posttoday

เปิดแผนลดน้ำทุ่งตะวันตก

02 พฤศจิกายน 2554

เปิดมาตรการกรมชลประทานระบายน้ำทุ่งตะวันตกเร่งด่วน หลังน้ำทะลักเข้าท่วมฝั่งธนบุรีต่อเนื่อง

เปิดมาตรการกรมชลประทานระบายน้ำทุ่งตะวันตกเร่งด่วน หลังน้ำทะลักเข้าท่วมฝั่งธนบุรีต่อเนื่อง

กรมชลวาง 2 มาตรการบริหารจัดการน้ำบริเวณทุ่งฝั่งตะวันตกของกรมชลประทาน

กรมชลประทาน วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทุ่งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการลดผลกระทบกับพื้นที่น้ำท่วมทางตอนล่าง  ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร  (Zone 1ตามแผนที่การแบ่งโซนการระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลาง) ประกอบด้วยมาตรการ 2 มาตรการหลักได้แก่  การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และ การผลักดันน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม

1.การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำ

1.1ลดปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากปริมาณ 3,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 โดยรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนที่ +17.70เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะลดปริมาณน้ำไหลเข้าช่องขาดตามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี ได้ประมาณ 40% ของปริมาณน้ำไหลเข้าทั้งหมด หรือเท่ากับ 52 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (จากเดิมที่เคยไหลเข้า ประมาณ 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณวันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร)

1.2 ลดปริมาณผ่านประตูระบายน้ำต่าง ๆ ประมาณ 50% ของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554

- ประตูระบายน้ำพลเทพ  เหลือปริมาณน้ำผ่าน 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิม 359 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

- ประตูระบายน้ำบรมธาตุ เหลือปริมาณน้ำผ่าน 115 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิม 235 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

รวมแล้วลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่ได้วันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร

1.3 ปิดช่องขาด 14 จุดตามแม่น้ำเจ้าพระยา จะลดปริมาณน้ำเข้า Zone 1 วันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร   

2. การผลักดันน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม         

โดยการสูบน้ำและเปิดประตูระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนประมาณวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีรายละเอียดการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

- พื้นที่ทุ่งเจ้าเจ็ด – บางยี่หน จะมีการผลักดันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอาศัยคลองพระยาบันลือในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้น้ำไหลลงสู่ทุ่งพระยาบรรลือ

- พื้นที่ทุ่งพระยาบรรลือ จะมีการผลักดันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองพระพิมลที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ไหลลงสู่ทุ่งพระพิมล

- พื้นที่ทุ่งพระพิมล จะใช้คลองมหาสวัสดิ์ในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำ โดยจะใช้ประตูระบายน้ำที่ตั้งอยู่ตามแนวแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยในการผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ในทุ่งต่างๆ ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ประตูระบายน้ำบรมธาตุและประตูระบายน้ำพลเทพ จะปรับลดการรับน้ำเข้าให้น้อยลง เพื่อลดปริมาณน้ำให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของลำน้ำ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 

จากผลการดำเนินการทุกมาตรการจะสามารถ

1. ลดปริมาณน้ำเข้า Zone 1 ซึ่งเป็นบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ดูแผนที่การแบ่งโซนการระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลางประกอบ) ได้ประมาณวันละ 40.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

2. เพิ่มปริมาณน้ำออกจาก Zone1 ได้ประมาณวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

3. ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ปริมาณน้ำใน Zone 1 จะถูกระบายออกประมาณ 30% หรือประมาณ 810 ล้านลูกบาศก์เมตรเหลือน้ำค้างทุ่งซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 1,890 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้าน ถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ขุดลอกคูคลองสันดอนของแม่น้ำท่าจีนบริเวณ จ.สมุทรสาคร เพื่อให้บริเวณปากคลองน้ำไหลสะดวกขึ้น นอกจากนี้ได้ร่วมกับ กทม. ขุดลอกปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้น้ำไหลลงปากอ่าวได้สะดวก นอกจากนี้กรมเจ้าท่ายังได้นำเรือกว่า 13 ลำ เข้ามาผลักดันน้ำที่บริเวณปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์อีกด้วย

ขณะที่ สัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า ได้ประสานขอให้ ศปภ.เพิ่มระบบระบายน้ำที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพื่อระบายน้ำออกไปให้มากที่สุด

เปิดแผนลดน้ำทุ่งตะวันตก

 

เปิดแผนลดน้ำทุ่งตะวันตก