posttoday

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

02 กันยายน 2560

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ เชิญชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ “เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี: หัตถศิลป์ภูมิปัญญาช่างทองไทย เทิดไท้พระบารมี”

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ เชิญชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ "เครื่องทองสุโขทัย - ทองเพชรบุรี: หัตถศิลป์ภูมิปัญญาช่างทองไทย เทิดไท้พระบารมี"

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ขอเชิญผู้สนใจร่วมชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ "เครื่องทองสุโขทัย - ทองเพชรบุรี : หัตถศิลป์ภูมิปัญญาช่างทองไทย เทิดไท้พระบารมี" เพื่อสานต่อความดีที่พ่อทำ และสืบสานงานศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้ความรู้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม และสร้างความตระหนักในภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของช่างฝีมือไทย โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมเแสดงความจงรักภักดีโดยลงนามถวายพระพร พร้อมชมนิทรรศการพิเศษ ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ อาคารไอทีเอฟ ถนนสีลม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ ถึง 8 ก.ย. 60

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ ทางสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการสนับสนุนเครื่องประดับที่มาจัดแสดง อาทิ บริษัท ชายน์นิ่ง โกลด์ บ้านช่างทอง และ เฮเว่น เจมส์ บาย ห้างทองแม่บุญมา ซึ่งเครื่องประดับแต่ละชิ้นล้วนมีความสวยงามประณีต แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องประดับทองคำของช่างทองไทย

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

โดยเครื่องทองสุโขทัย นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ด้วยลักษณะพิเศษจากกระบวนการทำด้วยการถักเส้นทองอย่างละเอียด ปราณีต แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่บ่งบอกถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของสุโขทัยได้เป็นอย่างดี

ทองสุโขทัย โดยทั่วไปเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ทองโบราณ" เนื่องจากมีการศึกษาและฟื้นฟูกรรมวิธีการถักทองของคนโบราณขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของตำบลท่าชัย และตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่บรรจงทำทองรูปพรรณเลียนแบบเครื่องทองโบราณได้อย่างสวยงาม จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยสองมือที่สร้างสรรค์งานทองรูปพรรณโบราณทำให้ได้มาซึ่งหัตถศิลป์ล้ำค่าหลายแบบ หลายลวดลาย

โดยในระยะแรกได้แบบอย่างมาจากเครื่องทองโบราณ ลวดลายประติมากรรม รูปเคารพ ลายปูนปั้น และภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมไปถึงลวดลายของเครื่องทองโบราณที่ได้มาจากแหล่งอื่นๆ จากนั้นนำมาประมวลขึ้นเพื่อผลิตเป็นงานทองสุโขทัยโดยเฉพาะ

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

การทำทองสุโขทัยหรือทองโบราณ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภทเครื่องประดับ จะนิยมทำเป็นทองรูปพรรณ เช่น สร้อยสามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา แปดเสา สร้อยก้านแข็ง กำไลข้อมือ กำไลหลอด ข้อมือถักลายเปีย แหวนทอง แหวนทองลงยา เข็มขัด ต่างหู และอื่นๆ 2. ประเภทเครื่องใช้สอย เช่น กระเป๋า เชี่ยนหมาก เสื้อถักทอง กรอบรูปทอง เป็นต้น สำหรับเครื่องทองสุโขทัยที่นำมาจัดแสดง ได้แก่ เครื่องประดับทองถักสี่เสา ห้าเสา ประดับลูกอุหลั่ยทอง ลงยาราชาวดี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทองสุโขทัย

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ส่วนเครื่องทองเพชรบุรี ช่างทองเมืองเพชรเป็นช่างทองประเภทช่างทองรูปพรรณ ที่เริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่างสิบหมู่มาอาศัย ณ เมืองเพชรบุรี เพื่อสร้างและตกแต่งพระราชวัง

การถ่ายทอดความรู้เชิงช่างของช่างพื้นบ้านเมืองเพชร เกิดจากการเป็นลูกมือหรือผู้ช่วยช่างหลวง ช่างทองเป็นช่างกลุ่มหนึ่งในช่างสิบหมู่ ดังนั้นในช่วงนี้อาจมีช่างพื้นเมืองหันมาฝึกวิชาช่างทองจากช่างหลวง การถ่ายทอดความรู้ของช่างทองเมืองเพชร ส่วนใหญ่จะถ่ายทอดกันภายในครอบครัว เครือญาติ โดยฝึกหัดกับแผ่นเงิน ทำสร้อยเงินขัดมัน เมื่อทำได้ดีแล้วครูช่างจะให้ทำทองรูปพรรณโดยใช้ทองจริง การเป็นช่างทองต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน และต้องใช้ความละเอียด ปราณีตอย่างสูง สายตาช่างต้องดีเยี่ยมอีกด้วย

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ช่างทองเมืองเพชรนิยมใช้เนื้อทองคำบริสุทธิ์ในการทำทอง เนื่องจากทองบริสุทธิ์มีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นดี ลวดลายทองรูปพรรณฝีมือช่างทองเมืองเพชร ล้วนเลียนแบบหรือสร้างสรรค์จากธรรมชาติรอบตัวของช่างทั้งสิ้น เช่น พืช สัตว์ หรือวัตถุมงคล โดยมีคติความเชื่อแฝงอยู่ทั้งสิ้น

ด้านเครื่องประดับทองรูปพรรณในจังหวัดเพชรบุรีนั้น ปัจจุบันยังคงรูปแบบลวดลายดั้งเดิม นิยมทำเป็นเครื่องประดับประเภทต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ จี้ ปิ่น เข็มกลัด โดยเครื่องประดับที่นำมาจัดแสดง อาทิ เครื่องประดับทองชุดดอกบัวสัตตบงกช ชุดลายประจำยาม สร้อยข้อมือลายตะขาบ เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบต่างๆ ของเครื่องประดับทองสุโขทัย - เพชรบุรี นั้น ล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของเมืองไทย

ชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ เครื่องทองสุโขทัย-ทองเพชรบุรี

ขอเชิญชมนิทรรศการพิเศษเฉลิมพระเกียรติฯ "เครื่องทองสุโขทัย - ทองเพชรบุรี : หัตถศิลป์ภูมิปัญญาช่างทองไทย เทิดไท้พระบารมี" ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ อาคารไอทีเอฟ ถนนสีลม ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 8 ก.ย. 60 สามารถเข้าชมได้วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.30 - 17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