(มีคลิป) ชาวบ้าน อ.ดอยหลวง ลุกฮือคัดค้านการนำถ่านลิกไนต์มาพักในพื้นที่

ชาวบ้าน อ.ดอยหลวง ลุกฮือคัดค้านการนำถ่านลิกไนต์มาพักในพื้นที่ เตรียมยกมวลชนบุกศาลากลางร้องเรียนผู้ว่าฯ ด้านผู้ประกอบการแจง ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฏหมาย หากสุดทางแล้วชาวบ้านไม่เอา ก็ยินดียุติธุรกิจ

วันที่ 26 ต.ค. 66 น.ส.มินทิรา ภดาประสงค์ นอภ.ดอยหลวง จ.เชียงราย มอบหมายให้ นางประนอม กิจเจริญ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมรับฟังปัญหาชาวบ้าน กรณีคัดค้านไม่ให้ผู้ประกอบการนำถ่านหินลิกไนต์เข้ามาพักในพื้นที่เพื่อรอการส่งต่อ เพราะหวั่นผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการ อบต.ปงน้อย สาธารณสุขอำเภอ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ หอประชุมบ้านปงน้อยใต้ ม.10 ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย

ในที่ประชุมได้มีชาวบ้านนำเสนอปัญหาจากกรณีที่มีบริษัท ได้นำเอาถ่านหินลิกไนต์เข้ามาพักคอยเพื่อรอการส่งขายต่อให้โรงงานในพื้นที่ภาคกลาง เพราะหวั่นผลกระทบจากฝุ่นและกลิ่นเหม็นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และเป็นห่วงถึงปัญหาการระบายน้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเกรงว่าสารในถ่านหินที่ลงไปในแหล่งน้ำ จะส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตร รวมไปถึงสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านอ้างว่าผู้ประกอบการรายดังกล่าว ได้นำถ่านหินนำเข้ามาจาก สปป.ลาว ผ่านทาง อ.เชียงของ เข้ามาพักไว้เพื่อรอการส่งต่อในพื้นที่กลางชุมชน โดยทราบมาว่าผู้ประกอบการมีออเดอร์ 10,000 ตัน/เดือน มีการขนถ่ายถ่านหินในช่วงตอนเย็นถึงค่ำ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวมีกลิ่นเหม็น จนบางรายต้องย้ายไปนอนบ้านญาติที่ต่างอำเภอเพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ได้ และหวั่นว่าแหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดการปนเปื้อนจากส่วนประกอบของถ่านหิน เพราะที่ตั้งของสถานประกอบการอยู่ติดกับลำเหมืองที่จะไหลลงแม่น้ำบง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.ดอยหลวง ได้แก่ ต.ปงน้อย ต.โชคชัย และ ต.หนองป่าก่อ ก่อนจะไหลงแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และก่อนหน้านี้ในช่วงฝนตกหนักได้ชะล้างถ่านหินลงแหล่งน้ำ จนพบมีปลาลอยตายเป็นจำนวนมากที่บริเวณแม่น้ำบง และน้ำจากลำเหมืองดังกล่าวบางส่วนยังล้นเข้าไปที่หนองหางปง ม.5 ต.โชคชัย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งตอนนั้นโชคดีที่ปิดประตูน้ำได้ทัน เพราะหากน้ำเหมืองทะลักเข้าหนองหางปงในปริมาณมาก ก็จะทำให้ปลาในหนองล้มตายและใช้ประโยชน์ในการเกษตรไม่ได้

การประชุมดำเนินต่อไปได้ไม่นาน เพราะผู้ร่วมประชุมเริ่มมีการใช้อารมณ์ ทางปลัดอำเภอจึงรับปากจะนำเอาปัญหาของชาวบ้านไปนำเสนอกับนายอำเภอ เพื่อสะท้อนไปยังหน่วยงานในระดับจังหวัดต่อไป และได้ยุติการประชุมไปก่อน ทำให้มีอีกหลายคนที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็น โดยทางชาวบ้านเผยอีกว่าหากยังไม่มีการยุติธุรกิจ ก็เตรียมติดต่อเหมารถทัวร์ไว้แล้ว 4 คัน เพื่อจะพามวลชนไปบุกศาลากลางจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าแก้ไขปัญหา

