posttoday

‘ไทย โมเดล เทรน คลับ’ ชมรมคนรักรถไฟจำลอง

20 กันยายน 2558

การที่คนเราจะรักและชื่นชอบในอะไรสักอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป ยิ่งได้มาพบกับคนคอเดียวกันด้วยแล้ว

โดย...ภาดนุ ภาพ... วิษณุ อธิการกร

การที่คนเราจะรักและชื่นชอบในอะไรสักอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป ยิ่งได้มาพบกับคนคอเดียวกันด้วยแล้ว การรวมตัวกันตั้งกลุ่มหรือชมรมขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องยาก และ “ไทย โมเดลเทรน คลับ” ก็เป็นกลุ่มคนรักรถไฟจำลองที่มารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่พวกเขารัก

จิรวัฒน์ สงเคราะห์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม บอกว่า แต่เดิมเขากับเพื่อนคนหนึ่งตั้งกลุ่มคนรักรถไฟจำลองขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่งแต่ก่อนไม่ได้ใช้ชื่อกลุ่มอย่างปัจจุบันนี้ จนเมื่อเพื่อนที่เริ่มก่อตั้งคนนี้ถอนตัวออกไปด้วยปัญหาชีวิตส่วนตัวเขาจึงร่วมมือกับเพื่อนอีกคนหนึ่งตั้งกลุ่ม “ไทย โมเดล เทรน คลับ” ขึ้นมา

“กลุ่มของเราเป็นกลุ่มที่รวบรวมคนเล่นรถไฟจำลองจากทั่วประเทศ ซึ่งบางคนอาจเริ่มเล่นมาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่พวกเขาไม่เคยรู้ว่ายังมีคนที่ชอบเหมือนกันอยู่อีกเยอะ เพราะเมื่อก่อนรถไฟจำลองจะมีขายเฉพาะในห้างใหญ่ๆ แถมมีราคาแพง เมื่อรู้ว่ามีคนที่ชอบเหมือนกันให้ความสนใจเยอะ เราจึงตั้งกลุ่มขึ้นพร้อมทั้งเปิดเพจที่ชื่อ thaimodeltrain.pantown.com หรือชมรมรถไฟจำลองแห่งประเทศไทยขึ้นมา

‘ไทย โมเดล เทรน คลับ’ ชมรมคนรักรถไฟจำลอง

 

กิจกรรมส่วนใหญ่ของสมาชิกในกลุ่มก็คือ การนัดพบกันเพื่อนำรถไฟจำลองมาต่อรางสร้างเมืองจำลอง (เลย์เอาต์)ให้รถไฟของแต่ละคนได้มาวิ่งโชว์ โดยมีการนัดหมายสถานที่นัดเจอกันผ่านหน้าเพจ ถ้าเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน 10 คน เราก็จะนัดเจอกันที่บ้านเพื่อนคนใดคนหนึ่งซึ่งมีเลย์เอาต์อยู่แล้ว แต่ช่วงหลังๆ มีสมาชิกเพิ่มขึ้น เราจึงต้องนัดกันที่โรงแรมหรือร้านอาหารที่มีห้องจัดเลี้ยงเล็กๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน”

จิรวัฒน์ เสริมว่า การนำรถไฟจำลองมาต่อวิ่งเล่นตามรางด้วยกัน นอกจากได้แชร์ความชอบร่วมกัน ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนใหม่ๆ แล้ว ยังได้แชร์ความรู้หรือการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเทคนิคการเล่นและการซ่อมบำรุงร่วมกันด้วย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ในการสร้างเมืองจำลอง การโมดิฟายมอเตอร์หรือระบบไฟฟ้าของรถไฟเพื่อเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกให้เป็นระบบดิจิทัลซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อน ถ้าได้มาเจอกันก็น่าจะให้คำปรึกษากันได้ดีกว่า

“ถ้ารวมตัวกันแค่ 10-20 คน เราก็จะนัดกันเดือนหรือสองเดือนต่อครั้ง แต่หากนัดรวมตัวครั้งใหญ่ที่มีสมาชิกเยอะๆ ก็จะจัดปีละครั้ง เนื่องจากเรามีการแลกเปลี่ยนความรู้กันบนหน้าเพจเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 300 คน แต่คนเล่นรถไฟจริงๆ แล้วมีเป็นหลักพันเร็วๆ นี้เราก็กำลังจะทำกิจกรรมร่วมกับชมรมคนรักรถไฟจำลองของมาเลเซีย ซึ่งเขาจดทะเบียนเป็นสมาคมแล้ว โดยกลุ่มคนไทยของเราจะนำรถไฟไปเล่นโชว์ร่วมกับมาเลเซียด้วย ซึ่งน่าจะเป็นคอมมูนิตี้ที่เป็นสากลมากขึ้น”

‘ไทย โมเดล เทรน คลับ’ ชมรมคนรักรถไฟจำลอง

 

ด้าน เอกชัย จิรัฐติกาลกิจ สมาชิกอีกคนของกลุ่มบอกว่า เขาชอบเล่นรถไฟจำลองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่มาเริ่มเล่นอย่างจริงจังเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมานี้… “กิจกรรมที่ผมทำกับกลุ่มคือการนำรถไฟจำลองไปต่อรางให้มันวิ่งและช่วยกันนั่งคอมเมนต์ว่า รถไฟที่นำมาวิ่งนี้เป็นของประเทศไหน วิ่งดีมั้ย มีประวัติความเป็นมายังไง คือเราจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มบางคนอาจจะชอบรถไฟจากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือรถไฟไทยที่พวกเขาโมดิฟายเองด้วยก็มี”

เอกชัย เสริมว่า คนที่เล่นรถไฟจำลองจะต้องมีความรู้พอสมควร เพราะมันรวมงานทุกอย่างทั้งช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิค งานไม้ และงานศิลป์ที่มีความละเอียดไว้ในตัว ซึ่งรถไฟส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าโดยมีรางเป็นตัวจ่ายไฟ ตรงหัวรถจักรจะมีตัวรับไฟฟ้าที่ล้อ และมีมอเตอร์อยู่ในตัวรถเพื่อช่วยขับเคลื่อน โดยผู้เล่นจะมีรีโมทเพื่อควบคุมรถไฟอีกที

“กลุ่มของเรานอกจากรวมตัวกันแลกเปลี่ยนทัศนะและความรู้ด้านเทคนิคแล้ว บางคนอาจมีการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนรถไฟมือสองกันด้วย ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับสภาพและรุ่นที่หายากหรือง่ายเป็นหลัก ตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มผมก็เข้าร่วมกิจกรรมแทบทุกครั้ง ผมว่าความสุขที่ได้จากการเล่นรถไฟจำลอง นอกจากได้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของเราได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”

‘ไทย โมเดล เทรน คลับ’ ชมรมคนรักรถไฟจำลอง