หน้าแรก > รอบรู้เรื่องตา > รอบรู้เรื่องตา

Slit Lamp สามารถตรวจอะไรได้บ้าง อ่าน 15,340

     หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจวัดระยะการมองเห็นเบื้องต้น และการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจตาโดยจักษุแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพตาโดยรวม ในขั้นตอนการตรวจตา จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Slit lamp” คือ กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่จะช่วยให้จักษุแพทย์สามารถส่องเห็นทั้งภายนอกและภายในดวงตาแบบภาพ 3 มิติ

     เครื่อง Slit lamp ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น ได้แก่ binocular microscope หรือ กล้องจุลทรรศน์ชนิดที่ใช้ส่องแบบสองตา แหล่งกำเนิดแสงที่สามารถปรับลำแสงได้หลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ของการตรวจ รวมถึงอุปกรณ์เช่นเดียวกับ joy stick ที่ใช้ในการบังคับเครื่อง Slit lamp ขณะตรวจตา ลำแสงจากแหล่งกำเนิดแสงสามารถปรับได้หลายรูปแบบ เช่น ปรับให้ลำแสงแคบลงหรือกว้างขึ้น ปรับเพิ่มแสงสว่าง หรือใส่ filter ให้เห็นเป็นสีต่างๆ ได้ ทั้งนี้ การปรับลำแสงในรูปแบบที่ต่างกัน จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจักษุแพทย์กำลังตรวจวิเคราะห์ส่วนใดของดวงตา

     ก่อนเริ่มขั้นตอนการตรวจ  จักษุแพทย์จะแจ้งให้ท่านถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ จากนั้นวางคางไว้ที่เครื่อง โดยให้หน้าผากแนบชิดกับแถบที่กำหนด ในระหว่างการตรวจ จักษุแพทย์จะใช้  joy stick ในการบังคับลำกล้องให้ตรงตามตำแหน่งของดวงตาที่ต้องการตรวจ พร้อมกับการปรับลำแสงเพื่อส่องไปที่ส่วนต่างๆ ของดวงตาได้อย่างชัดเจน โดยส่วนต่างๆ ของดวงตาที่จักษุแพทย์จะตรวจได้โดยใช้เครื่อง Slit lamp มีดังนี้ 

1. ผิวหนังรอบดวงตา เพื่อตรวจดูว่ามีรอยแผลหรือรอยโรคต่างๆ หรือไม่

2. เปลือกตาและขนตา เพื่อตรวจดูโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ได้ เช่น โรคกุ้งยิง โรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบ  หรือแม้กระทั่งโรคเนื้องอกที่เปลือกตา

3.สภาพผิวของดวงตา รวมถึงการตรวจเนื้อเยื่อใต้เปลือกตาและบริเวณเยื่อบุตาขาว ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจมีอาการบวมหรือติดเชื้อ ที่มีสาเหตุมาจากโรคที่ติดต่อจากทางเพศสัมพันธ์ โรคภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อไวรัส

4. ตาขาว ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดที่ห่อหุ้มอวัยวะต่างๆ ภายในลูกตา ส่วนบริเวณตาขาวชั้นตื้นๆ ที่เรียกว่า episclera จะเป็นบริเวณที่มีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มคัน หรือโรคไขข้ออักเสบต่างๆ เช่น โรคเก๊าท์

5. กระจกตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่มีผลต่อการมองเห็น การตรวจด้วยเครื่อง Slit lamp จะทำให้เห็นว่ากระจกตาใสเป็นปกติดีหรือไม่

6. ม่านตา เป็นส่วนที่เราเห็นเป็นสีของดวงตา โรคที่เกิดขึ้นและจะส่งผลให้ม่านตามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น โรควัณโรค โรคมะเร็งเม็ดเลือด และโรคไขข้ออักเสบต่างๆ   

7. เลนส์แก้วตา ที่อยู่ถัดจากบริเวณหลังม่านตา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงตามอายุจะทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้

     นอกจากนี้ การตรวจด้วย Slit lamp ควบคู่กับการใช้เลนส์ขยายชนิดพิเศษ จะทำให้จักษุแพทย์สามารถตรวจจอประสาทตาและขั้วประสาทตาที่อยู่บริเวณด้านหลังของดวงตาได้ การใช้ยาหยอดขยายม่านตา จะทำให้จักษุแพทย์สามารถตรวจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การตรวจจอประสาทตาและขั้วประสาทตาเป็นการตรวจเพื่อตรวจความผิดปกติ หรือโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคต้อหิน โรคเบาหวานที่จอประสาทตา  โรคเส้นเลือดอุดตันที่จอประสาทตา
การตรวจตาจะช่วยให้เห็นลักษณะต่างๆ ของดวงตาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เกิดจากโรคของดวงตา แต่เป็นโรคที่อาจเกิดจากความผิดปกติของทางร่างกาย กรณีนี้ จักษุแพทย์จะแนะนำให้พบกับแพทย์ทางอายุกรรมเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม แต่หากเป็นโรคของดวงตา จักษุแพทย์ก็จะเริ่มทำการรักษาเป็นลำดับต่อไป

ที่มา www.webmd.com