X-ray คืออะไร ตรวจแล้วปลอดภัยหรือไม่?

X-ray คืออะไร

การตรวจร่างกายด้วยการ X-ray หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า เอกซเรย์ เป็นการใช้รังสีประเภทหนึ่งที่เรียกว่า รังสีเอกซ์ ที่มีความสามารถในการผ่านทะลุร่างกายของมนุษย์ได้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในการวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษา และติดตามผลการรักษา เอกซเรย์เป็นกระบวนการสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกายที่รวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด การ X-ray เป็นวิธีการตรวจที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยมักเป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากเป็นการคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น และเป็นการตรวจที่ง่าย และรวดเร็ว แพทย์จึงนำมาช่วยในการประเมินภาวะความผิดปกติต่าง ๆ

สารบัญ

X-ray คืออะไร?

X-ray หรือ รังสีเอกซ์ เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถทะลุผ่านวัตถุ ผ่านเซลล์ (cell) เนื้อเยื่อ (tissue) และอวัยวะ (organ) ในร่างกายได้ รังสีเอกซ์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สำหรับถ่ายภาพเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะฉายรังสีไปยังอุปกรณ์รับภาพ ผ่านการสร้างภาพออกมาเป็นภาพของอวัยวะ เครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ เรียกว่า “เครื่องเอกซเรย์” ซึ่งแพทย์สามารถนำภาพที่ได้มาวินิจฉัยหาความผิดปกติเบื้องต้นของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ กระดูก ทรวงอก และอวัยวะภายในอื่น ๆ

การเอกซเรย์ คืออะไร

ชนิดของเครื่องเอกซเรย์

ปัจจุบันเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์ได้มีการพัฒนาไปอย่างมากเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น โดยทั่วไปเครื่องในการตรวจเอกซเรย์ที่เรารู้จัก ได้แก่

เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป (general X-ray machine)

เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อนำมาวินิจฉัยโรคต่าง ๆ สามารถใช้สร้างภาพต่าง ๆ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ เช่น กะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง แขน ขา ปอด และช่องท้อง เป็นต้น

เครื่องเอกซเรย์ฟัน (dental X-ray machine)

เป็นเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในงานทันตกรรม เพื่อดูลักษณะฟัน รากฟัน รวมไปถึงกระดูกขากรรไกรและกระดูกใบหน้า

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography machine)

หรือที่เรียกว่า CT scan เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้เทคนิค tomography มาทำการสร้างภาพ โดยภาพที่ได้จะมีลักษณะเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งจะให้รายละเอียดของภาพที่ดี ซึ่งปัจจุบันถูกใช้มาวินิจฉัยความผิดปกติของร่างกายได้หลาย ๆ อวัยวะ

X-ray ส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?

X-ray สามารถใช้ได้กับร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่ กะโหลกศีรษะ ไซนัส ฟัน กระดูกทุกชิ้นส่วน ปอด หัวใจ และช่องท้อง โดยแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  1. กระดูก: เป็นการเอกซเรย์เพื่อดูสภาพหรือความผิดปกติของกระดูก เช่น การหัก แตก ร้าว ของซี่โครงและกระดูกสันหลัง การคด งอ ผิดรูปตามธรรมชาติของกระดูก หรือฟัน
  2. ทรวงอก: การเอกซเรย์สามารถวินิจฉัยถึงโรคที่เกี่ยวกับปอด หัวใจ หรือระบบหลอดเลือดหัวใจ แต่ถ้าเป็นการเอกซเรย์เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งเต้านมจะเรียกว่า“แมมโมเแกรม
  3. ช่องท้อง: เป็นการเอกซเรย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและหาสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย

การเตรียมตัวก่อน X-ray

โดยปกติการเอกซเรย์ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใด ๆ เป็นพิเศษ สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ยกเว้นในบางรายที่ต้องกลืนสารไอโอดีนหรือแบเรียม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา การดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหาร เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสารที่ใช้ในการเอกซเรย์ 

