posttoday

ถอดเคล็ดลับ ‘เรดดี้’ อาหารกระป๋องไทยในเมียนมา

24 พฤศจิกายน 2558

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา “เมียนมา” คือตลาดใหม่ที่ธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกต้องการเข้าไปไขว่คว้าหาโอกาส

โดย...รัชนีกร รัตนชัยฤทธิ์

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา “เมียนมา” คือตลาดใหม่ที่ธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกต้องการเข้าไปไขว่คว้าหาโอกาส ทว่าสำหรับสินค้าแบรนด์ไทยได้จับจองพื้นที่ในใจของผู้บริโภคชาวเมียนมามานานแล้ว โดยหนึ่งในนั้นคือ อาหารกระป๋องแบรนด์ “เรดดี้”

วิชัย เข็มทองคำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคโคร แมนูแฟคเจอริ่ง ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง “เรดดี้” เล่าว่า บริษัทเจาะตลาดเมียนมาตั้งแต่ปี 2537 หรือกว่า 20 ปีที่แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากการสำรวจลู่ทางการค้าในประเทศเพื่อนบ้านและความต้องการหาตลาดใหม่ จึงเห็นช่องทางการลงทุนในกลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคในเมียนมา

“ตอนนั้นเรามองต่างจากคนอื่นที่คิดว่าเมียนมาไม่น่าสนใจ แต่เราเห็นโอกาสจากการมีประชากรจำนวนมาก เมื่อเทียบกับ สปป.ลาว และกัมพูชา หากจับตลาดเมียนมาได้ที่เดียวแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะได้กำลังซื้อที่มาก
กว่า สปป.ลาวถึง 9 เท่าตัว เราเชื่อว่าเมียนมาเป็นตลาดที่ดีของสินค้าไทย จึงมุ่งเจาะตลาดนี้”

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตสินค้าในกรุงย่างกุ้งและมีโรงงานของซัพพลายเออร์ในมะริด ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ปลากระป๋อง ไก่กระป๋อง เนื้อกระป๋อง และซอสปรุงรสต่างๆ ซึ่งเนื้อสัตว์จะใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตในเมียนมา แต่นำเข้าบรรจุภัณฑ์และฉลากจากไทยเนื่องจากคุณภาพดีกว่า โดยโรงงานผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดท้องถิ่นเท่านั้นยังไม่ได้ส่งออก เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านทุนและแรงงาน ขณะเดียกันบริษัทมีศูนย์กลางกระจายสินค้าในเมืองมัณฑะเลย์ มะริด และเมะทีรา 

สำหรับช่องทางจำหน่ายมี 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.รถขายส่งสินค้าที่ขนสินค้าไปร้านค้าปลีก 2.ลูกค้าร้านขายส่ง 300 ราย 3.ห้างสรรพสินค้ากว่า 100 ราย และ 4.ลูกค้าร้านค้าปลีก 7,000 ราย

“การมาสร้างโรงงานผลิตสินค้าในเมียนมามีข้อดีหลายอย่าง ทั้งต้นทุนแรงงานถูก ธุรกิจการผลิตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล การผลิตสินค้าในประเทศไม่ต้องเสียภาษี การขนส่งสะดวก และต้นทุนการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผลิตในประเทศต่ำกว่าสินค้านำเข้า”

วิชัย อธิบายถึงแนวคิดการผลิตสินค้าของบริษัทว่า เน้นผลิตสินค้าดีมีคุณภาพตอบสนองความต้องการของคนท้องถิ่น มีราคาเหมาะสม  ซึ่งบริษัทมีคนท้องถิ่นทำงานฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้รู้ว่าคนท้องถิ่นชื่นชอบสินค้าแบบไหน จึงสามารถตอบโจทย์คนท้องถิ่นได้ดี

“ชาวเมียนมานิยมรับประทานอาหารที่ค่อนข้างมัน เราจะมีการทดสอบคุณภาพสินค้าประมาณ 6 เดือน ก่อนผลิตสินค้าออกจำหน่ายจริง”

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงระดับบน ซึ่งจะเน้นคนที่อยู่ในพื้นที่ไกลทะเล เช่น คนทำงานในเหมืองแร่ ป่าไม้ และคนที่ชอบของอร่อยรสชาติใหม่ๆ ทั้งนี้การที่คนเมียนมามีความผูกพันกับแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบสูง ทำให้สินค้าเรดดี้ประสบความสำเร็จในตลาดนี้มานาน 

อย่างไรก็ตาม วิชัย ยอมรับว่า “ราคา” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า  เนื่องจากปัจจุบันตลาดเมียนมามีการแข่งขันสูง มีสินค้าจากคู่ค้ารายใหม่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ ซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับตัวอย่างมาก โดยพยายามลดต้นทุนต่อหน่วยและพัฒนาคุณภาพสินค้าอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า

“เรากลัวคู่แข่งจากต่างประเทศมากกว่าเพราะคู่แข่งในประเทศมักเป็นคู่แข่งระดับเดียวกัน แต่คู่แข่งจากต่างประเทศส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความพร้อมมากทั้งในด้านทุนและคุณภาพสินค้า”

ด้านอุปสรรคในการทำธุรกิจ วิชัยชี้ว่าคือปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้าที่ยังขาดแคลนและยังไม่เสถียรเท่าที่ควร ทักษะแรงงานที่ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกมากและต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ยังสูง ขณะที่อุปสรรคหลักๆ ที่เคยมี เช่น ความไม่ชัดเจนของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลเมียนมามีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

วิชัย ทิ้งท้ายถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตว่า บริษัทมีแผนขยายโรงงานที่เมืองมะริด เพราะเล็งเห็นว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ มีต้นทุนแรงงานถูก มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการตั้งโรงงาน