Lifestyle

ศิลป์แห่งแผ่นดิน : สามชุกอีกครั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลป์แห่งแผ่นดิน : สามชุกอีกครั้ง : โดย...ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

 
                       แวะไปเยือนตลาดสามชุกอีกครา หลังจากห่างเหินไปนาน สามชุกไม่ได้มีดีแค่ “ตลาดร้อยปี”
 
                       ลำน้ำท่าจีน เคยเป็นแหล่งท่าค้าขายทางน้ำ (ท่าเรืออยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) โดยศาลเก่าตั้งอยู่ตรงข้ามวัดสามชุก สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2370 และได้สร้างขึ้นใหม่ที่ตลาดใน ปี พ.ศ.2390 ต่อมาในปี พ.ศ.2467 ท่านขุนจำนงจีนารักษ์ ได้บูรณะศาลและอัญเชิญเถ้าธูปมาจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณมาบรรจุไว้
 
                       “ถึงนามสามชุกถ้า ป่าดง
 
                       เกรี่ยงไร่ได้ฟ่ายลง แลกล้ำ
 
                       เรือค้าท่านั้นคง คอยเกรี่ยง เรียงเอย
 
                       รายจอดทอดท่าน้ำ นับฝ้ายขายของ”
 
 
                       โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ปี พ.ศ.2385
 
                       “ฟ่าย” คือ “ฝ้าย”  “เกรี่ยง” คือ “กะเหรี่ยง” ครับ ส่วนคำว่า “ถ้า” ก็คือ “ท่า” (ในที่นี้เขียนเป็น “ถ้า” เพราะต้องการ “โท”)
 
                       บางคนไดยินนาม “สามชุก” ก็ถามว่า “อะไรชุก” ปลาชุก ผลไม้ชุก หรืออะไรชุกอีก ว่าพลางก็คิดไปให้ได้ 3 ชุก
 
                       “สามชุก” มาจาก “สีชุก” หรือ “กระชุก” หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่สิ่งของ เช่น ข้าว ฝ้าย สานด้วยไม้ไผ่ รูปลักษณะเหมือน “ฟักผ่าครึ่ง” ตามขวาง หรือตามยาว สำหรับวางบนเกวียน ใช้ใส่ข้าวเปลือกหรืออื่นๆ
 
                       เมืองสามชุก เป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำอีกแห่งหนึ่ง มีความสำคัญรองลงมาจากตัวเมืองสุพรรณฯ มีเรือจากต่างอำเภอไปจนถึงจังหวัดชัยนาท ขึ้นล่องค้าขาย
 
                       มาเที่ยวอำเภอสามชุก ทุกคนไม่พลาดเดินตลาดร้อยปี ก่อนอื่นควรตรงไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ เพื่อทำความรู้จักสามชุก ผ่านเรื่องเล่า ตำนาน ประวัติศาสตร์ชุมชน
 
                       ขุนจำนงจีนารักษ์ เป็นลูกจีนเกิดในไทย เมื่อเยาว์วัยไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศจีน กลับมาเมืองไทยเมื่ออายุ 20 กว่าปี สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้า โรงยาฝิ่น (สมัยนั้น “ฝิ่น” ยังมิได้ถูกจัดให้เป็นยาเสพติด)
 
                       ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคม ประกอบกับคุณงามความดี ทำให้ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นขุนจำนงจีนารักษ์ ตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี นายอากรสุรา - ฝิ่น ...บรรดาศักดินา 400 ร่า จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2474 เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลือกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทำสวนทำไร ท่านเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2517 เมื่ออายุ 83 ปี
 
                       (ข้อมูล จากหนังสือ “ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา สามชุกตลาดร้อยปี)
 
                       เที่ยวตลาดสามชุกต้องดู ต้องเห็น 1. ตู้ไปรษณีย์โบราณ สมัยรัชกาลที่6 สร้างประมาณปี 2454 ทำขึ้นในประเทศอังกฤษ ในเมืองไทย มีเหลือประมาณ 20 ตู้ 2. ร้านกาแฟท่าเรือส่ง (ขายมานับร้อยปี) 3. ร้านขายนาฬิกาโบราณ “บุญช่วยหัตถกิจ” 4. ร้านขายนาฬิกาโบราณ “รัช WJ” ชมนาฬิกาคลาสสิค “นาฬิกาลอนดอน 5. เรือนแถวไม้เก่า ไม้ฉลุ ลายขนมปังขิง 6. โรงแรมอุดมโชค เก่าแก่คู่ตลาดคูกาลเวลา 7. บ้านเถ้าแก่เช็ง-เจ๊กี ที่ลานโพธิ์ ซอย 2 8. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุก นอกเหนือจากนี้ ก็ต้องได้ชมได้เห็นได้กิน ได้กลิ่น ได้ยิน ครบอรรถรส รื่นรมย์ สมฤดี ครบถ้วนรสปัจจุบันยันอดีต
 
                       ชมเครื่องหวายร้านศิริทรัพย์ ของชำร้านป้านา มี “เครื่องลงหิน” 
 
                       ร้านขายยาแผนโบราณ “ฮกอันโอสถสถาน” มีเครื่องหั่นยา 3. เครื่องบดยาโบราณ อบอวลด้วยกลิ่นยาสมุนไพร และบรรยากาศ เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านเลย
 
                       ชมภาพถ่ายย้อนยุค - กล้องโบราณ ที่ร้าน “ศิลป์ธรรมชาติ” ชม “เครื่องทองเหลือโบราณ” ทีบ้านลิ่มเต๊กเช้ง และอีกมากมายหลายร้าน มีโรงตีเหล็ก มีบ้านสะสมของเก่า ร้านทันกรรมเก่าแก่ มี “น้ำพริกแม่กิมลั้ง”
 
                       ผมแวะไปทีไร เป็นได้ปลาม้า ทำเค็มตากแดดกี่แดดไม่รู้ละ แต่อร่อยดีสุดๆ เดินเล่นหาของกินนั่นนิด นี่หน่อย ติดมือกลับบ้าน กินก๋วยเตี๋ยวสักชาม เดินครบทุกซอยเป็นรอบที่สอง แล้วจองโต๊ะนั่งกินกาแฟ(เย็น)โบราณ กับซาลาเปา 2 ลูก เป็นที่รื่นรมย์
 
                       ผมเที่ยวตระเวนสำรวจตลาดร้อยปี ทั้งที่ “ติดตลาด” แล้ว และเป็นดาวค้างฟ้าอย่างสามชุก และทั้งที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวเติบโต
 
                       แวะมาเยือน “ตลาดร้อยปีสามชุก” อีกครา ก็พบว่ายังคึกคักไม่เสื่อคลาย เศรษฐกิจแพร่สะพัดกระจายทั่วถึง แม้แต่บ้านเล็กบ้านน้อยก็เปิดเป็นที่รับฝากรถ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ส่วนที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ก็ดูกันไปครับ
 
 
 
 
------------------------
 
(ศิลป์แห่งแผ่นดิน : สามชุกอีกครั้ง : โดย...ศักดิ์สิริ มีสมสืบ)
 
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