posttoday

เมดินิลลา และโคลงเคลงไม้ดอกถิ่นเอเชีย

19 มกราคม 2557

ไม้ประดับซึ่งให้ดอกงดงามกลุ่มนี้มีมากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่นำเข้าจากฟิลิปปินส์

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

ไม้ประดับซึ่งให้ดอกงดงามกลุ่มนี้มีมากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นถิ่นดั้งเดิมที่มีชื่อเสียงของไม้ประดับสกุลนี้ เราอาจพบเมดินิลลาได้ทั่วไปตามป่าดงดิบ ในระดับประมาณ 8001,200 เมตร ทั่วทั้งเกาะลูซอน และหมู่เกาะใกล้เคียง ชาวบ้านจะตัดกิ่งหรือขุดต้นขนาดเล็กลงมาจำหน่ายแก่ชาวสวน ซึ่งตั้งร้านค้าข้างถนนในเมืองต่างๆ จากนั้นพ่อค้าจะนำมาจำหน่ายในตลาดนัดวันอาทิตย์ ในกรุงมะนิลา ก่อนจะเดินทางสู่มือพ่อค้าคนกลางในกรุงเทพฯ ต่อไป

เมดินิลลา (Medinella) อยู่ในวงศ์ Melastomaceae ซึ่งคนไทยรู้จักพืชในวงศ์นี้หลายสกุลหลายชนิด โดยส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า “เคลง” นำหน้า เช่น เคลงก้างแดง ทางภาคใต้ (Medinilla constricta) เคลงย้อย (M.alpestris) พบทางภาคใต้ เคลงลายอสะโตง (M.carkei) พบทางภาคใต้ เช่นที่นราธิวาส เช่นเดียวกับเคลงเคอ (M.curtisii) และอื่นๆ อีกนับสิบชนิด

โคลงเคลงที่ชาวบ้านรู้จักกันทางภาคตะวันออกและภาคกลางนั้นอยู่คนละสกุลกับเมดินิลลาคืออยู่ในสกุลเมลาสโตมา (Melastoma) แต่ร่วมวงศ์เดียวกัน โคลงเคลงเป็นไม้พุ่มเตี้ย เนื้อแข็งมีหลายชนิด ส่วนใหญ่ดอกมี 5 กลีบ สีม่วงชมพู ที่กระจายพันธุ์มาก ได้แก่ โคลงเคลงขี้นก (Melastoma malabathricum) บางครั้งใช้ชื่อสากลว่า Indian Rhododendron บางชนิดนับเป็นชนิดย่อย (subsp.) เช่น subsp. Normale พบที่เชียงใหม่เรียกกันว่า อ้า หรือ อ้าหลวง ส่วนโคลงเคลงตัวผู้ (M.orientale) พบทางภาคตะวันออกไกลชายแดนไทยเขมร บนดอยสูงภาคเหนือ ชาวเขาเผ่ามูเซอร์ยังเรียกโคลงเคลงอีกชนิดที่ขึ้นตามดอยสูงระดับ 1,0001,000 เมตร ว่า อี้สี่ (M.pulcherrimum) ส่วนคำว่าเอ็นอ้านั้นคือโคลงเคลงยวนซึ่งพบในภาคตะวันออกและอุบลราชธานี โคลงเคลงช้าง (M.sanguineum) มีขนออกสีแดงตามผลแก่ และมักมีดอกขนาดใหญ่เรามักพบทางภาคใต้ เช่น ที่พังงา ระนอง

เมดินิลลา และโคลงเคลงไม้ดอกถิ่นเอเชีย

 