การแต่งกายควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่แน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีโลหะ หากเคยผ่านการผ่าตัดฝังอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของโลหะในร่างกาย ควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่รังสีทราบล่วงหน้า หากสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หรือทราบว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง

ประโยชน์ของ X-ray

รังสีเอกซ์ หรือเอกซเรย์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งด้านการวินิจฉัยโรคและความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงใช้ประโยชน์ในด้านการรักษา เช่น การใช้รังสีเอกซ์รักษาโรคมะเร็ง หากเปรียบเทียบกันระหว่างประโยชน์และโทษของเอกซเรย์แล้ว มีการศึกษายืนยันว่าเอกซเรย์นั้นให้ประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะให้ประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคมากกว่าผลเสียจากความเสี่ยงของการได้รับอันตรายจากเอกซเรย์ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรได้รับรังสีเอกซ์เกินระดับปลอดภัยตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสี

เอกซเรย์ปลอดภัยหรือไม่?

การทำเอกซเรย์โดยทั่วไปมีความปลอดภัย เพราะร่างกายจะได้รับรังสีจาก X-ray ในปริมาณน้อยมาก นอกจากการเอกซเรย์ทั่วไปแล้วยังมีการใช้รังสีเอกซ์สำหรับการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งต้องใช้ปริมาณรังสีที่มากกว่าเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การใช้ปริมาณรังสีที่มากนี้อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อปกติได้ด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงการเกิดมะเร็งจากการฉายรังสีรักษามีน้อยมาก อีกทั้งในปัจจุบันมีการเฝ้าระวังและแนะนำให้ใช้ปริมาณรังสีที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการตรวจผู้ป่วยแต่ละครั้ง ซึ่งทางทีมรังสีได้ระมัดระวัง และดูแลผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างปลอดภัยที่สุด

การเอกซเรย์ในหญิงตั้งครรภ์

ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการเอกซเรย์ทั่วไป เช่น การเอกซเรย์ปอด เข่า แขนขา ท้อง ฯลฯ จะได้รับปริมาณรังสีต่ำมาก ๆ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ ที่แนะนำให้เลี่ยงการเอกซเรย์ หากไม่จำเป็น โดยเฉพาะการเอกซเรย์บริเวณอุ้งเชิงกราน 

ความเสี่ยงจากการได้รับรังสีจะขึ้นกับอายุครรภ์ โดยควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมแพทย์เจ้าของไข้ที่จะพิจารณาตามความฉุกเฉิน ภาวะ หรือโรคที่สงสัย รวมถึงความจำเป็นที่ต้องตรวจวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ โดยจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปตามความเหมาะสม ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถตรวจเอกซเรย์ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจอย่างอื่นทดแทน เช่น การทำอัลตราซาวนด์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า MRI ซึ่งสามารถบอกช่วยวินิจฉัยภาวะหรือรอยโรคบางอย่างได้ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจแต่ละประเภทมีข้อจำกัด และมีความไวต่อการวินิจฉัยต่างกัน จึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

สรุป

X-ray เป็นเครื่องมือพื้นฐานของการวินิจฉัยโรคที่มีประโยชน์ สามารถช่วยวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้ดี ทั้งยังเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลข้างเคียงน้อย สามารถตรวจได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกาย เช่น กะโหลก ฟัน ปอด หัวใจ กระดูก และอื่น ๆ ทั้งยังสามารถใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทำให้เป็นตัวเลือกการวินิจฉัยแรก ๆ ที่แพทย์มักพิจารณาให้ตรวจ ทั้งนี้ทั้งนั้นในการวินิจฉัยโรค แพทย์มักจะใช้ข้อมูลจากการตรวจอื่น ๆ เช่น การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ผลเลือด หรือการผลการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

นอกจากการใช้ประโยชน์ในด้านการวินิจฉัยโรคแล้ว รังสีเอกซ์หรือเอกซเรย์นี้ยังใช้ประโยชน์ในด้านการรักษา เช่น การรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการวินิจฉัยหรือรักษาด้วยเอกซเรย์จะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ควรตรวจหรือใช้ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสี หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีเอกซ์หรือหากจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซเรย์ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีอย่างเคร่งครัด

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง