svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ชวนดู ‘Pluto’ อนิเมะที่เอาเนื้อหา Astro Boy มาดัดแปลงใหม่

26 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากผลงาน Astro Boy ของ โอซามุ เทซูกะ สู่อนิเมะ 'Pluto' ที่ตีความใหม่ให้ลึกลับและเป็นปริศนาด้วยฝีมือของ นาโอกิ อูราซาวะ ผู้สร้างผลงานเรื่อง Monster และ 20th Century Boys

เดือนตุลาคมของแต่ละปี ฝั่งอเมริกาก็จะไฮป์ (hype) หรือตื่นเต้นไปกับหนังผีและหนังสยองขวัญ เพื่อต้อนรับเทศกาลฮาโลวีน แต่ถ้าข้ามมาฝั่งญี่ปุ่น เดือนตุลาคมคือช่วงเปลี่ยนฤดูกาลและเป็นช่วงที่จะมีอนิเมะเรื่องใหม่ๆ ออกฉาย หนึ่งในนั้นคือ ‘Pluto’ อนิเมะที่อยากชวนทุกคนไปนั่งดูและเนื้อเต้นไปพร้อมกัน

ชวนดู ‘Pluto’ อนิเมะที่เอาเนื้อหา Astro Boy มาดัดแปลงใหม่ Pluto เป็นผลงานอนิเมะแนวไซไฟที่ปล่อยตัวอย่างออกมาแล้วดูอลังการจัดจ้าน ทั้งงานภาพที่โชว์เทคโนโลยีทันสมัยในเรื่อง ความยิ่งใหญ่ของฉากต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์ด้วยกันเอง ทั้งยังแปะมาบนหน้าหนังด้วยชื่อของบุคลากรจำนวนมาก เหมือนจะบอกว่าอนิเมะเรื่องนี้จัดหนักจัดเต็มแน่ แต่มันจะดูไฮป์สมโฆษณาไหม เราจะมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

ตัวอนิเมะเรื่อง ‘Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์’ เดิมทีแล้วเป็นมังงะที่ได้อาจารย์นาโอกิ อูราซาวะ (Naoki Urasawa) ที่จับคู่กับอาจารย์ทาคาชิ นางาซากิ (Takashi Nagasaki) ร่วมกันสร้าง และออกตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2003-2009 แต่มังงะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการจับเอาผู้สร้างผลงานเรื่อง Monster และ 20th Century Boys ที่ถนัดการเล่าเรื่องลึกลับซับซ้อนมาวาดผลงานแนวไซไฟโลกอนาคตเท่านั้น เพราะตัวเนื้อเรื่องของ Pluto เป็นการนำเอาเนื้อหาจากผลงานมังงะคลาสสิกเรื่อง เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy หรือ เจ้าหนูอะตอม) ตอน หุ่นยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ของ โอซามุ เทซูกะ (Osamu Tezuka) ปรมาจารย์แห่งการ์ตูน มารีเมกใหม่ แล้วเสริมเรื่องราวที่เต็มไปด้วยปริศนาซ่อนเงื่อนเข้าไป
Astro Boy เจ้าหนูปรมาณู

ทำให้เรื่องราวใน Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ ปรับเปลี่ยนจากการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าหุ่นยนต์ตัวไหนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก กลายเป็นเรื่องราวแนวรหัสคดีในยุคอนาคต ที่หุ่นยนต์กลายเป็นเทคโนโลยีร่วมโลก พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือ เป็นอาวุธ หรือเป็นเพียงเพื่อนของมนุษย์เท่านั้น พวกเขายังได้รับสิทธิเหมือนกับประชาชนปกติ และอยู่ร่วมกันกับมนุษย์อย่างสงบสุข

จนกระทั่งมีคดีอาชญากรรมสองคดีเกิดขึ้น คดีแรกเป็นคดีฆาตกรรม 'มองบลังค์' หนึ่งในหุ่นยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ที่ไม่น่าจะมีใครมาทำร้ายได้ และอีกหนึ่งคดีที่มีมนุษย์ถูกฆาตกรรมภายในห้องพักตนเอง ทั้งสองคดีกลับมีจุดร่วมเดียวกัน ผู้เคราะห์ร้ายในสองคดีนี้โดนเสียบเขาบริเวณศีรษะ และนั่นทำให้ทั้งสองคดีทวีความน่ากังวล เพราะผู้ก่อเหตุดังกล่าวอาจเป็นหุ่นยนต์ที่มีพลังสูงยิ่งกว่าที่คนบนโลกนี้จะเคยรู้จักมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานตำรวจสหภาพยุโรป หรือ ยูโรโพล จึงได้ส่งสุดยอดหุ่นยนต์นักสืบ เกซิกต์ รับผิดชอบตามหาคนร้ายของคดีดังกล่าว แต่เมื่อเสาะเบาะแส เขาก็ได้พบว่าสิ่งที่อาจจะเป็นคนร้ายของคดีนี้คือ 'พลูโต'

นาโอกิ อูราซาวะ

เนื้อเรื่องที่เข้มข้นข้างต้นก็เข้าทางกับสไตล์การวาดของอาจารย์นาโอกิ อูราซาวะ ที่ถนัดในการจัดจังหวะเรื่องราวบนหน้ากระดาษ จนหลายครั้งทำให้คนอ่านต้องหยุดหายใจและกรีดร้องวอนขอตอนใหม่ให้ออกมาเสียที ตัวอาจารย์เองก็รับรู้ถึงจุดแข็งของตัวเองเป็นอย่างดี ส่งผลให้เขาไม่ยอมให้ตีพิมพ์ผลงานในรูปแบบ E-book จนถึงช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา เนื่องจากเทคโนโลยีของ E-book สามารถนำเสนอในแบบที่อาจารย์พึงพอใจได้แล้ว
 

ผลพวงจากสไตล์การเล่าเรื่องผ่านหน้ากระดาษอันเป็นเอกลักษณ์ของ นาโอกิ อูราซาวะ นี่เอง ที่ทำให้การดัดแปลงผลงานจากมังงะมาเป็นอนิเมะนั้นมีความยากเย็นอยู่เสียหน่อย แต่ก็โชคดีที่การดัดแปลง Pluto มาเป็นอนิเมะนี้ได้ มาซาโอะ มารูยามะ (Masao Maruyama) โปรดิวเซอร์อนิเมชั่นรุ่นใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นมาช่วยดูแลงานสร้าง

มาซาโอะ มารูยามะ น่าจะเป็นคนทำงานในอุตสาหกรรมอนิเมชั่นที่เข้าใจการดัดแปลงมังงะของ นาโอกิ อูราซาวะ มากที่สุดคนหนึ่ง เพราะตัวเขาเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้อนิเมะเรื่อง Yawara, Master Keaton และ Monster คนปีศาจ มาแล้ว คนทำงานมือเก๋าท่านนี้ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโออนิเมะ Madhouse ผู้ผลิตอนิเมะ Perfect Blue รวมถึงสตูดิโอ MAPPA ผู้ผลิตอนิเมะ มหาเวทย์ผนึกมาร ก่อนจะมาก่อตั้ง Studio M2 ที่เป็นผู้ผลิตอนิเมะ Pluto 

และโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นท่านนี้ก็เคยกล่าวไว้ว่า จริงๆ พวกเขาใช้เวลาพัฒนาผลงานเรื่องนี้มานานแล้วด้วย “พวกเราทำงานกับ Pluto มาราวสิบปี และนี่อาจจะเป็นการสร้างผลงานที่นานที่สุดเท่าที่พวกเราเคยทำมา พวกเราได้ทำการทุ่มเททุกอย่างลงไปในอนิเมะเรื่องนี้แล้วครับ”

มารูยามะยังให้เหตุผลว่าเวลาหลังจากมังงะตีพิมพ์มา 20 ปี ก็กลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการฉาย Pluto “หุ่นยนต์ได้พัฒนาไปไกลมาก และเรายังมีปัญญาประดิษฐ์ ผมคิดว่าหลายสิ่งในยุคสมัยนี้ก็กลายเป็นจริงเหมือนกับที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่อง” ก่อนที่เขาจะกล่าวต่อว่า “เจ้าหนูปรมาณู ถูกสร้างมามากกว่า 60 ปี และเนื้อเรื่องของอูราซาวะก็ถูกสร้างมามากกว่าสิบปี ผมคิดว่าศิลปินเหล่านี้ ผู้มีวิสัยทัศน์เช่นนี้ มองเห็นหลากหลายสิ่งก่อนกาล และผมคิดว่าตอนนี้เวลาได้ไล่ตามเรื่องราวของพวกเขาทันแล้ว”

Pluto

ส่วนนักอ่านมังงะรุ่นเก๋าอาจจะกังวลว่าผลงานอนิเมะจะทิ้งกลิ่นอายของ โอซามุ เทซูกะ ไปจนหมดหรือเปล่า Pluto ฉบับอนิเมะก็มี มาโคโตะ เทซูกะ (Tezuka Makoto) ลูกชายของอาจารย์โอซามุ เทซูกะ มาร่วมดูแลงานสร้างในฐานะผู้คุมบังเหียนของ Tezuka Productions อีกด้วย เรียกได้ว่าถึงผลงานอนิเมะจะทันสมัยตามเทคโนโลยีปัจจุบันแต่จะมีการเดิมเรื่องเข้มข้นตามวิสัยของ นาโอกิ อูราซาวะ และแทรกด้วยกิมมิกเกี่ยวกับอาจารย์ โอซามุ เทซูกะ ไปพร้อมกัน

และเนื่องจาก Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ ได้ตัดสินใจทำการฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ทำให้อนิเมะเรื่องนี้เลือกที่จะทำการฉายบนแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นจำนวน 8 ตอน แทนที่จะเป็นการฉายแบบ 13 ตอน, 24 ตอน, หรือ 50 ตอน ตามวิสัยของอนิเมะจากญี่ปุ่นที่ต้องฉายโทรทัศน์ ส่วนเหตุผลในการที่ตัดจำนวนตอนมาให้เหลือเพียง 8 ตอน ทางทีมผู้สร้างก็ระบุว่าเป็นเจตนาที่ต้องการให้จำนวนตอนของอนิเมะมีเท่ากับจำนวนเล่มของมังงะต้นฉบับนั่นเอง

จากข้อมูลขั้นต้นเชื่อขนมกินได้ว่า อนิเมะเรื่อง Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ จะเป็นผลงานที่อัดแน่น ทั้งคุณภาพการสร้างของงาน ผสมรวมกับเนื้อหาที่เข้มข้น และด้วยจำนวนตอนที่ไม่มากนัก ทำให้อนิเมชั่นจากญี่ปุ่นเรื่องนี้ จะทำให้หลายคนนั่งดูจบในรวดเดียวในวันที่ 26 เดือนตุลาคมนี้

 


ข้อมูลอ้างอิง

logoline