posttoday

กากเพชร ขยะชิ้นจิ๋วที่อาจทำลายระบบนิเวศ

21 กันยายน 2566

กากเพชร ถือเป็นวัสดุยอดนิยมที่มีการใช้ประดับตกแต่งกันทั่วไป อาจมีข้อถกเถียงเรื่องอันตรายแต่ด้วยไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบจึงยังไม่มีการห้ามใช้งานจริงจัง ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีงานวิจัยพบว่า กากเพชรอาจทำลายระบบนิเวศภายในน้ำ

เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักวัสดุอย่าง กากเพชร ไม่มากก็น้อย กับผงแวววาวที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงระยิบระยับ มีการใช้งานทั่วไปทั้งในหมู่เครื่องสำอาง, เครื่องประดับ, ข้าวของเครื่องใช้, งานศิลปะ ไปจนตกแต่งตามงานเทศกาล ถือเป็นของประดับยอดนิยมจากความวิววับแวววาว

 

          ความนิยมในการใช้งานกากเพชรทำให้เราสามารถพบเห็นวัสดุนี้ได้ทั่วไป แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีการรณรงค์ให้ใช้งานกากเพชรน้อยลง ด้วยเราเริ่มตระหนักรู้และพบเห็นปัญหาพิษภัยจากไมโครพลาสติกมากขึ้น และกากเพชรก็ถือเป็นวัสดุที่ทำให้เกิดไมโครพลาสติกเป็นจำนวนมาก

 

          อย่างไรก็ตามวันนี้เราไปลงรายละเอียดกันเสียหน่อยว่าทำไมการใช้งานกากเพชรจึงมีปัญหา

 

กากเพชร ขยะชิ้นจิ๋วที่อาจทำลายระบบนิเวศ

 

อันตรายของกากเพชรและข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น

 

          จริงอยู่กากเพชรถือเป็นวัสดุตกแต่งยอดนิยมมีการใช้งานกันทั่วไป แต่เริ่มมีแนวคิดระงับการใช้งานวัสดุประเภทกากเพชรเป็นวงกว้าง เมื่อเริ่มมีการค้นพบไมโครพลาสติก ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรซึ่งมีคุณสมบัติในการเข้าไปปนเปื้อนสภาพแวดล้อม และเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมากขึ้นเรื่อยๆ

 

          อัตราการปนเปื้อนไมโครพลาสติกทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีตามจำนวนขยะพลาสติกที่ไหลลงทะเล เราค้นพบการปนเปื้อนทั่วทุกมุมโลกไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ปลอดคนอย่างขั้วโลกใต้ ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนภายในน้ำทำให้ไวรัสและแบคทีเรียสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อกระเพาะอาหารของปลาและนกทะเลเช่นกัน

 

          รูปแบบของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมปัจจุบันมี 2 รูปแบบ หนึ่งคือการแตกตัวของขยะพลาสติกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อีกแบบคือผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดเล็ก เช่น เม็ดบีดส์ หรือ กากเพชร ถือเป็นขยะไมโครพลาสติกโดยตรงที่มักไหลลงท่อระบายน้ำก่อนออกสู่ทะเลโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสีย

 

          นี่จึงเป็นเหตุผลให้ขยะจากกากเพชรอาจมีอันตรายเสียยิ่งกว่าขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ ด้วยการกระจายของขยะกลุ่มนี้เพิ่มอัตราการปนเปื้อนโดยตรง อีกทั้งการปนเปื้อนไม่ได้จำกัดเพียงในธรรมชาติ แต่ลุกลามเกิดขึ้นแม้แต่กับสัตว์ในฟาร์มหรือในร่างกายของเราเอง จึงเริ่มมีแนวคิดในการห้ามใช้กากเพชรขึ้นมา

 

          อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมมากนัก แม้ไมโครพลาสติกจะมีอันตรายแต่การห้ามใช้งานอาจเร็วเกินไป เพราะยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยยืนยันอันตรายจากกากเพชรโดยตรง ทางที่เหมาะสมอาจเป็นการรณรงค์ให้มีการใช้งานอย่างถูกวิธีก็เพียงพอ

 

          แต่แนวคิดนี้อาจเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อเริ่มมีการยืนยันว่ากากเพชรอาจมีพิษภัยกว่าที่คิด

 

กากเพชร ขยะชิ้นจิ๋วที่อาจทำลายระบบนิเวศ

 

ผลกระทบจากกากเพชรต่อระบบนิเวศในน้ำ

 

          การค้นพบนี้เป็นผลวิจัยจาก University of São Paulo เมื่อพวกเขาพบว่า กากเพชร อาจส่งผลในทางลบกระทบต่อการเจริญเติบโตของ ไซยาโนแบคทีเรีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน จนอาจทำให้แบคทีเรียชนิดนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง

 

          จากการทดสอบผลกระทบของกากเพชรภายในระบบนิเวศ โดยการผสมกากเพชรลงไปในน้ำแล้วทดสอบให้แบคทีเรียชนิดนี้เติบโต พบว่ายิ่งปริมาณกากเพชรเข้มข้นเท่าไหร่ยิ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมากขึ้น โดยตั้งแต่ความเข้มข้นระดับ 137.5 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตรขึ้นไปจะแทบไม่สามารถเจริญเติบโตได้เลย

 

          การปนเปื้อนของกากเพชรภายในระบบนิเวศจึงอาจร้ายแรงยิ่งกว่าไมโครพลาสติกทั่วไปเสียอีก

 

          หลายท่านอาจตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ สาเหตุมาจาก สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน คือแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้เอง ถือเป็นแบคทีเรียในน้ำที่ทำหน้าที่รักษาระดับออกซิเจนและไนโตรเจน ตัวแปรสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตภายในน้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำที่เรารู้จักกันดีในฐานะ แพงก์ตอน

 

          ด้วยเหตุนี้เมื่อปริมาณสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในน้ำลดจำนวนลง จะส่งผลกระทบต่อค่าความอิ่มตัวออกซิเจนภายในน้ำจนอาจทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำไม่สามารถดำรงชีพได้ รวมถึงยังเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารโดยรวม จนอาจส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนอาหารเลยทีเดียว

 

          เห็นได้ชัดว่ากากเพชรกลายเป็นตัวขัดขวางการเพาะพันธุ์สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงของแบคทีเรียชนิดนี้ลดลง และความเป็นพิษนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

 

          นี่จึงอาจถึงเวลาอันสมควรที่เราต้องเริ่มผลักดันการห้ามใช้กากเพชรภายในข้าวของเครื่องใช้อย่างจริงจัง

 

 

 

          แม้จะมีการห้ามใช้งานกากเพชรก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถใช้กากเพชรได้อีก ปัจจุบันเริ่มมีการคิดค้นกากเพชรทางเลือกที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ ไปจนกากเพชรจากพืชที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมอาหารได้โดยตรง ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

          ดังนั้นสำหรับท่านที่ชื่นชอบกากเพชรนี่จึงไม่ถือเป็นจุดจบ แต่อาจต้องปรับตัวกันสักนิดเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1370

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/692108

 

          https://newatlas.com/biology/glitter-impairs-growth-cyanobacteria/

 

          https://ngthai.com/environment/6046/to-save-the-oceans-should-you-give-up-glitter/

 

          https://greennews.agency/?p=14458