เชียงราย เหนือสุดแดนสยาม (8) พระธาตุดอยตุง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง


เชียงราย เหนือสุดแดนสยาม (8) พระธาตุดอยตุง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

วัดพระมหาชินธาตุเจ้า หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กิโลเมตร และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เนื่องจากพระธาตุดอยตุงตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 เมตร

พระธาตุดอยตุงถือเป็นพระธาตุประจำปีกุน ในคติล้านนานั้นสัญลักษณ์คือช้าง (กุญชร) ไม่ใช่หมูดังที่เราเข้าใจ นอกจากนี้เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื้อนบ้านใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศเมียนม่าร์ ชาวหลวงพระบาง ชาวเวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการเป็นประจำทุกปี และในฤดูหนาวบรรยากาศรอบองค์พระธาตุจะสวยงามเป็นพิเศษเนื่องจากมีหมอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณ

ความหมายของตุง

ตุงเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การมีชัยชนะ ในวัดจะมีรอยปักตุงเป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1ฟุตอยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่าเป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปี พระธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3

ประวัติพระธาตุดอยตุง
ตามตำนานเล่าว่าพระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่พระเจ้าอชุตราชได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ แล้วจึงได้ให้ทำตุงมีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ

ต่อมาในสมัยเจ้ามังรายนราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ เจ้ามังรายนราชจึงให้สร้างเจดีย์อีกองค์หนึ่งใกล้กับพระเจดีย์องค์เดิม ด้วยเหตุนี้พระธาตุดอยตุงจึงมีเจดีย์สององค์มาจนทุกวันนี้

รูปแบบศิลปกรรม

พระธาตุดอยตุงเดิมมีเพียงองค์เดียว รูปแบบการก่อสร้างเป็นศิลปะเชียงแสนย่อมุมไม้สิบสองคล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ เมืองเชียงรายสมัยก่อนเป็นเมืองร้างอยู่หลายครั้งหลายครา พระธาตุดอยตุงจึงขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ ตัวพระธาตุทรุดโทรมและพังทลายลง ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2470 พระธาตุดอยตุงทรุดโทรมมาก ครูบาศรีวิชัยกับประชาชนชาวเมืองเชียงรายได้ร่วมกันบูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยมตามศิลปะแบบล้านนา

ในปีพ.ศ.2516 กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิมไว้ องค์พระธาตุเป็นสีทองขนาดเล็กสององค์ สูงประมาณ 5 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก ออกแบบโดยนายประกิต (จิตร) บัวบุศย์ การสร้างพระธาตุองค์ใหม่นั้นใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงแบบขององค์พระธาตุสามารถอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดังเดิมไว้ภายในได้

ในปีพ.ศ. 2549 กรมศิลปากรมีโครงการรื้อถอนรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุดอยตุงที่กระทรวงมหาดไทยได้ก่อครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นไปตามที่คนท้องถิ่นร้องขอไปยังจังหวัด และส่งต่อมายังสำนักโบราณคดี เชียงใหม่ ให้ช่วนฟื้นฟูพระสถูปในสมัยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาได้บูรณะไว้ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในวิหารพระธาตุดอยตุง ซึ่งคณะทำงานได้มีการหารือกับเจ้าคณะอำเภอเรียบร้อยแล้ว และได้ให้นำพระสถูปครอบที่ถอดออกมาไปตั้งไว้ที่วัดพระธาตุน้อยดอยตุง ซึ่งอยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์สมัยครูบาศรีวิชัยให้คืนกลับมาสภาพดังเดิมให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม 2550 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 21 ล้านบาท

พระธาตุดอยตุงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย ดังปรากฎในคำขวัญของจังหวัดเชียงราย ดังนี้

เหนือสุดในสยาม  ชายแดนสามแผ่นดิน  ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา  ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง

หมายเลขบันทึก: 695177เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2021 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท