svasdssvasds

ออสเตรเลีย เร่งถกปัญหา คนใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้ามากกว่ารถไฟ ทำมลพิษสูงขึ้น

ออสเตรเลีย เร่งถกปัญหา คนใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้ามากกว่ารถไฟ ทำมลพิษสูงขึ้น

ดูเหมือนที่ออสเตรเลียจะมีปัญหาให้ถกเถียงกันอีกแล้ว เพราะล่าสุด อุตสาหกรรมขนส่งทางรถไฟได้ออกมาเสนอข้อเรียกร้องให้เก็บค่าบริการของรถพาหนะใหญ่อย่างรถบรรทุกสินค้า พร้อมบอกอีกว่า ระบบการขนส่งสินค้าทางรถไฟไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

แวดวงอุตสาหกรรมการขนส่งภายในประเทศออสเตรเลีย เริ่มส่งเสียงถึงผู้เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้แล้วว่า ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าที่วางไว้ได้ หากการขนส่งสินค้าทั่วประเทศใช้บริการรถไฟ ทว่าความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น ผู้คนนิยมใช้บริการรถบรรทุกในการขนส่งสินค้ามากกว่า และนี่เป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น

ตามการวิจัยใหม่ ที่เผยแพร่โดยสมาคมรถไฟออสเตรเลีย หรือ Australasian Railway Association พบว่า สินค้าที่ถูกขนส่งโดยรถไฟเช่น ไปรษณีย์ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าขนาดใหญ่ และอื่น ๆ มีจำนวนลดลงเหลือแค่ 17% จากทั้งประเทศ และ 11% เป็นของชายฝั่งทะเลตะวันออก

ทางด้าน ARA ได้เผยข้อมูลในรายละเอียดว่า เมืองเมลเบิร์นและซิดนีย์ มีเพียง 2% ของสินค้าเท่านั้น ที่ถูกส่งไปยังปลายทางด้วยรถไฟ ซึ่งลดลงจากปี 1970 ถึง 40% 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้ลงทุนกับการพัฒนาถนนหนทางของประเทศ ให้กว้างไกลและเชื่อมต่อกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกรถใหญ่ ๆ อย่างพวก B-double สามารถเดินทางบนถนนเพื่อข้ามไปยังเมืองต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

สังเกตความนิยมของรถบรรทุกได้จากสถิติที่ได้รับการบันทึกไว้จากอุตสาหกรรมการขนส่งรถบรรทุก ปัจจุบัน ประเทศออสเตรเลียมีการเดินทางด้วยรถบรรทุก Double B ไปกลับระหว่างเมืองซิดนีย์และเมลเบิร์นเฉลี่ยประมาณ 700,000 เที่ยวต่อปี  

รถบรรทุก Double B Cr. Wikipedia

การเฟื่องฟูของระบบการขนส่งสินค้าบนภาคพื้นถนนเช่นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบรางหรือรถไฟ นั่นทำให้ทาง ARA และผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟอย่าง Pacific National, Qube และ Aurizon ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการวางมาตรการเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจขนส่งสินค้าทางรถไฟ Pacific National Cr. Flickr

รถไฟขนส่งสินค้า QUBE Cr. Flickr

รถไฟขนส่งสินค้า aurizon Cr. Flickr

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลวางแผน และอัดฉีดเงินลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟเช่น รถไฟ ราง อาคารผู้โดยสาร และระบบการควบคุมรถไฟแบบดิจิทัล และยังเน้นย้ำอีกว่า ‘ควรหย่อนกฎระเบียบที่ซับซ้อนลงบ้าง’

ไม่หมดเพียงเท่านี้ ฝั่งผู้สนับสนุนการขนส่งโดยรถไฟยังเสนออีกว่า ให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับยานพานะคันใหญ่บนท้องถนนเช่น รถบรรทุก เพื่อนำมาปิดแผลความเสียหายที่เกิดขึ้น

ปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบเจอจากการขนส่งสินค้าโดยรถไฟมีอยู่ว่า รถไฟใช้เวลาช้ากว่ารถที่บริการบนท้องถนนปกติอยู่ถึง 30 – 40% และราคาค่างวดของการขนส่งสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทางก็แพงจนเกินไป ฉะนั้น บุคคลเหล่านี้จึงคิดว่า หากอยากจะให้เกิดการแข่งขันกับรถบรรทุก รถไฟหรือรถรางควรลดราคาค่าบริการลงอีกถึง 20 – 40%

อีกหนึ่งหลักฐานที่สนับสนุนว่าควรเปลี่ยนการขนส่งจากรถบรรทุกมาเป็นรถไฟก็คือ หากการขนส่งสินค้าภายในประเทศออสเตรเลีย เปลี่ยนจากรถบรรทุกมาใช้รถไฟหรือรถรางเพื่อลำเลียงสินค้า

ในทุก ๆ 1% จะสามารถช่วยประหยัดจากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ถนน หรือมลพิษบนท้องถนน ได้ราว ๆ 71.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ราว 330,000 ตัน

ทำไมการขนส่งทางรถไฟจึงช้ากว่า?

แม้ในสินค้าบางประเภทจะยังนิยมขนส่งทางรถไฟอยู่ แต่การถูกละเลย ทิ้งร้างมาหลายทศวรรษทำให้ระบบการขนส่งทางรถไฟจึงขลุกขลักเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่ผ่านมา เส้นทางรถไฟทางฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียถูกน้ำท่วมปิดเส้นทางอยู่นานหลายเดือน ดังนั้นการเคลื่อนขบวนรถไฟจากฝั่งตะวันออกข้ามไปยังฝั่งตะวันจึงล่าช้าไปถึง 16 ชั่วโมง

ทั้งนี้ทั้งนั้น รถไฟส่วนใหญ่ของประเทศออสเตรเลียยังใช้น้ำมันดีเซลเพื่อหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์อยู่ ซึ่งนั่นหมายความว่า ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์นั้นมากมายมหาศาล หากเทียบกับประเทศที่มีรถไฟที่เคลื่อนขบวนด้วยระบบไฟฟ้า

นี่จึงเป็นโจทย์ให้กับรัฐบาลของออสเตรเลีย ในการศึกษาหาทางออกให้กับเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันระบบการขนส่งสินค้าของประเทศกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ถึงต้นทุน ผลประโยชน์ของประเทศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อนำไปใช้ประเมินตัวเลือกการขนส่งสินค้าให้กับประชากร

ที่มา: The Guardian

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related