posttoday

ส่องกล้องตลาดสด ความจริงเรื่อง ‘เนื้อสัตว์’

12 กันยายน 2559

การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ไม่อาจจะนำคุณภาพสินค้ามาเป็นข้อกำหนดในการจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อเท่านั้น

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ไม่อาจจะนำคุณภาพสินค้ามาเป็นข้อกำหนดในการจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อเท่านั้น ยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มเกณฑ์การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความตื่นตัวเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและสุขอนามัยกันมากขึ้น

การส่งเสริมให้ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ หรือแผงจำหน่ายเนื้อสัตว์เลือกเนื้อสัตว์ที่จะนำมาจำหน่ายจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องยกระดับมาตรฐานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอยู่ 11 แห่ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บริษัท อาหารเบทเทอร์, บริษัท เบทาโกร เซฟตี้ มีท แพคกิ้ง, บริษัท สามพรานซลอเทอร์เฮ้าส์, ร้านอุไรวรรณ, สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ และสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ มีการมุ่งเน้นการตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับจากจุดจำหน่ายสินค้าจนถึงฟาร์ม เพื่อยกระดับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ทั้งในตลาดสด ร้านโมเดิร์นเทรด และช็อปจำหน่ายสินค้า ให้มีสุขลักษณะที่ดี สร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัย

เพราะฉะนั้น การตื่นตัวของหน่วยงานราชการที่จะยกระดับและมาตรฐานของเนื้อสัตว์ปลอดภัย และผู้บริโภคสามารถตรวจผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ตัวเองซื้อว่าปลอดภัยจากต้นทางหรือไม่? จึงเป็นก้าวย่างที่ดีและจะต้องเป็นมาตรฐานพื้นฐานจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันในอนาคตอันใกล้นี้

“ปศุสัตว์ OK” กับ “Scan Me”

ปัจจุบัน โครงการตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการขยายผลต่อเนื่องจากความสำเร็จของโครงการ “เขียงสะอาด” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบร้านค้าเนื้อสัตว์ในตลาดสดให้ใช้เขียงสะอาด รวมทั้งพ่อค้า-แม่ค้า คำนึงสุขอนามัยของผู้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค มีร้านที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 2,400 ร้าน และจะขยายให้ครบ 3,000 ร้าน ในสิ้นปี 2559 นี้

ถือว่าเป็นต้นแบบในการรับรองมาตรฐานของ “เนื้อสัตว์ปลอดภัย” ที่ผ่านหลักเกณฑ์การตรวจประเมินจุดจำหน่ายสินค้าที่ผู้จำหน่ายต้องปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเข้าสู่อาหาร เช่น สถานที่จำหน่ายต้องมีโครงสร้างแข็งแรง สะอาด ที่จัดวางเนื้อสัตว์มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ต้องจัดวางเนื้อสัตว์แยกกับเครื่องในสัตว์ ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์การขาย อาทิ เขียง มีด อย่างสม่ำเสมอ และผู้จำหน่ายต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาดและมีสุขลักษณะที่ดี

ที่สำคัญสินค้าเนื้อสัตว์ที่นำมาจำหน่ายต้องมีต้นทางกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จากสัตว์ที่เลี้ยงในระบบฟาร์มที่ได้รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) จากกรมปศุสัตว์ และต้องมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาต มีแบบตอบรับแจ้งการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์กำกับ และมีการจดบันทึกสัตว์ที่เข้าฆ่าและซากสัตว์ที่มีการจำหน่ายออก เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ทำได้จริง และคณะกรรมการตรวจประเมินสามารถตรวจสอบได้ในระยะเวลาย้อนหลังอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการตรวจ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากสถานที่จำหน่ายกลับไปยังโรงฆ่าสัตว์ และตรวจสอบย้อนกลับจากโรงฆ่าสัตว์ไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้

ส่องกล้องตลาดสด ความจริงเรื่อง ‘เนื้อสัตว์’

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีการตรวจสอบเนื้อสัตว์ด้วยแอพพลิเคชั่น Scan Me ประชาชนสามารถตรวจสอบผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น QR Code Reader จาก App Store หรือ Play Store จากนั้นใช้สแกน QR Code ที่อยู่บนป้าย Scan Me ที่แผงจำหน่ายเนื้อสัตว์ในตลาดสดหรือบนฉลากสินค้าเนื้อสัตว์ จะแสดงข้อมูลผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์หรือผู้ประกอบการผลิตเนื้อสัตว์

สำหรับผู้ประกอบการผลิตเนื้อสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน  8 แห่ง และตลาดสด 5 แห่ง โดยจะมีป้ายคิวอาร์โค้ด Scan Me ติดตั้งไว้ที่แผงผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ในเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค 

