svasdssvasds

"วันนกแห่งชาติ" 5 ม.ค. ชวนปกป้อง 7 นกหายากในไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์

"วันนกแห่งชาติ" 5 ม.ค. ชวนปกป้อง 7 นกหายากในไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์

5 มกราคม คือ "วันนกแห่งชาติ" หรือ "National Bird Day" เป็นว่าที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของนก ทุกชนิด รวมถึงนกที่เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วย Keep The World รวมให้แล้ว 7 ชนิด ติดตามได้ที่บทความนี้

วันนกแห่งชาติ

ย้อนกลับไปในวันที่ 5 มกราคม ปี 1894 ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มี “วันนกแห่งชาติ” หรือ “Nation Bird Day” เป็นวันที่ถูกตั้งขึ้นโดย ชาร์ล อมอนโซ แบตคุก เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้คนหันมาอนุรักษ์นกกันมากยิ่งขึ้น

แม้เป้าประสงค์ของผู้แต่งตั้งจะระบุว่า ให้วันนี้เป็นวันที่มนุษย์ช่วยกันอนุรักษ์นก Keep The World เล็งเห็นว่ามนุษย์ควรรัก ดูแล ปกป้อง “นก” กันอย่างเป็นปกติ ด้วยการไม่ยุ่ง ไม่ล่า และปล่อยให้นกเติบโตได้อย่างเป็นธรรมชาติ

อนึ่งว่า วันนี้เป็นวันดี ๆ วันหนึ่ง คอลัมน์ Keep The World ชวนดู 7 นกหายากในประเทศไทยที่ใกล้สูญพันธุ์ เผื่อว่าวันหนึ่งจะพบเห็นผ่านตา จะได้ไม่เข้าไปรบกวนวิถีชีวิตของนกเหล่านี้ เพื่อพวกมันได้มีชีวิตรอดอยู่ในธรรมชาติต่อไป

นกกระเรียน (Sarus crane)

ใครไม่เรียน นกกระเรียน! มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Grus Antigone จัดเป็นนกน้ำไซส์ใหญ่ สำหรับในประเทศไทยพบ “นกกระเรียน” อาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นที่ราบ มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เคยมีรายงานนกกระเรียนรวมฝูงกันเป็นหมื่นตัวในช่วงฤดูผสมพันธุ์

นกกระเรียน Cr. สวนดุสิต

ส่วนใหญ่ถูกพบมากที่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ไล่ไปจนถึงภาคใต้ ทว่า ประชากรนกกระเรียนกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากการขยับขยายตัวของเมือง จนไปกินพื้นที่หากินและที่อยู่อาศัย

ในแวดวงปักษาวิทยามีคำเรียกว่า “นกกระเรียนคืนถิ่น” ในความหมายคือ นกกระเรียนจะอพยพย้ายถิ่นมาจากแหล่งอื่น เพื่อมาปักหลัก จนเราสามารถพบเห็นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ด้วยสาเหตุแบบที่กล่าวไป ปัจจุบันนี้ “นกกระเรียน” ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เรียกได้ว่าเป็นนกที่เจอตัวได้ยากสุด ๆ หากใครพบเห็นก็อย่าไปรบกวนมันจะดีกว่า

นกแต้วแร้วท้องดำ

นกตาแป๋วที่เห็นอยู่ในภาพนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pitta gurneyj นกชนิดนี้มีไซส์เล็ก โดยมีลำตัวป้อมประมาณ 20 ซม. มีดวงตาสีดำกลมโต ปากแหลมเพื่อใช้สำหรับกินพืช แมลง และไส้เดือนเป็นอาหาร

อายุขัยของนกชนิดนี้ประมาณ 10 ปี ในการตั้งไข่แต่ละครั้ง นกแต้วแร้วท้องดำจะออกไข่ราว 3-4 ฟอง ข้อมูลระบุว่า นกชนิดนี้ถิ่นกำเนิดในป่าที่ราบลุ่ม ทางตอนใต้ของประเทศพม่า และทางภาคตะวันตกของประเทศไทย

นกแต้วแร้วท้องดำ Wikimedia / Michael Gillam

แท้จริงแล้ว นกแต้วแร้วท้องดำสามารถพบได้ทั่วไป ทว่า การทำลายที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และมีการล่าเพื่อนำไปจำหน่ายในฐานะ นกสวยงาม ทำให้ปัจจุบัน นกชนิดนี้ถือเป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (White-eyed River-Martin)

ถือเป็นนกที่พิเศษสุด ๆ สำหรับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำ ในวงศ์นกนางแอ่น พบได้เฉพาะ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เท่านั้น

ความรู้ ณ ปัจจุบัน ระบุไว้ว่า ปัจจุบันนางชนิดนี้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 มีไซส์ขนาดกลาง ตัวไม่ใหญ่มาก มีสีดำออกเหลือง วงรอบตามีสีขาวซีด ปากสีเหลืองสด นักปักษายังไม่สามารถคาดเดาถึงพฤติกรรมของนกชนิดนี้ได้ เช่น พฤติกรรมในช่วงฤดูวางไข่ หรือการเลือกแหล่งหาอาหาร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร Cr. พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้จะมีการค้นพบมานานแล้ว สำหรับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แต่ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานว่าพบในประเทศไทยอีก ทำให้ นกชนิดนี้กลายเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

นกชนหิน (Helmeted hornbill)

หากปิดลำตัวแล้วมองแต่หัว อาจสับสนว่าเป็นไก่ได้ นกชนหิน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoplax vigil เป็นนกไซส์มหึมา อยู่ในตระกูลนกเงือก คาดว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าฝนของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นกชนิดนี้มีชื่อเสียงในเรื่อง “ความใหญ่” โดยมีความยาวตั้งแต่ 100 เซนติเมตร และหนักถึง 3 กิโลกรัม ลักษณะเด่นของนกชนิดนี้คือ ส่วนหัว สังเกตได้จากชื่อ “Helmted” หรือ “Rhino” บริเวณคอจะมีหนังสีแดงเข้ม ปลายปากและโหนกด้านหน้ามีสีเหลืองสด

นกชนหิน Cr. มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคาสเถียร ระบุว่า เสียงร้องของนกชนหินนั้น สามารถดังกังวาลไปได้ไกลถึง 2 กิโลเมตร เสียง “อู๊ก” จะค่อย ๆ เร่งความถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ฟัง ๆ ดูแล้วจะคล้ายกับเสียงหัวเราะ

ปัจจุบันนี้ นกชนหินจัดอยู่ในหมวดสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ปี พ.ศ. 2535

นกอ้ายงั่ว (Oriental Darter)

หรืออีกชื่อว่า “นกคองู” เป็นนกที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปีทั่วประเทศไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anhinga melanogaster ถือเป็นนกไซส์ใหญ่อีกชนิด ด้วยลำตัวที่ยาวประมาณ 90 – 95 เซนติเมตร

ปลายปากแหลม หัวเล็กแต่คอยาวมาก เป็นนกที่ขาสั้นแต่ใหญ่อวบ ไม่ว่าเพศผู้หรือเพศเมียจะมีสีคล้ายกัน คือ จะมีคอสีน้ำตาล มีลายสีขาวคาดตามลำตัว และมีสีดำสลับแทรกกันไป

นกอ้ายงั่ว Cr. Bird of Thailand

แหล่งที่อยู่หลักของนกอ้ายงั่วคือ บึง อ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน ขึ้นชื่อว่าเป็นนกที่ว่ายน้ำเก่งชนิดหนึ่งเลยทีเดียว ชอบบินโฉบปลาตามผิวน้ำกินเป็นอาหาร อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของนกชนิดนี้คือ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันนี้ นกอ้ายงั่ว ถูกจัดอยู่ในสถานะถูกคุกคาม จากสภาพแวดล้อมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ นกอ้ายงั่วเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ปี พ.ศ. 2535

นกกาบบัว (Painted Stork)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Mycteria leucocephala” เป็นนกไซส์ใหญ่ ขนตามลำตัวมีสีขาว บริเวณปีกมีสีดำ จะงอยปากมีสีเหลือง มีหางสีดำ ข้อมูลจากสวนสัตว์เขาเขียว ระบุว่า นกชนิดนี้พบมากในที่ราบต่ำอินเดีย พม่า อินโดจีน รวมทั้งไทย

อาหารที่โปรดปรานของนกชนิดนี้คือสัตว์จำพวก ปู ปลา กบ เขียด ชอบไปดักกินสัตว์น้ำตามบริเวณผิวน้ำ และพุ่งเข้าไปงับด้วยความเร็ว บอกเลยว่า สกิลการงับเหยื่อของนกชนิดนี้ไม่เป็นสองรองใคร

นกกาบบัว Cr. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ปัจจุบัน นกกาบบัวถูกจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในประเทศไทย มีการรายงานว่า พบนกกาบบัวได้แค่เฉพาะในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

นกเงือก (Hornbills)

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด จัดเป็นนกไซส์ใหญ่ และมีฉายาประจำตัวว่า “นกปลูกป่า” เหตุเพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดี

นกเงือก Cr. E-bird / Ayuwat Jearwattanakanok

นกเงือกมีจุดเด่นคือ มีจะงอยปากที่หนาและใหญ่ สีเหลืองสด ลำตัวมีสีขาวสลับดำ มีหางยาว ปีกกว้างใหญ่ ฉะนั้น เวลาบินนกเงือกจะดูขึงขังเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ชอบกินผลไม้และสัตว์เล็กเป็นมื้ออาหาร

มองไปรอบโลก พบว่า นกเงือกปัจจุบันเหลือทั้งหมดเพียง 55 ชนิด ส่วนประเทศไทย พบนกเงือกราว 13 ชนิด ปัจจุบัน นกเงือกถูกจัดอยู่ในหมวดสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

 

 

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related