posttoday

อุตฯเดินหน้าช่วยอุตสาหกรรมยางปล่อยกู้ดบ.ต่ำ

23 ตุลาคม 2557

ก.อุตฯ  เรียก 6 แบงก์ผู้ประกอบการคุยเงื่อนไขปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อซื้อน้ำยางดิบอีก 1 หมื่นล้าน คาดช่วยดึงยางเข้าระบบ 2 แสนตัน พยุงราคาขึ้น 3 บาท /กก.

ก.อุตฯ  เรียก 6 แบงก์ผู้ประกอบการคุยเงื่อนไขปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อซื้อน้ำยางดิบอีก 1 หมื่นล้าน คาดช่วยดึงยางเข้าระบบ 2 แสนตัน พยุงราคาขึ้น 3 บาท /กก.


นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช  รมว.อุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า   ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 ได้อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ มี 2 โครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องร่วมดำเนินการ ได้แก่โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ภายใต้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท  อัตราดอกเบี้ย 5% ซึ่งรัฐบาลจะให้การอุดหนุน 3%  หรือราว 4,500 ล้านบาท  ผู้ประกอบการจ่าย 2%  โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้ให้สินเชื่อ  ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 10 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงเครื่องจักร 3 คณะ ทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อดูความเหมาะสมของเครื่องจักรประกอบการยื่นขอกู้ต่อออมสิน ซึ่งคณะกรรมการจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเพื่อส่งเรื่องให้ธนาคารออมสินทุก 15 วัน  เมื่อรวมระยะเวลาการพิจารณาให้สินเชื่อทั้งหมด 37 วัน

“ความคาดหวังของโครงการนี้คือผู้ผลิตมีโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำลง ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศขยายตัวนำไปสู่การต่อยอดในการส่งนวัตกรรมและคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ 3 แสนตันต่อปี โดยความคืบหน้าขณะนี้มีผู้ประกอบการแสดงความจำนงกู้กับออมสินแล้ว 9 ราย วงเงินรวม 7,658 ล้านบาท” นายจักรมณฑ์ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า  อีกโครงการเป็นการให้สินเชื่อระยะสั้น ได้แก่โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก  คือ เดือนพ.ย. 2557 –เม.ย. 2558 คาดว่าจะทำให้สามารถดูดซับปริมาณยางที่จะเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 2 แสนตัน ส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และราคาจะได้ตามเป้าหมายคือ 66 บาทต่อกก.

ทั้งนี้ สินเชื่อหมุนเวียนนี้จะเป็นสินเชื่อที่ให้ผ่านธนาคาร 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย และธนชาต ระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี  อัตราดอกเบี้ย 5% โดยรัฐบาลจะอุดหนุน 3% ผู้กู้จ่าย 2% ตลอดอายุโครงการ

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ต.ค. 2557 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะหารือร่วมกับผู้ประกอบการและธนาคารทั้ง 6 แห่ง  เกี่ยวกับเกณฑ์การให้สินเชื่อรวมถึงคุณสมบัติของผู้กู้เงินตมโครงการนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 70 รายตามรายชื่อที่สมาคมผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นแจ้งไว้