ข่าว

4ยุทธวิธี..ทวงคืน"เขาพระวิหาร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ช่วงกลางดึกวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีชาวบ้าน 2 หมู่บ้านจาก 2 ประเทศที่ลุ้นระทึกจนไม่เป็นอันหลับอันนอน เพราะไม่รู้ว่าตอนเช้าที่ลืมตาตื่น "สงครามชายแดน" จะระเบิดขึ้นหรือไม่ ในที่สุดคณะกรรมการมรดกโลกที่ประชุมกันในประเทศบราซิลก็มีมติเลื่อนการพิจารณาแผนพัฒ

 หลายคนเข้าใจผิดคิดว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิง "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งที่จริงๆ แล้วศาลโลกสั่งให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่ปี 2505 และในวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการมรดกโลกก็ผ่านการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาไปเรียบร้อยแล้วด้วย แต่ที่กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด ขนาดสั่งเคลื่อนย้ายกองทัพทหารขนาดย่อมไปกดดันที่ชายแดนทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องสิทธิในการดูแลพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ยืดเยื้อกันมานานกว่า 50 ปี

 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับผู้ชุมนุมที่เป็นตัวแทนกลุ่มภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร กลุ่มสันติอโศก และพันธมิตรภาคใต้ 16 จังหวัด เดินทางไปประท้วงกดดันองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนที่ผ่านมา และคัดค้านแผนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทพระวิหาร

 ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาก็มีรายงานว่า ชาวเขมรจำนวนหนึ่งไปรวมตัวกันที่กรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างไร พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยถอนทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ทับซ้อน บริเวณปราสาทพระวิหาร และขอให้ไทยเคารพต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส รวมถึงคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ด้วย

 "อรรถพล ศิริเวชพันธุ์" นักวิชาการศูนย์ศรีสะเกษศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผู้รับผิดชอบการดำเนินงานวิจัยชื่อ "โครงการศึกษาข้อเท็จจริงความสัมพันธ์ระหว่างปราสาทเขาพระวิหารกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษ และแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งชายแดนไทยกัมพูชา" แสดงความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย แต่กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารทั้งฝ่ายไทยและเขมร งานวิจัยชิ้นนี้อยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูล มีการสัมภาษณ์เจาะลึกข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาทางออกและข้อเสนอแนะร่วมกันในการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 "จุดสำคัญฝั่งไทยคือหมู่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 1,800 คน อยู่ห่างพื้นที่ทับซ้อน 5-6 กิโลเมตร ส่วนฝั่งเขมรคือหมู่บ้านโกมุย (Ko Muoy) อยู่ห่างไป 1 กิโลเมตร มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 400 กว่าคน ทั้งสองหมู่บ้านเป็นเพื่อนกัน พึ่งพาอาศัยกันมาตลอด แม้ว่าจะเกิดเรื่องนี้ ถ้าถามว่าชาวบ้านอยากให้ทำอย่างไร เขาก็อยากให้เปิดปราสาทพระวิหารเป็นที่ท่องเที่ยวโดยเร็วจะได้ทำมาค้าขาย ส่วนพื้นที่ทับซ้อนก็ดูแลร่วมกัน สำหรับคนไทยมีพิเศษตรงที่ว่าหากต้องเสียดินแดนก็ยอมรับไม่ได้ สำหรับยุทธวิธีแก้ปัญหาจากนี้ไปอีก 1 ปี รัฐบาลไทยต้องเจรจาปักปันเขตแดนให้ได้ เพราะการสั่งทหารทั้งสองฝ่ายให้มาเผชิญหน้ากัน ไม่ใช่ทางออกที่ดี"

 นักวิชาการข้างต้นตั้งข้อสังเกตว่า ในวันนี้เขมรไม่ต้องง้อไทยอีกต่อไป เพราะเขาสร้างถนนเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร จากพื้นที่ด้านล่างไปสู่เขตปราสาทพระวิหารได้แล้ว แม้จะไม่สะดวกเท่าทางขึ้นฝั่งไทย แต่ก็สามารถเข้าเยี่ยมชมปราสาทได้ ส่วนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กัมพูชาอยากได้ก็เพื่อนำไปปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ทำพิพิธภัณฑ์ ทำเขตอนุรักษ์ สร้างพื้นที่กันชนรอบปราสาท ฯลฯ

 "ส่วนตัวแล้วผมว่าเขาดำเนินการเร็วมาก มีการเตรียมพร้อมทุกด้าน ฝ่ายไทยก็คงไม่ยอมเหมือนกัน การหาทางออกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องยาก นอกจากสองฝ่ายต้องลดทิฐิ ก็เป็นเรื่องไม่ง่าย คงต้องรอให้หมดสมัยของ ฮุน เซน ในอนาคตอาจมีความหวังครับ" อรรถพล กล่าวติดตลก