เทคนิคการปลูกเลี้ยง

เมดินิลลาเป็นสกุลของไม้พุ่มจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่แล้วแต่ชนิด (species) บางชนิดเช่น M.magnifica มีความสูงได้ถึง 1.5 ม. (5 ฟุต) ลำต้นกิ่งเป็นเหลี่ยม ส่วนโคนลำต้นกลายเป็นเนื้อไม้แข็งสีน้ำตาลใบยาวประมาณ 30 ซม. (1 ฟุต) ใบหนา ผิวใบเป็นมันเห็นเส้นใบชัดเจนเป็นจุดเด่น นอกเหนือจากช่อดอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ เพราะมีใบประดับขนาดใหญ่ห่อดอกจริงขนาดเล็กไว้ภายใน ช่อดอกนี้เกิดและบานอยู่ได้นาน ซึ่งพบในป่าดิบชื้นแถบลูซอนจะมีขนาดถึง 7080 ซม. (2830 นิ้ว) ทีเดียว เมดินิลลาชอบอากาศร้อนชื้น กลางคืนเย็น มีความชื้นสูง จึงจะเติบโตให้ช่อขนาดใหญ่เช่นในถิ่นเดิมของมัน

เมดินิลลาทุกชนิดมีความสวยงามเฉพาะตัว เช่น เคลงเคอ (M.curtisii) พบแถบภาคใต้และอินโดนีเซีย และ M.javanensis และ M.sieboldiana พบแถบโมลุคกะและ M.venosa พบในมาเลเซีย

ดินปลูกเมดินิลลาควรร่วนโปร่งเบา ใช้อินทรีย์วัตถุประกอบดินผิว เช่น ใช้กาบมะพร้าวสับผสมใบก้ามปูผุให้จะปลูกได้งดงามมาก และควรใช้ภาชนะขนาดให้เหมาะสมกับชนิด M.magnifica นั้นอาจต้องใช้ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่หรือกระถางเคลือบ ที่มีรูระบายน้ำหลายรูที่ก้นภาชนะ และใช้กาบมะพร้าวขนาดใหญ่รองก้นกระถางให้ จะช่วยการระบายถ่ายเทอากาศ เพราะเมดินิลลาเป็นพืชซึ่งอาจเริ่มชีวิตเป็นพืชอิงอาศัยในระยะแรก เมดินิลลาทุกชนิดชอบเครื่องปลูกที่เป็นกรดอ่อน ดังนั้นจึงควรใช้ใบไม้ที่ให้สภาพกรดอ่อน เช่น ใบมะขาม ใบก้ามปู ใบทองหลาง และอาจผสมแกลบหมัก (ผุพังหลังหมักไว้แล้ว 3 เดือน) อาจใช้ทรายหยาบ (ทรายแม่น้ำ) ผสมลงไปในเครื่องปลูกด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและอากาศ ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์และให้ปุ๋ยละลายช้า (slowreleased fertilizer) ช่วยทุกๆ 3 เดือน ในปริมาณที่บ่งบอกไว้ข้างถุงจะปลอดภัย

การขยายพันธุ์อาจทำได้โดยการเพาะเมล็ด แต่ต้นกล้ามักโตช้า และใช้เวลานานกว่าจะได้ดูดอก ดังนั้นวิธีดีที่สุดคือการตัดกิ่งปักชำ โดยการเลือกกิ่งที่มีสีน้ำตาลอ่อน เป็นกิ่งอายุปานกลาง ไม่ใช่กิ่งอ่อนเกินไป หรือแก่เกินไปจะออกรากยาก ทาแผลที่ตัดเป็นมุมเฉียง 45 องศา ทาฮอร์โมนเร่งราก IBA (ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป) และปักชำในทรายหยาบผสมพีท (Peat) และเติมเพอไลต์ด้วยก็ยิ่งร่วนซุยดี รดน้ำให้ชื้นสม่ำเสมอจะออกรากได้ง่าย (หากปักชำในกรุงเทพฯ ควรปักชำในกระถาง 12 นิ้ว และยกใส่ในถุงพลาสติกใส ปิดปากถุงให้แน่น ยกไว้ในที่ร่มรำไร จะช่วยให้กิ่งปักชำออกรากเร็วขึ้นและสม่ำเสมอ

เมดินิลลามีหลายชนิด แต่ละชนิดมีช่อดอกสวยงามแปลกตา จึงควรใช้เป็นไม้ประดับในบ้านได้อย่างดีและเหมาะสมในยุคปัจจุบัน