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก

นายแหลมสิงห์ ปัจจุบันอายุ 81 ปี ได้เล่าว่า

“เป็นนักเรียนศิลปากรรุ่นพี่อาจารย์สุภร อาจารย์สุภรติดต่อให้ไปพบ พล.ต.ท.สนอง เพื่อหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4

อาจารย์สุภรไว้วางใจในการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ เพราะตนเองเป็นประติมากร ควบคุมการหล่อ และการตกแต่งด้วยตนเอง สื่อสารเข้าใจกับประติมากรผู้ปั้นได้เป็นอย่างดี

ในพิธีเททองในหลวง รัชกาลที่ 9  เสด็จฯ กรมตำรวจ ปทุมวัน เป็นครั้งแรก ตนเองกับคณะทำงานไปเตรียมการหล่อหุ่นพระบรมรูปเพื่อใช้ในพิธีเททอง ต้องไปกินนอนที่กรมตำรวจถึง 5 วัน 5 คืน”

พล.ต.ท.ม.ล.ฉลองลาภ ทวีวงศ์ อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้เล่าว่า

“พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีตำรวจ เมื่อมีดำริให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สนอง วัฒนวรางกูร อดีตรอง อ.ตร. ไปดำเนินการ เพราะ พล.ต.อ.สนองเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสนใจงานด้านประติมากรรมและโบราณวัตถุ คุ้นเคยและรู้จักผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรในการปั้น การหล่อเป็นอย่างดี…”

ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2534 กรมตำรวจได้มีหนังสือแจ้งกรมศิลปากรขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 จากเดิมภายในห้องโถง ชั้น 2 อาคาร 1 ไม่เหมาะสม

เพราะบนชั้น 3 เป็นที่ตั้งสำนักงานของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกรมตำรวจ จะอยู่เหนือพระบรมรูป และการประดิษฐานอยู่ในอาคาร ทำให้ข้าราชการตำรวจและประชาชนไม่สามารถเข้ามาสักการบูชาได้สะดวก

จึงขอย้ายไปประดิษฐานที่หน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ สถานที่สง่างามเชิดชูพระเกียรติ และประชาชนสามารถเข้ามาสักการะได้

ส่วนอนุสาวรีย์ตำรวจนั้นยังคงตั้งอยู่บริเวณเดิม โดยจะปรับปรุงแท่นฐานให้เหมาะสม ถือเป็นอนุสาวรีย์บริวารพระบรมราชานุสาวรีย์

มีความหมายว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกิจการตำรวจสมัยใหม่ขึ้น อนุสาวรีย์ตำรวจเปรียบเสมือนตัวแทนข้าราชการตำรวจทั้งปวง ที่จะคอยสนองพระบรมราโชบาย ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ราษฎร

คณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ กรมศิลปากร พิจารณาความเหมาะสมของสถานที่อีกครั้ง เห็นชอบให้กรมตำรวจย้ายที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 มาไว้ที่หน้าอาคาร 1 บริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์ตำรวจ โดยเลื่อนออกมาด้านหน้าเล็กน้อย

และให้ย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจไปประดิษฐาน ณ ด้านหน้าอาคาร 16 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยใช้แท่นฐานที่มีลักษณะเหมือนเดิม

เสริมแนวความคิดที่ว่าตำรวจเป็นข้าราชบริพาร ดำเนินงานตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจไปประดิษฐานที่สโมสรตำรวจ บางเขน ปัจจุบันย้ายไปประดิษฐานหน้าหอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม

พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สมชาย ไชยเวช อดีตรอง อ.ตร.เป็นผู้ดำเนินการ

ในเรื่องการจัดสร้างแท่นฐานที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ การตกแต่งบริเวณรอบแท่นฐานประตูทางเข้าด้านหน้า รั้วกรมตำรวจ และป้ายหน้ากรมตำรวจให้เรียบร้อยสวยงาม เหมาะสมกับพระบรมราชานุสาวรีย์ที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานต่อไป

พล.ต.อ.สมชาย ไชยเวช ได้ชื่อว่าเป็น "สุภาพบุรุษสามพราน" เป็นนายตำรวจที่ตั้งใจ เอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างด้วยความเข้มแข็ง

มีความสามารถพิเศษ พัฒนาปรับปรุงสถานที่ราชการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม จนได้รับคำชื่นชม และเป็นแบบอย่างที่ดีหลายสถานที่ เช่น สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 กองบัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และตำรวจภูธร ภาค 4 เป็นต้น

วันที่ 9 ตุลาคม 2534 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วย รอง อ.ตร. ผู้ช่วย อ.ตร. ร่วมกันประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 ขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นหน้ากรมตำรวจ

มีการประกอบพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์อย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ

วันที่ 16 มกราคม 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อกรมตำรวจและบรรดาข้าราชการตำรวจเป็นอย่างยิ่ง

สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ทำการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ได้รับความกรุณาจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นพิธีกรบรรยาย ตั้งแต่เริ่มพิธีการจนเสร็จสิ้น

ในพิธีดังกล่าว ได้มีการจำลองพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 ขนาดเล็ก ขนาดความสูง (รวมฐาน) 19.5 นิ้ว ฐานทรงกลมกว้าง 5.5 นิ้ว หล่อด้วยโลหะผสม รมดำเคลือบพื้นผิว

บนฐานด้านหน้าจำหลักตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนด้านหลังประดับเหรียญกลมตราสัญลักษณ์ตำรวจที่เป็นโล่เขนคาดด้วยพระแสงดาบ

พล.ต.ต.วิวัฒน์ชัย ถนัดหนังสือ อดีตรองเลขานุการตำรวจแห่งชาติ ได้เล่าว่า

“พระบรมรูปจำลองพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 กรมตำรวจได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นมงคลที่ระลึกแก่ข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปที่เคารพศรัทธา นำไปสักการบูชาในสถานที่ทำงานและตามบ้านเรือน

นำรายได้มอบให้มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการโรงพยาบาลตำรวจต่อไป”

มีเกร็ดเกี่ยวกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 ที่ประดิษฐานหน้ากรมตำรวจ สื่อมวลชนเคยนำไปเผยแพร่ว่าด้วยบุญญาบารมีแห่งพระองค์ท่านปกปักรักษาให้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานตำรวจตลอดไป

ที่ดินที่ตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 70 ไร่ เป็นพื้นที่สี่เหลียมจัตุรัส ทิศเหนือติดถนนพระราม 1 ทิศตะวันออกติดถนนราชดำริ ทิศตะวันตกติดถนนอังรีดูนังต์ ทิศใต้ติดราชกรีฑาสโมสร เป็นพื้นที่อยู่กลางใจเมือง ย่านศูนย์กลางค้าและพาณิชยกรรม

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สถาบันนิติเวช และหน่วยงานขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกหลายหน่วยงาน

ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นวันตำรวจ กรมตำรวจต่อมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประกอบพิธีถวายพานพุ่มเพื่อสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4

โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งข้าราชการตำรวจทุกหน่วย มาร่วมในพิธีถวายสดุดี ถวายพานพุ่มเคารพสักการะ น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นประจำทุกปี

(ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปลี่ยนแปลงวันตำรวจ จากวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันที่ 17 ตุลาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนพระองค์).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