โดย: Tonvet

แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง

มารู้จักแชมพูยารักษาโรคผิวหนังในสุนัข สรรพคุณ และวิธีใช้อย่างถูกต้องกัน

30 กรกฏาคม 2557 · · อ่าน (73,250)
1,616

SHARES


1,616 shares

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง

    
     เวลาที่น้องหมาป่วยเป็นโรคผิวหนัง นอกจากยากินและยาทาที่คุณหมอจะจ่ายมาเพื่อการรักษาโรคแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณหมอมักจะแนะนำให้เจ้าของใช้ร่วมกับการรักษาด้วย ก็คือ “แชมพูยา” จะว่าไปแล้วแชมพูยานั้น ก็มีด้วยกันมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีส่วนประกอบและสรรพคุณของยาไม่เหมือนกัน

     วันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับยาและสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในแชมพูยา มาดูกันว่า มีอะไรบ้าง แต่ละตัวยามีสรรพคุณอย่างไร และมีข้อบ่งใช้ในการรักษาอย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว...เรามาลุยกันเลยครับ
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง

 

1 คีโตโคนาโซล (ketoconazole)

 
     คีโตโคนาโซล เป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อราแบบวงกว้าง โดยไปยับยั้งการการสังเคราะห์ ergosterol ซึ่งส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ปัจจุบันมีแชมพูยารักษาโรคผิวหนังที่มีส่วนผสมของ Ketoconazole 1-2% ผลิตออกมาใช้สำหรับน้องหมาโดยเฉพาะ สามารถใช้ฟอกร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

2 ไมโคนาโซล (miconazole)

 
     ไมโครนาโซล เป็นยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อยีสต์เช่นเดียวกับคีโตโคนาโซล แต่เนื่องจากดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางการกินไม่ดี จึงมักใช้เป็นยาภายนอกร่างกายเสียส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีแชมพูยารักษาโรคผิวหนังที่มีส่วนผสมของ miconazole nitrate 2% และบางผลิตภัณฑ์อาจมีผสมร่วมกับคลอเฮกซิดีนด้วยครับ
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง


 

3 คลอเฮกซิดีน (chlorhexidine)

 
     คลอเฮกซิดีนมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (Antifungal activity) ใช้ได้ผลดีในการต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus spp. และสามารถใช้ฟอกเพื่อรักษาโรคกลาก (ringworm) ได้ และใช้ได้กับรอยโรคที่เป็นคราบสะเก็ดแห้งกรังหรือส่วนที่เป็นคราบหนอง ปัจจุบันมีแชมพูยารักษาโรคผิวหนังที่มีส่วนผสมของ chlorhexidine gluconate 2-4 % และบางผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมกับยาต้านเชื้อราช่วยให้ออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราได้ดีขึ้นด้วยครับ

 

4 เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide)

 
     เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ รวมถึงไรขี้เรื้อนรูขุมขน (ขี้เรื้อนเปียก) ได้ด้วย เหมาะสำหรับรายที่มีรอยโรคที่ผิวหนังไขมันเยิ้ม ไม่เหมาะกับรายที่มีผิวแห้ง เพราะตัวยาจะเข้าไปชะล้างรูขุมขน และขจัดคราบเคอราติน (keratolytic) บนผิวหนังออกหมด
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง


 

5 เอทิลแลคเตท (ethyl lactate)

 
     เอทิลแลคเตท มีฤทธิ์ในการรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเอทานอล (Ethanol) จะช่วยละลายไขมันบนผิวหนังที่หลั่งมาจาก sebaceous gland ส่วนกรดแลคติก (Lactic acid) จะช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างของผิวหนัง จึงทำให้แบคทีเรียตาย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยปรับลดอัตราการเจริญของเซลล์ในชั้น basal cell ในหนังกำพร้า (keratoplastic) สามารถใช้ได้รับสุนัขที่มีสภาพผิวหนังแห้งได้

 

6 ซัลเฟอร์ (sulfur)

 
     ซัลเฟอร์ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิตภายนอก เหมาะสำหรับรายที่มีผิวหนังไขมันเยิ้ม จำพวกภาวะซีบอเรีย (seborrhea) ทั้งยังช่วยขจัดเคอราติน (keratolytic) บนผิวหนัง และยังช่วยลดอัตราการเจริญของเซลล์ในชั้นหนังกำพร้าด้วยครับ
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง


7 กรดซาลิไซลิก (salicylic acid)

 
     กรดซลิไซลิก มีคุณสมบัติคล้ายกับซัลเฟอร์  คือ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ช่วยปรับสภาพเซลล์บนชั้นผิวหนังให้มีการสร้างและการลอกหลุดอย่างสมดุล ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่าง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง นอกจากนี้ยังช่วยลดการอักเสบและอาการคันได้ด้วย เหมาะสำหรับใช้รักษาภาวะซีบอเรีย (seborrhea) ในสุนัข ทั้งที่เป็นแบบสะเก็ดแห้งและแบบมีไขมันเยิ้ม

 

8 โคลทาร์ (coal tar)

 
     โคลทาร์ เป็นสารที่ได้จากถ่านไม้ มีกลิ่นและสีจำเพาะ ใช้รักษาภาวะซีบอเรีย (seborrhea) แบบไขมันเยิ้มในสุนัขได้ค่อนข้างดีมาก เพราะช่วยขจัดคราบไขมัน สะเก็ดรังแคบนผิวหนังได้ดี จึงไม่เหมาะกับรายที่มีผิวหนังแห้ง
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง


 

9 ยาลดอาการคัน

 
     ยาลดอาการคันที่ผสมอยู่ในแชมพูอาจเป็นยากลุ่มต้านฮีสตามีน (antihistamines) หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) เหมาะสำหรับรายที่มีอาการคันมาก ๆ
 
     นอกจากตัวยาและสารเคมีหลัก ๆ ทั้ง 9 ชนิดนี้แล้ว ภายในแชมพูยายังประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ อีกมากมาย ได้แก่ สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง จำพวกกลีเซอรีน, Propylene glycol, Natural colloidal oatmeal และกรดไขมันต่าง ๆ โดยไปเคลือบชั้นผิวหนังไว้ เพื่อลดการสูญเสียน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แล้วยังมีสารช่วยเรื่องความคงตัว สารที่ทำให้ไขมันแตกตัว สารที่ช่วยลดแรงตึงผิว สารปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง สารต้านอนุมูลอิสระ สารกันบูด ตลอดจนน้ำหอม เพื่อให้กลิ่นของแชมพูเป็นที่ถูกใจเจ้าของด้วย 
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง

 
     ซึ่งสารประกอบเหล่านี้บางประเภท อาจมีส่วนทำให้ผิวหนังของน้องหมาแพ้หรือระคายเคืองได้ แม้ว่าบางผลิตภัณฑ์จะมีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ที่เหมือนกัน แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ ในแชมพูนั้นอาจมีไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนที่จะใช้แชมพูยาชนิดใด เจ้าของอาจทดสอบการแพ้ โดยการทดลองฟอกแชมพูยาลงบนบริเวณหน้าท้องของน้องหมา หรือบริเวณผิวหนังที่ไม่ค่อยมีขนก่อน (คล้ายกับเวลาที่สาว ๆ ทดสอบเครื่องสำอางค์) แล้วทิ้งไว้ 10-15 นาทีค่อยล้างออก จากนั้นตรวจสอบดูว่า มีอาการอักเสบบวมแดง มีเม็ดตุ่ม หรือมีอาการคันขึ้นมาภายใน 30 นาที ถึง 24 ชั่วโมงหรือไม่ ถ้าไม่มีอาการแพ้หรือระคายเคือง ก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไปได้ครับ
 
     และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำเพื่อน ๆ ก็คือ การใช้แชมพูยาให้ได้ผลนั้น ควรใช้ให้ตรงกับโรคที่น้องหมาเป็นด้วย โดยควรพาสุนัขไปเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยโรคก่อนที่จะซื้อแชมพูยามาใช้ เพื่อให้สัตวแพทย์เป็นผู้แนะนำชนิดของแชมพูยาที่เหมาะสมให้ ตลอดจนแนะนำวิธีการใช้และการบริหารแชมพูยาอย่างถูกต้อง 
 

Dogilike.com :: แชมพูยารักษาโรคผิวหนังของสุนัขมีอะไรบ้าง

 
     ซึ่งการใช้แชมพูยาให้ได้ผลนั้น โดยทั่วไปควรทำการฟอกทิ้งไว้ 10-15 นาที เพื่อให้มีระยะเวลาที่ตัวยาจะได้ออกฤทธิ์และเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ แล้วจึงค่อยทำการล้างออก โดยใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ไปจนกว่าจะหาย จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดจำนวนครั้งลง แล้วใช้แชมพูยาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจจะกลับมาได้อีก
 
     และทั้งหมดนี้ก็คือ ยาและสารเคมีออกฤทธิ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแชมพูยาของน้องหมา จะเห็นได้ว่ามีอยู่หลากหลายประเภทเลยทีเดียว และแต่ละประเภทก็มีสรรพคุณและข้อบ่งใช้ในการรักษาไม่เหมือนกัน ปัจจุบันมีแชมพูยาวางจำหน่ายมากมายตามร้านเพ็ทช็อปทั่วไป สามารถหาซื้อได้ง่าย แต่หากใช้ไม่ตรงกับโรคที่เป็นหรือใช้ไม่ถูกวิธี นอกจากโรคผิวหนังที่เป็นอยู่จะไม่หายแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้เกิดการดื้อยาตามมาได้ด้วย ซึ่งการใช้แชมพูยาให้ได้ประสิทธิผลนั้น ต้องใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เสมอนะครับ
 
 
 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
วรา พานิชเกรียงไกร. การใช้ยา A to Z สำหรับสัตวแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 4 
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทวีโชติการพิมพ์ 2551.
http://cce.vetcouncil.or.th/download/Q12/307550003-แชมพูรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง.pdf
 
รูปภาพประกอบ:
www.petsmagazine.com.sg
www.bonniedogs.co.uk
www.vetrxdirect.com
www.petshack.com.my
www.petshack.com.my
www.1.bp.blogspot.com
www.3.bp.blogspot.com
www.happypetspa.ca