ประสบการณ์จริงในตลาดสด

ตลาดสด 5 แห่ง ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ตลาดอ่อนนุช ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดสามย่าน ตลาดใหม่ทุ่งครุ และตลาดบางขุนศรี ซึ่งสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ได้ดำเนินการตรวจประเมินผู้ประกอบการผลิตเนื้อสัตว์ ตรวจประเมินและอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการในตลาดที่เข้าร่วมโครงการ Scan Me โดยจัดทำฐานข้อมูลแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์และพิมพ์รหัสชุดการผลิต หรือ QR Code บนฉลากสินค้า เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพเนื้อสัตว์และสถานที่จำหน่ายที่ดีสำหรับผู้บริโภค ยกระดับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้มีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

สายชล สวัสดิชัย ผจก.ฝ่ายบริหารกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งเปิดมายาวนานถึง 61 ปีแล้ว ถือเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นตลาดทันสมัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดสดที่พยายามสร้างจุดขายและรณรงค์เรื่องเนื้อสัตว์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เล่าว่า

“ไม่ใช่เรื่องของเนื้อสัตว์อย่างเดียว แต่เป็นอาหารปลอดภัย ซึ่งทางตลาดให้ความสำคัญ โดยที่เรามีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการหรือแล็บตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงสำนักงานอนามัยเขต เรามีพนักงานประจำเข้ามาดูแลในส่วนนี้เพื่อที่จะสุ่มตรวจสินค้าในทุกประเภท ซึ่งดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว”

สายชล บอกว่า ตั้งแต่ปี 2558 หน่วยงานราชการเปิดโอกาสให้ทางตลาดเข้ามาร่วมมือกัน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก็มีแอพพลิเคชั่น Scan Me ซึ่งเป็นการตรวจสอบเนื้อสัตว์ถึงต้นทางแหล่งที่มาผ่านคิวอาร์โค้ด หรือโครงการปศุสัตว์โอเค ซึ่งทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว

“สำหรับผลการดำเนินการที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับจากผู้บริโภคก็เหมือนกับเราได้แสดงความจริงใจว่าขายของที่มีคุณภาพ สำหรับโครงการ 2 โครงการที่เราเข้าร่วมในการควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานเนื้อสัตว์ปลอดภัย ซึ่งลูกค้าที่ซื้อของในตลาดของเรามานานแล้วเขายิ่งเกิดความมั่นใจในเนื้อสัตว์ที่มีการขายในตลาดมากยิ่งขึ้น เพราะปรากฏแหล่งที่มาที่ชัดเจน ตั้งแต่โรงฆ่า การขนถ่ายสินค้าต่างๆ ก็เลยสร้างความมั่นใจในมาตรฐานเนื้อสัตว์และอาหารปลอดภัย เราพยายามที่จะพัฒนาและเรียนรู้โดยการทำอย่างต่อเนื่อง”

ส่องกล้องตลาดสด ความจริงเรื่อง ‘เนื้อสัตว์’

เรื่องของอาหารและเนื้อสัตว์ปลอดภัยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว สายชล ย้ำว่า การค้าขายก็ต้องเปลี่ยนไปตามความต้องการของสังคมและมีจิตสำนึกที่ดีในการขายของที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้บริโภค ในส่วนของผู้บริโภคเองก็ต้องมีการเรียนรู้และเลือกซื้อสินค้าต่างๆ อย่างมีความรู้

“เนื้อสัตว์ปลอดภัยก็คำนึงถึงราคาที่ยุติธรรม ถ้าเทียบกับไฮเปอร์มาร์เก็ตของเราอาจจะถูกกว่า เพราะว่าเกิดจากกลไกของการแข่งขัน ตลาดเรามีสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ค่อนข้างมาก อย่างเนื้อหมูเรามีถึง 80 กว่าเขียง เพราะฉะนั้นราคาจึงไม่สูงมาก การมีปริมาณพ่อค้าที่มากทำให้เป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกัน ทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพ รวมถึงการบริการลูกค้า ที่สำคัญอย่างเจ้าใหญ่ๆ เขาก็มีฟาร์มเป็นของตัวเองเลยมีการควบคุมคุณภาพอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์จนมาถึงการขายปลีก ทำให้ผ่านพ่อค้าคนกลางน้อย ราคาเลยไม่สูงมากแต่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี”

เนื้อสัตว์ปลอดภัยในมิตินักวิจัย

การผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ที่ต้องได้มาตรฐาน ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เริ่มมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในปี 2553 โดยมีการคุมเข้มตรวจรับรองมาตรฐานตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กระทั่งถึงโรงงานแปรรูปมาโดยตลอด จนทำให้ปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ เป็นมูลค่าได้มากถึง 1.5 แสนล้านบาท

รศ.ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อสัตว์และการควบคุมคุณภาพ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ฉายถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทย ว่า

“ความปลอดภัยด้านเนื้อสัตว์ของไทยยังไม่สมบูรณ์แบบไปในเนื้อทุกประเภท เนื้อสัตว์ปลอดภัยในปัจจุบันมีปัจจัยเพราะเรื่องมาตรฐานของฟาร์ม การเลี้ยง รวมถึงเรื่องของโรงฆ่าและการชำแหละ แต่ก็เหมารวมทั้งหมดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเนื้อสัตว์ประเภทไหนด้วย อานิสงส์อันหนึ่งที่เมืองไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานตั้งแต่การเลี้ยงไปถึงระบบฆ่าและการจัดจำหน่าย ซึ่งก็มาจากการที่เนื้อสัตว์ของเราส่งออกได้ ทำให้มีมาตรฐานที่สูงตามขึ้นไปด้วย ทำให้มีการลงทุนในเรื่องโรงฆ่า เพราะกำลังซื้อในประเทศยังไม่ถึงในกระบวนการพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน การได้บริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัยเป็นผลพวงมาจากการส่งออก”

สำหรับการรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีสุขลักษณะที่ดีในการจำหน่าย ที่มีต้นทางกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จากสัตว์ซึ่งมาจากระบบฟาร์มที่ได้รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ผ่านการฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ซึ่งได้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ (ฆจส.2) โดยผ่านการตรวจประเมินจากคณะกรรมการตรวจประเมินสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ รศ.ดร.จุฑารัตน์ ชี้ว่า ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ เนื้อไก่

ส่องกล้องตลาดสด ความจริงเรื่อง ‘เนื้อสัตว์’

“ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อไก่แปรรูป เนื้อไก่ปรุงสุก อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก เพราะฉะนั้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยนั้นสูงอยู่แล้ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งยังมีปัญหาอยู่ในเรื่องการจัดจำหน่ายที่เป็นแบบเก่ามาวางแบไว้บนแผง โดยไม่ควบคุมอุณหภูมิและป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ซึ่งไม่ถูกสุขอนามัย แต่ถามว่าเมื่อเทียบกับในอดีต ปัจจุบันดีกว่าเยอะ”

ลักษณะเนื้อสุกรที่ดีต้องสีสันไม่แดงสดเกินไป รศ.ดร.จุฑารัตน์ บอกว่า ชิ้นเนื้อควรมีสีชมพูอ่อน ไม่แห้งแข็ง ส่วนเนื้อไก่สดที่ดีต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมากหรือไม่ซีดเกินไป โดยเนื้อสุกรและเนื้อไก่ที่เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส หรือเก็บในตู้แช่เย็นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ก็จะช่วยให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“เนื้อหมูก็ดีขึ้นเยอะ แต่ปัจจุบันส่งออกไม่ได้เพราะติดอยู่ที่เรื่องปากและเท้าเปื่อย ซึ่งยังมีผู้ประกอบการรายย่อยหรือโรงฆ่าที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากลหรือการส่งออก มีมาตรฐานในประเทศที่ด้อยลงมาหน่อย เป็นการอะลุ่มอล่วยกันอยู่ การปรับปรุงเป็นเรื่องของการเพิ่มต้นทุน ถ้าส่งออกไม่ได้กำลังซื้อในประเทศไม่มากก็ลำบากเหมือนกันที่จะปรับปรุงเนื้อหมูให้มีคุณภาพที่สูงแบบเนื้อไก่ทั้งหมด”

เนื้อสัตว์ปลอดภัยที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ เนื้อวัวหรือเนื้อโค รศ.ดร.จุฑารัตน์ ซึ่งทำงานด้านวิจัยเนื้อโคให้ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) มา 10 กว่าปี บอกว่าเห็นปัญหาเยอะ

“คนไทยกินเนื้อวัวน้อย เพราะฉะนั้นเรื่องการลงทุนโรงฆ่าให้ได้มาตรฐานแทบจะไม่ทำกันเลย โรงฆ่าเพื่อการส่งออกก็ไปไม่รอด การแข่งขันสูง รวมถึงเนื้อวัวนำเข้ามีราคาที่บางทีถูกกว่าด้วยซ้ำ ที่มีมาตรฐานก็มีโรงฆ่าฮาลาล แต่ก็มีโรงฆ่าขนาดเล็ก เรื่องความปลอดภัยในเนื้อวัวที่บริโภคกันอยู่ในประเทศ มีเนื้อวัวที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดแค่ 2% ส่วนมากคนไทยกินเนื้อวัวตลาดล่าง ซึ่งไม่ได้เลี้ยงขุนแบบมีไขมันแทรก ซึ่งส่วนมากฆ่าในโรงฆ่าเทศบาลหรือลักลอบฆ่ากันตามสะดวก ซึ่งยังไม่ได้มาตรฐาน

