TPCH พร้อมขายหุ้น 4 โรงไฟฟ้าชายแดนภาคใต้ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ระดมทุนต่อยอดธุรกิจ หลังผลงานครึ่งปีหลังโตเด่น

1417 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TPCH พร้อมขายหุ้น 4 โรงไฟฟ้าชายแดนภาคใต้ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ระดมทุนต่อยอดธุรกิจ หลังผลงานครึ่งปีหลังโตเด่น


นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติแผนขายหุ้นทั้งหมดที่บริษัทฯ ถือในบริษัทย่อย 4 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 (TPCH 1) ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 (TPCH 2) ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5) และอีโค เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (ECO) ในราคาไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท ให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนกิจการโรงไฟฟ้า ครอบคลุมทั้งสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายกิจการไปใช้ลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทฯ หรือธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะผลักดันให้ผลดำเนินงานเติบโตสูงขึ้น เพื่อรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว

สำหรับภาพรวมผลดำเนินงานในครึ่งหลังปีนี้ มีสัญญาณดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนและครึ่งปีแรก จากการที่โรงไฟฟ้าทั้ง 13 แห่ง สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลปัตตานี (PTG) และ โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) หนุนให้สามารถขายไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนื้ บริษัทฯ มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะใหม่ๆ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ ที่มี 7 โครงการ คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในปีนี้ 1 โครงการ 

ขณะเดียวกัน นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวถึงแผนลงทุนต่างประเทศว่า บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ใน สปป. ลาว เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท แม่โขง พาวเวอร์ (MKP) ในสัดส่วน 40% ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ (MW) เป็นเวลา 25 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่า จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้

ส่วนการลงทุนในกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 MW หนุนให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวม 500 MW ภายในปี 2569 ตามเป้าหมายที่วางไว้ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 90 MW โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 70 MW และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมต่างประเทศ ราว 340 MW 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้