posttoday

ศิลาจารึกที่ว่างเปล่า ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

16 ธันวาคม 2561

จารึกวัดพระเชตุพนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

โดย พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ ป.ธ.9)ผจล.วัดพระเชตุพนฯ

จารึกวัดพระเชตุพนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงแผ่นศิลาประดับไว้ทั่วทั้งพระอารามมีจำนวนมากนับพันแผ่น จากการสำรวจเพื่อนำเสนอยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาตินั้น พบจารึกจำนวน 1,440 รายการ

ความจริงแล้วจะต้องมีมากกว่า 2,000 รายการ เพราะจากการสำรวจตรวจสอบพบจารึกที่ชำรุดสูญหายจากการรื้อถอนศาลาทิศตะวันออกของพระมณฑปไปหนึ่งหลัง เพื่อสร้างพระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีจารึกโคลงโลกนิติ และในรัชกาลที่ 5 มีการรื้อศาลารายรอบวัดจำนวน 8 หลัง เพราะชำรุดมาก ไม่มีงบประมาณที่จะปฏิสังขรณ์ ดังนั้น จารึกเรื่องตำรายาและชาดกในศาลานั้นๆ จึงสูญหายไปด้วย

แผ่นจารึกว่างเปล่า

ศิลาจารึกที่ว่างเปล่า ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

จากการตรวจสอบค้นคว้าหาหลักฐานจากเอกสารตัวเขียนในหนังสือ สมุดไทยที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เพื่อนำมาสอบทาน พบว่ามีต้นฉบับและสำเนาคำจารึกที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมที่จะจารึกลงแผ่นศิลาวัดพระเชตุพน แต่ยังมิได้จารึก พบว่ามีเรื่องราวที่มีความสำคัญมาก อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

1.สำเนาจาฤกแผ่นศิลา ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เลขที่ 31/ก มัดที่ 11 หนังสือสมุดไทย จ.ศ. 1193 เป็นเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียดการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งที่เป็นอาคารทางสถาปัตยกรรม ส่วนประดับอาคารและการจารึกเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละแห่งโดยละเอียด ข้อความนี้คง
เป็นต้นฉบับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ เป็นโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ 3 ข้อความตอนท้ายยังระบุว่า มีข้อความต่อให้ไปดูที่พระวิหารพระพุทธไสยาส

แสดงว่าจาฤกเรื่องนี้น่าจะเตรียมไว้เพื่อจารึกในพระวิหารพระโลกนาถ (ทิศตะวันออก) ซึ่งมีศิลาแผ่นใหญ่ขนาดสูง 1.11 เมตร ยาว 2.03 เมตร กรอบบนแกะสลักลายดอกพุดตาน ซึ่งยังว่างเปล่าอยู่คู่กับจารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ 1

2.สำเนาพระราชดำริห์ว่าด้วยการทรงสร้างพระพุทธไสยาศน วัดพระเชตุพน เลขที่32 มัดที่ 11 หนังสือสมุดไทย จ.ศ. 1193 สันนิษฐานว่า เป็นต้นฉบับร่างขึ้นเพื่อที่จะจารึกลงแผ่นศิลาในพระวิหารพระพุทธไสยาส ด้านทิศเหนือตรงช่องหน้าต่าง มีแผ่นศิลาใหญ่ ขนาดกว้าง 1.16 เมตร สูง 2.23 เมตร มีกรอบหินแกะสลักเป็นลายดอกพุดตาน ยอดทรงมงกุฎ มีมังกรดั้นเมฆ 2 ตัวอยู่ข้างบน ข้างล่างมีนกยูงรำแพน 2 ตัว สองข้างเป็นลายประแจจีนสลับด้วยนกและผีเสื้อสวยงามมาก ยังไม่มีข้อความจารึก

สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต ขณะที่พระวิหารพระพุทธไสยาสยังสร้างไม่เสร็จ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 4 ข้อความในต้นฉบับนั้นก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ขาดข้อความตอนท้าย จึงยังไม่ได้จารึก

3.พระราชกฤษฎีการาชานุสาสน์วัดพระเชตุพน เลขที่ 320 มัดที่ 22 หนังสือสมุดไทย จ.ศ. 1201 เป็นกฎหมายที่เรียกว่า อาญาวัดรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเพื่อกำหนดบทลงโทษบุคคลที่มาทำอันตราย ทำให้ชำรุดเสียหาย หรือทำสกปรกภายในบริเวณพระอารามด้วยการปรับสินไหม
พันหนึ่ง และมีกรงสำหรับกักขังผู้กระทำผิด สำเนาจารึกนี้ระบุว่า โปรดเกล้าฯ ให้จาฤกลงแผ่นศิลาติดไว้กับเสาศิลา ณ วัดพระเชตุพน แต่ไม่พบศิลาจารึกเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าเสาศิลานี้อยู่ที่ไหน จะได้มีการจารึกแล้วสูญหายไปหรือยังไม่ได้จารึกกันแน่ เป็นปริศนาจะต้องศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานกันต่อไป

คำจาฤกวัดพระเชตุพนทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นข้อมูลที่พบขณะสำรวจตรวจสอบ เพื่อจัดพิมพ์หนังสือ จดหมายเหตุวัดพระเชตุพน รัชกาลที่ 1-4 เมื่อ พ.ศ. 2552 จึงได้นำมารวมพิมพ์ไว้ ณ ที่นี้ ในโอกาสฉลองจารึกวัดโพธิ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

นอกจากนี้ คณะทำงานฝ่ายนิทรรศการยังได้ออกแบบทำสำเนาจารึกลงบนแผ่นกระจกและอะครีลิกใส ตั้งไว้คู่กับแผ่นศิลาของเดิม เพื่อแสดงให้เห็นข้อความตามจารึกนั้น

ส่วนพระราชกฤษฎีการาชานุสาสน์วัดพระเชตุพนนั้น จัดทำเสาศิลาจารึกตั้งไว้ในบริเวณวัด เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงมรดกอันล้ำค่าที่สมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าได้ทรงพระราชอุทิศสร้างถวายไว้ในวัดพระเชตุพน เพื่อเป็นประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์และมหาชนตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

จึงสมควรที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันสืบทอดรักษาให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยไปตลอดกาลนาน สมดังพระราชปณิธานเทอญ