svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'ถุงยางอนามัย' ช่วยป้องกันอะไรได้บ้าง?

31 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดประโยชน์ "ถุงยางอนามัย" ก่อนเริ่มใช้สิทธิบัตรทองฯ รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป

ต้อนรับเดือนแห่งความรัก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินหน้าสนับสนุนบริการถุงยางอนามัยอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมถุงยางอนามัย 94.56 ล้านชิ้น สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์สามารถขอรับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป

\'ถุงยางอนามัย\' ช่วยป้องกันอะไรได้บ้าง?

โดยผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับถุงยางอนามัยได้ที่หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้านยา และคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” บนสมาร์ทโฟน และในกรณีผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนรับบริการได้ที่หน่วยบริการโดยตรง ส่วนขนาดถุงยางอนามัยที่จัดให้บริการ มี 4 ขนาด เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการและสามารถเลือกขนาดถุงยางอนามัยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงช่วยลดปัญหาภาวะท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น

ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันอะไรได้บ้าง?

ช่วยคุมกำเนิด ถุงยางจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % หากใช้อย่างถูกวิธี

ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้มากถึง 70-87% ในกลุ่มชายรักชาย และมากกว่า 90 %ในกลุ่มคู่รักชายหญิง (กลุ่มชายรักชาย ถุงยางอนามัยมีเปอร์เซ็นต์ป้องกันต่ำกว่า เนื่องจากมีการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นหลัก ซึ่งอาจมีการฉีกขาดของทวารหนักระหว่างร่วมเพศ จึงมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV มากกว่าการร่วมเพศแบบปกติของชายหญิง)

ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหนองในแท้และเทียม โรคซิฟิลิส ได้ 50-90%

\'ถุงยางอนามัย\' ช่วยป้องกันอะไรได้บ้าง?

รู้จัก “กามโรค” หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย

ซิฟิลิส

สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum

ระยะฟักตัว : 10 – 90 วัน (เฉลี่ย 21 วัน)

อาการโรค ระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศ เป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ ถ้าไม่ได้รักษา แผลจะหายได้เอง แต่โรคจะดำเนินต่อไป มีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า ทวารหนัก และช่องปาก ผมร่วง ปวดข้อ

ถ้ายังไม่ได้รักษาอีก โรคจะเข้าสู่ระยะสงบ ไม่มีอาการ ทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น หลังจากนั้นอีกหลายปีจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค มีผิวหนังเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และเสียชีวิตในที่สุด

 

หนองในแท้

สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae

ระยะฟักตัว : 2 – 7 วัน

อาการโรค ผู้ป่วยชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ ส่วนในผู้ป่วยหญิงอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น ตกขาว ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน ท่ออสุจิตีบตัน ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นหมัน ผื่นขึ้นตามลำตัวและเยื่อบุ ปวดตามข้อ

 

หนองในเทียม

สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis

ระยะฟักตัว : เฉลี่ย 7 วัน

อาการโรค มีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองใสไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ บางรายอาจไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในลักษณะเดียวกับโรคหนองในแท้

 

เริม

สาเหตุ : เชื้อไวรัส Herpes simplex virus

ระยะฟักตัว : 2 – 14 วัน

อาการโรค มีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกลุ่ม ร่วมกับอาการปวด แสบ และคันบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก บางรายมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ริมฝีปาก ในช่องปาก เมื่อมีการติดเชื้อเริมแล้วเชื้อจะหลบอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายอ่อนแอจะสามารถทำให้เกิดโรคเริมกำเริบขึ้นได้

 

เอชพีวี HPV

สาเหตุ : เชื้อไวรัส Human papilloma virus

ระยะฟักตัว : 3 เดือน จนถึงหลายปี

อาการโรค ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหลังติดเชื้อ จะแสดงอาการหลังติดเชื้อได้ 2 ลักษณะคือ อาการหูดหงอนไก่ มีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อ ผิวขรุขระ และไม่เจ็บบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก และอาการของโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก

 

ใครเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

คนที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย มีคู่นอนหลายคน อายุน้อย ไม่ใส่ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด

สามารถติดโรคจากคนที่ไม่มีอาการ ภายนอกดูแข็งแรงปกติ ได้หรือไม่ ?

ในบางระยะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนได้ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยแม้เพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเชื้อเอชไอวีได้

จะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง และให้ความสำคัญกับการพาคู่นอนมารับการตรวจรักษา ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาจะช่วยควบคุมอาการโรคได้ แต่การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต 

วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้าง ?

  1. การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  2. การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  3. การตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย และการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

 

logoline