“ทุกวันนี้ เนื้อวัว 98% ยังไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีเนื้อเถื่อนที่ทะลักเข้ามาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นประเทศทางผ่านด้วย มีเนื้อวัวคุณภาพที่ได้มาตรฐานปลอดภัยอยู่ 2% ถ้ารัฐบาลไม่ดูแลเรื่องโรงฆ่าจะถูกเนื้อจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาตีตลาดในเมืองไทย”

การจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ จนถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ และยิ่งไปกว่านั้น ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีตู้แช่เย็นเพื่อคงคุณภาพเนื้อสัตว์ป้องกันการปนเปื้อน จะทำให้มีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้นเมื่อนำไปทำอาหาร เพราะจะคงความสดของเนื้อสัตว์ไว้ได้ “เนื้อสัตว์ปลอดภัย” จึงเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

ส่องกล้องตลาดสด ความจริงเรื่อง ‘เนื้อสัตว์’

เลือกซื้อเนื้อสัตว์อย่างชาญฉลาด

เนื้อหมู

1.เนื้อหมู เนื้อละเอียด สีชมพู มันสีขาว ถ้ามันสีเหลืองแสดงว่าหมูแก่

2.เนื้อสัน ควรจะมีสีชมพูอ่อนๆ เนื้อไม่แน่น หรือแข็งจนเกินไป

3.ให้ใช้นิ้วกดดูจะยืดหยุ่นได้ดี ไม่มีรอยบุ๋ม

4.ซี่โครงหมู ต้องไม่ติดกันแน่น

เนื้อไก่

1.ไก่สด ตาจะใส2.ลักษณะผิวเต็มไม่เหี่ยวย่น ไม่มีจ้ำเขียวๆ ไม่ซีด

3.ตัดเนื้อดูจะไม่เป็นสีเขียว ตรงรอยเชือดที่คอจะไม่เขียวชา ดมดูไม่มีกลิ่น

4.ส่วนของอกไก่ จะต้องมีลักษณะอ้วนมีเนื้อแน่น

5.ส่วนปลายสุดของปีกจะดัดงอได้ง่าย หนังมีสีขาว ไม่มีรอยฉีกขาด

6.ขาควรจะเรียบ มีเกล็ด และเดือยเล็กๆ

ไก่อ่อน ปลายจมูกจะอ่อนนุ่ม หงอนเกลี้ยง กดกระดูกหน้าอกจะงอได้ และมักมีขนอ่อนๆ ด้วย ตีนอ่อนนุ่ม เล็บจะแหลม เดือยสั้น หนังบาง ปากไม่แข็งไก่สาว หงอนจะสั้นแข้งลื่นเป็นมัน เนื้อนุ่ม

ไก่แก่ ปลายเล็บมน หนังใต้อุ้งเท้าจะหนาแข็ง เดือยจะยาว

เนื้อวัว

1.ควรเลือกเนื้อวัวที่มีสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ

2.ให้ใช้นิ้วกดดู จะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม

3.ต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด

4.เนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมันปรากฏอยู่เป็นจุดเล็กๆ

5.ลักษณะของไขมัน แตกง่ายสีออกไปทางครีมอ่อนๆ

6.ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก

7.เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา ถ้าไม่สด น้ำจะเป็นสีเหลืองๆ ซึม

8.ถ้าวัวแก่จะมีพังผืดมีเส้นใยเต็มไปหมด สีเขียวๆ ดำๆ ไม่ค่อยมีมัน

9.เนื้อควายมีมันสีขาว ปรุงสุกแล้วจะเหนียวกว่าเนื้อวัว

เนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคในครัวเรือนควรจะไปตลาดตอนเช้าตรู่ เพื่อจะได้ซื้อเนื้อสัตว์ที่เพิ่งส่งมาจากโรงฆ่าสัตว์ใหม่ๆ จะทำให้ได้ของสด สามารถเก็บไว้ได้นาน และไม่ควรไปซื้อเนื้อสัตว์ในวันพระ เพราะคุณจะได้เนื้อสัตว์ที่แช่แข็ง ซึ่งทำให้คุณค่าทางอาหารลดลงไปมาก