 ขณะที่ อาจารย์พิสิฐ เจริญวงศ์ ผอ.ศูนย์ภูมิภาคด้านโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ แห่งองค์การรัฐมนตรีศึกษา ประจำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA : SEAMEO) นักโบราณคดีที่เป็นแกนนำทวงคืน "ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์" จากสถาบันศิลปะชิคาโกของอเมริกา แนะนำว่า หากอยากได้ปราสาทพระวิหารคืนมา คนไทยทั้งประเทศต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและท่าทีใหม่ทั้งหมด

 โดยเฉพาะตัวแทนของกลุ่มพรรคการเมือง นักวิชาการ หรือกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาต่อว่าขุดคุ้ยประณามว่ากลุ่มอื่นไม่ดี ไม่ฉลาด หรือไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา ฯลฯ และต้องไม่มีท่าทีดูถูกหรือรังเกียจชาวกัมพูชาที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย เนื่องจากเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน และมีประวัติศาสตร์การเจรจาต่อรองสืบเนื่องมาหลายร้อยปี ไม่มีใครรู้ความจริงทั้งหมด ไม่รู้ว่าคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นต้องตัดสินใจแบบนั้นเพราะอะไร ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้ต่อเวลาอีก 1 ปี ต้องรีบตั้งสติแล้วไตร่ตรองข้อมูลก่อนสรุปให้ถูกต้องชัดเจน โดยมียุทธวิธีสำคัญ 4 ประการ คือ

 1.ควรนำข้อเท็จจริงในอดีตมาสรุปให้สั้นๆ เข้าใจง่าย อธิบายให้ประเทศสมาชิกที่เป็นกรรมการมรดกโลกได้รับรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้อง เช่น สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ฝรั่งเศสเอาเปรียบไทยมาตลอด หรือข้อมูลเกี่ยวกับแผนการที่ฝรั่งเศสวางแผนเรื่องนี้ไว้ก่อนถอนตัวออกจากกัมพูชา คนไทยต้องไม่ลืมว่าผู้ที่ทำสัญญาเอาเปรียบไทยในเรื่องนี้คือฝรั่งเศสในสมัยนั้น ไม่ใช่กัมพูชา เช่น แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ของฝรั่งเศสที่นำมาอ้างนั้นไม่เป็นสากล เพราะแผนที่ซึ่งจะนำมาใช้ปักปันเขตแดนต้องละเอียดกว่านี้มาก

 2.กรณีของกฎหมายปิดปาก ที่ทำให้ไทยแพ้คดีศาลโลกเมื่อปี 2505 ควรมีการหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีคดีไหนที่ศาลโลกใช้กฎหมายปิดปากมาตัดสิน ถ้าหลายประเทศเห็นด้วยกับเรื่องนี้อาจทำให้เข้าใจว่าไทยไม่ได้รับความยุติธรรมจากการตัดสินคดีในอดีต เป็นการแพ้คดีเพราะถูกเล่ห์เหลี่ยมของประเทศมหาอำนาจ    

 3.รัฐบาลต้องเร่งเปิดเจรจาเสนอให้กัมพูชากับไทยได้บริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน รวมถึงการทำแผนที่ฉบับใหม่ให้ถูกต้อง เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถใช้ดาวเทียมมาช่วย ทำให้ถูกต้องแม่นยำขึ้น

 4.จากระยะเวลาที่เหลืออีก 1 ปี ก่อนจะมีการประชุมกรรมการมรดกโลกในปี 2554 ประเทศไทยต้องมีคณะกรรมการศึกษาปัญหาปราสาทพระวิหารอย่างต่อเนื่อง คัดเลือกกลุ่มที่เป็นกลางและคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย ไม่ใช่เลือกเฉพาะกลุ่มที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ต้องเป็นผู้ที่รู้ปัญหาอย่างแท้จริงและรู้ทั้งหมด ไม่ใช่กลุ่มนักวิชาการที่รู้ความจริงบางส่วน ซึ่งกลุ่มนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
 
 ทั้งนี้ในจุลสารฉบับที่ 38 ได้กล่าวถึงกรณีเขาพระวิหาร (The Mount Phra Viharn Case) โครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2551 สรุปถึงทางออกของเรื่องนี้ว่า ควรนำพื้นที่ปราสาทพระวิหารมาจัดทำเป็น "พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม (Joint Cultural Development Areas) และ "พื้นที่ท่องเที่ยวร่วม" (Joint Tourism Areas) เพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ลดความบาดหมางในอดีตให้หมดไป พร้อมกับระบุตัวเลขที่น่าสนใจ คือเมื่อปี 2549 มียอดนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมเขาพระวิหาร 4.3 หมื่นราย ประมาณว่ามีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 90 ล้านบาทต่อปี การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีก 10 เท่า หรือปีละ 900 ล้านบาท

 ข้อมูลนี้ทำให้เข้าใจทันทีว่า ทำไมกัมพูชาต้องพยายามทุกทาง เพื่อจะเร่งเปิด "ปราสาทพระวิหาร" ให้ชาวโลกได้มาเที่ยวชื่นชม ในฐานะมรดกของมวลมนุษยชาติ ?!!

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