ส่องมาตรการรับมือ วิกฤตฝุ่นละอองครองเมืองของนานาชาติ

จากวิกฤตฝุ่นละอองคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ในทุกปีประชากรโลกประมาณ 5.5 ล้านคนเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่นและสารพิษ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ควันจากเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งหมักหมมสิ่งปฏิกูล และจากการศึกษาทั่วโลกพบว่ามลพิษเหล่านี้ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจมากมายและทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เช่น โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังทำให้ทัศนวิสัยแย่ลง เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน จากวิกฤตมลพิษทางอากาศครั้งนี้ทำให้นานาประเทศตื่นตัว ออกมาตรการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในแนวทางต่างๆ

7e6d8b32ab1f4bdc97f03e4204ede327 
ควบคุมอย่างเข้มงวด

โรงงานขนาดใหญ่เป็นต้นเหตุของการปล่อยควันไฟและก๊าซพิษจำนวนมหาศาล นอกจากนี้กิจกรรมสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กคือการเผาเชื้อเพลิงไม้และถ่านหินทั้งกลางแจ้งและที่ใช้ในครัวเรือน ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงกำหนดนโยบายห้ามขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือน และตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการออกนโยบายที่จะเลิกขายเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในบ้านและจำกัดการขายไม้ ที่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย สำหรับรัฐบาลจีนประกาศสั่งปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินสาเหตุของมลพิษทางอากาศแห่งสุดท้าย  และประเทศอินเดียก็มีนโยบายห้ามจุดพลุในเทศกาลต่างๆ ลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในอากาศ

นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ได้ประกาศใช้โครงการนำร่อง โดยใช้โดรนติดกล้องบินตรวจตราพื้นที่แถบชานกรุงโซล เพื่อตรวจสอบว่าโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ลักลอบปล่อยควันเสียที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ตรวจพบผู้ลักลอบปล่อยควันเสียได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน

Content4-5 
ลดการใช้รถยนต์

เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล เป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซพิษมากกว่าเชื้อเพลิงแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน สารตะกั่วในน้ำมัน กํามะถัน ซึ่งสารเหล่านี้เป็นพิษต่อมนุษย์โดยตรง หลายประเทศจึงพยายามลดการใช้รถยนต์เพื่อควบคุมปริมาณมลพิษในเมือง เช่น ประเทศอิตาลี ออกมาตรการงดการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และสกู๊ตเตอร์ เป็นเวลา 3 วัน วันละ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น และลดราคาตั๋วเดินทางสาธารณะ เพื่อเป็นตัวเลือกและจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น สำหรับประเทศเกาหลีใต้ นั้นก็ออกนโยบายจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ปิดลานจอดรถตามหน่วยงานรัฐ 360 แห่ง และประเทศสเปน ห้ามรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐานเข้าเมือง นอกจากนี้สเปนยังมีมาตรการในการแบนรถยนต์ดีเซลภายในปี 2025 อีกด้วย

99989 
ส่งเสริมอิเล็กทริกคาร์

แม้ว่ามาตรการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศ เพราะหลายประเทศยังขาดความพร้อมของสถานีชาร์จไฟตามแหล่งต่างๆ แต่ในประเทศนอร์เวย์รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมอย่างมากโดยมีการคาดคะเนว่า 1 ใน 5 ของชาวนอร์เวย์ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลนอร์เวย์คาดว่าภายในปี 2025 รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะทยอยเสื่อมความนิยมลงไปอย่างแน่นอน สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มีมาตรการห้ามขายรถยนต์ดีเซลที่ใช้น้ำมัน สนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

0000 (2) 
พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและเส้นทางจักรยาน

การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยลดปริมาณควันพิษได้ สำหรับประเทศเยอรมันนั้นตื่นตัวเป็นอย่างมากในการขยายเส้นทางจักรยานทั่วเมือง โดยเฉพาะการใช้ไบค์แชร์ริ่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว สำหรับรัฐบาลสวีเดนก็เร่งพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทาง รถราง และรถไฟใต้ดิน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการระบบจนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยสำหรับประเทศฝรั่งเศสก็ประกาศให้ประชาชนใช้บริการรถสาธารณะฟรี และมีนโยบายว่าเลิกใช้รถยนต์ดีเซล ภายในปี 2040

 888 
เพิ่มพื้นที่สีเขียว

การขยายพื้นที่สีเขียวช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศของเมือง นอกจากนี้ยังช่วยให้อุณหภูมิของเมืองเย็นลง เช่น ในประเทศเยอรมัน เอกชนหลายแห่งสร้างอาคารโดยออกแบบให้ผนังและหลังคาเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งก็สามารถกรองมลพิษทางอากาศได้ถึง 200 ตันต่อวัน ส่วนจีนก็ตั้งเป้าหมายปลูกป่าในเมือง เพิ่มขึ้น 300 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวโครงการก่อสร้าง "เมืองแห่งป่า"ที่แรกของประเทศและของโลกที่เมืองหลิ่วโจว ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อให้เมืองแห่งนี้ทำหน้าที่เสมือนผืนป่าช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในจีนอีกด้วย

x000001




สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาของนานาประเทศคือ การวางนโยบายและกฎหมายเพื่อลดปริมาณแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเข้มงวด เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการมลพิษก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษในระยะยาว การจัดการที่สามารถแก้ปัญหาและจัดการมลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

สนับสนุนโดย