posttoday

อุตฯเข้ม12กิจการโรงงานเสี่ยงอันตรายสูง

08 พฤษภาคม 2555

อุตฯเข้มโรงงานใหญ่เสี่ยงเกิดอันตรายสูง ต้องผ่านการเห็นชอบจากรรมการเฉพาะหากขออนุญาตเปิดกิจการ

อุตฯเข้มโรงงานใหญ่เสี่ยงเกิดอันตรายสูง ต้องผ่านการเห็นชอบจากรรมการเฉพาะหากขออนุญาตเปิดกิจการ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีมาตรการเข้มงวดในการดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานใหม่สำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และมีขนาดกิจการใหญ่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นมาพิจารณาโครงการเหล่านี้โดยเฉพาะ ก่อนที่จะอนุญาตให้ประกอบกิจการได้

รวมทั้งจะมีการพิจารณารายงานการประเมินความเสี่ยงของโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย ประกอบการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการด้วย จากเดิมที่จะมีดูรายงานความเสี่ยงแค่ในขั้นตอนการต่อใบอนุญาตและการขอขยายโรงงานเท่านั้น

ขณะเดียวกัน โรงงานที่ดำเนินการอยู่แล้วกระทรวงฯจะให้ทำการทบทวนรายงานความเสี่ยงของแต่ละโรงงานให้ถี่ขึ้น โดยจะดูว่าโรงงานดังกล่าวมีการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างไร และมีกิจกรรมใดที่จะต้องเพิ่ม หรือลดในการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ มีการชี้ชัดว่าจุดใดของโรงงานมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย และความเสี่ยงมีวิธีแก้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งจากเดิมจะมีการทบทวนเมื่อมีการต่อใบอนุญาตโรงงาน และขอตั้งขยายโรงงานเท่านั้น แต่ตอนนี้อาจให้มีการทบทวนทุก 3 เดือน ให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ กระทรวงจะจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่มีความชัดเจน โดยให้กรอ.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยเฉพาะข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย และข้อมูลการป้องกัน เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจนและส่งถึงผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนในพื้นที่อย่างรวดเร็ว

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯจะต้องแก้ประกาศกระทรวง เรื่องมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน พ.ศ. 2552  เพื่อให้การนำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน มาประกอบการพิจารณาอนุญาตดำเนินกิจการ โดยประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงสูง มีทั้งหมด 12 ประเภท ได้แก่ 1.โรงงานสกัดน้ำมันจากพืช สัตว์ หรือเฉพาะที่ใช้สารตัวทำละลายในการสกัด

2.โรงงานเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัตถุอันตราย 3.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปุ๋ย หรือสารป้องกันศัตรูพืช ยกเว้นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และการผลิตที่ไม่ใรการใช้สารแอมโมเนียม หรือโปแตสเซียมคลอเรต 4.โรงงานผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก หรือเส้นใยสังเคราะที่ไม่ใช่แก้ว 5.โรงงานผลิตสี น้ำมันชักเงา เชลแล็ก แล็กเกอร์ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ยาหรืออุด 6.โรงงานทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด หรือดอกไม้ไฟ หรือการทำคาร์บอนดำ

7.โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 8.โรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ถ่านหิน หรือลิกไนท์ 9.โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งไม่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่ายก๊าซ 10. โรงงานบรรจุก๊าซ 11. โรงงานห้องเย็น เฉพาะที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น 12. โรงงานผลิต ซ่อมแซม ดัดแปลงเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรมฯจะต้องกำหนดขนาดของกิจการที่จะต้องจัดทำรายงานดังกล่าวใหม่ โดยจะเน้นที่โรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อโรงงานขนาดเล็ก  โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นควบคุมการดูแลสารเคมีในโรงงานเข้มงวดขึ้น รวมถึงปรับเพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียมรายปีของโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น โดยจะจัดเก็บเป็นขั้นบันได เพื่อนำเงินมาจัดตั้งกองทุนดูและสิ่งแวดล้อมและการเข้าไปเยียวยาชุมชนให้รวดเร็วขึ้น