นายเซ็นต์ กิตติยางกูล อดีตข้าราชครูบำนาญ และประธาน กกต.อ.ดอยหลวง กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผู้ประกอบการได้ขนย้ายนำเอาถ่านหินลิกไนต์มาเก็บไว้ในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบในเรื่องของฝุ่นละออง น้ำอุปโภคบริโภค และเรื่องของกลิ่นเหม็น ซึ่งในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ไม่ได้มีการทำประชาคมขอความเห็นชอบกับชาวบ้านมาก่อน จนกระทั่งเริ่มมีผลกระทบทางกลิ่นและน้ำ ก็เลยได้มีการร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.ดอยหลวง และวันนี้นายอำเภอดอยหลวงก็ได้มอบหมายให้ทางปลัดอำเภอ รวมทั้งสาธารณสุขอำเภอ อบต.ปงน้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากผลการพูดคุยในวันนี้ ทางชาวบ้านขอให้ลงประชามติ แต่ทางตัวแทนนายอำเภอบอกว่าวันนี้เป็นการพูดคุยทำความเข้าใจ และจะรับเอาปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านไปนำเรียนกับนายอำเภอ เพื่อนำเสนอไปให้ทาง ผวจ.เชียงราย ได้รับทราบ

นายเซ็นต์ เผยอีกว่า หลังจากผู้ประกอบการได้เริ่มนำเอาถ่านหินมาไว้ในพื้นที่ ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงก็เริ่มได้กลิ่นเหม็น และมีปลาในน้ำห้วยแม่บงลอยตาย ก็เลยอยากจะให้ยุติการนำถ่านหินลิกไนต์เข้ามาเก็บในพื้นที่ เพราะหวั่นผลกระทบในระยะยาว จะมีสภาพปัญหาเหมือนที่แม่เมาะลำปาง

นายวชิรพงศ์ ไชยลังกา ผญบ.แม่บงใต้ ม.5 ต.โชคชัย อ.ดอยหลวง เผยว่า ตนเป็นผู้นำของบ้านแม่บงใต้ ม.5 ต.โชคชัย ซึ่งมีพื้นที่ใกล้กับที่เขาได้เอาถ่านหินลิกไนต์มาเก็บไว้ ห่างเพียง 200 ม. จากที่ได้รับทราบข้อมูลจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับสถานประกอบการได้บอกกับตนว่าประสบปัญหาในเรื่องกลิ่นเหม็น และในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนัก และน้ำฝนได้ชะล้างเถ้าถ่านลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับคุณภาพน้ำและปลาที่อาศัยในน้ำเกิดการลอยตาย ตอนนี้ในเบื้องต้นมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ 4 หมู่บ้าน คือบ้านแม่บงใต้ ม.5 ต.โชคชัย ส่วนใน ต.ปงน้อย ก็จะมี ม.2, ม.10, และ ม.8 บางส่วน ซึ่งจากการพูดคุยกันในวันนี้ ทางชาวบ้านต้องการลงประชามติไม่ให้นำถ่านหินลิกไนต์เข้ามาเก็บในพื้นที่ แต่ทางตัวแทนอำเภอยังไม่ให้ลงประชามติ เพราะทาง อบต.ในพื้นที่ บอกว่าในยังไม่ได้ออกข้อบัญญัติหรือข้อระเบียบในเรื่องของการเก็บสะสมแร่ลิกไนต์ เนื่องจากไม่เคยมีการประกอบธุรกิจแบบนี้ในพื้นที่มาก่อน ก็เลยไม่ได้มีการกำหนดระเบียบในเรื่องดังกล่าว ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็บอกแค่เพียงว่าถ้ามีการจัดการควบคุมดูแลสถานที่ในการเก็บถ่านลิกไนต์ให้ดีก็จะไม่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน แต่ไม่ไม่การพูดถึงอันตรายและผลกระทบของถ่านลิกไนต์ การประชุมในวันนี้จึงแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรกับชาวบ้านเลย

ด้านนายสุชาติ ทวีรุ่งกิจ อดีต ผญบ.3 ต.หนองป่าก่อ และประธานกลุ่มอนุรักษ์น้ำบงและสิ่งแวดล้อม อ.ดอยหลวง กล่าวว่า ในนามของประธานสภาวัฒนธรรม อ.ดอยหลวง และประธานกลุ่มอนุรักษ์น้ำบงและสิ่งแวดล้อม อ.ดอยหลวง มีความเป็นห่วงว่าถ่านลิกไนต์ซึ่วเป็นวัตถุอันตราย จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในวันข้างหน้า เกรงว่าหากมีสารแปลกปลอมลงไปในแม่น้ำบง ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ซึ่งในพื้นที่ ต.หนองป่าก่อ ซึ่งอยู่ปลายน้ำ มีหมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน ที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำบงในการทำประปาหมู่บ้าน จึงไม่อยากให้มีการนำถ่านหินเข้ามาในพื้นที่ หากยังไม่มีการยุติ ตนจะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวจนกว่าจะยุติการประกอบธุรกิจดังกล่าว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยอมกันไม่ได้

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับนายสมพร มีมอญ เจ้าของ บ.พูนทรัพย์ กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว โดยนายสมพรไม่สะดวกจะให้ถ่ายรูปหรือสัมภาษณ์ แต่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในสถานประกอบการได้ และเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้ประกอบธุรกิจนำเข้าถ่านหินลิกไนต์จาก สปป.ลาว เพื่อส่งขายให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งในการนำเข้าจาก สปป.ลาว จะมีรถเทรลเลอร์ที่มีพ่วงเดี่ยว (Semi Dump Trailer) บรรทุกเข้ามา แต่การจะส่งต่อเข้าไปพื้นที่ตอนใน จำเป็นจะต้องนำมาเปลี่ยนถ่ายเป็นรถพ่วง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยจะมีสถานที่เก็บถ่านหินอยู่ที่ อ.เชียงของ แต่เพิ่งย้ายมาเก็บไว้ที่บ้านที่ อ.ดอยหลวง ได้ประมาณ 2-3 เดือน เพราะสถานที่เดิมได้หมดสัญญาเช่า ซึ่งการย้ายเข้ามาเก็บในพื้นที่นี้ ได้ทำตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง ถูกต้องตามกฏหมาย สามารถตรวจสอบได้ รับรองว่าไม่มีผลกระทบจากฝุ่นละออง เพราะถ่านหินเป็นโลหะหนักจะไม่มีฝุ่นลอยขึ้นไปในอากาศ ถ้าหากจะเทียบกัน ผู้ประกอบการบ่อดินยังสร้างปัญหาฝุ่นละอองมากกว่า ส่วนเรื่องกลิ่นก็ไม่ได้มีกลิ่นแรงอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ เพราะเป็นเพียงที่พักเพื่อรอการส่งต่อ ไม่ใช่โรงงานที่นำถ่านหินมาเผาเป็นเชื้อเพลิง ส่วนการระบายน้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ตนได้สร้างบ่อพักและระบบบำบัดน้ำเสีย รับรองว่าไม่มีนำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ที่ผ่านมาตนพยายามเชิญตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงาน เพื่อเข้ามาดูกระบวนการทำงานและฟังคำชี้แจง แต่ก็ไม่มีใครตอบรับเข้ามาดู มีแต่คนคัดค้าน ทำให้ทุกวันนี้ค่อนข้างท้อใจกับธุรกิจนี้ เพราะมีแต่คนคัดค้าน

“หากชาวบ้านยังคัดค้านจนถึงที่สุด ตนก็คงยอมถอย และยินดีจะยุติธุรกิจดังกล่าว แต่ก็รู้สึกใจหาย เพราะหากยุติธุรกิจนี้จริงก็ต้องจำใจเลิกจ้างคนงานอีกกว่า 50 ชีวิตไปด้วย และขอเวลาในการเคลียร์สินค้าในที่เก็บ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน” นายสมพร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น