(มีคลิป) “บ้านจ๊างนัก” หัตถกรรมแกะสลักช้างหลายแสนเชือก

“บ้านจ๊างนัก” หัตถกรรมแกะสลักช้างหลายแสนเชือก มากที่สุดในประเทศไทย มรดกทางภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า ควรค่าแก่การสืบสาน

บ้านจ๊างนัก (คำอ่านภาษาทางภาคเหนือ หรือ แปลภาษาไทย ว่า : บ้านที่มีช้างจำนวนมาก) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ทำงานศิลปะด้านหัตกรรมการแกะสลัก ของสล่าพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่ “พ่อครูเพชร วิริยะ” อายุ 67 ปี ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2564 ที่สืบทอดการแกะสลักช้างมาเป็นรุ่นที่ 3 นานมากว่า 40 ปี นำช้างแกะสลักในอิริยาบถต่างๆ ที่หาชมยากในปัจจุบันที่มีกว่าหลายแสนชิ้น มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก ให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าสัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านหัตถกรรมการแกะสลักไม้ พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรู้แกะสลักไม้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

ภายในบริเวณบ้านบรรยากาศร่มรื่นด้วยแมกไม้ ประดับไปด้วยประติมากรรมช้างปูนปั้นขนาดเท่าของจริง จัดตั้งแสดงอยู่จำนวนหลายเชือก ทั้งเชือกเล็กและใหญ่ รวมทั้งช้างในโลกดึกดำบรรพ์ อย่างช้างแมมมอส ที่สร้างจากจินตนาการและภาพถ่าย ชวนให้หลงใหล และนักท่องเที่ยวไม่พลาดที่จะเก็บภาพเป็นที่ระลึก บางคนที่เชื่อถือเคล็ดเรื่องโชคลาภ ก็จะลอดท้องช้างตามความเชื่อด้วย

นอกจากนี้ ภายในส่วนที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์บริเวณบ้านไม้ชั้น 2 มีการนำช้างแกะสลักมากมาย ส่วนใหญ่เป็นผลงานเก่าแก่และหายาก รวมทั้งภาพเขียนมาจัดแสดงไว้ในแต่ละห้อง อาทิ ทั้งช้างหนึ่งตัว สองตัว สามตัว ไปจนถึงลักษณะท่าทางของช้างเวลาอยู่รวมกันเป็นโขลง จนเป็นที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสล่าผู้มากฝีมือในการแกะสลักช้างได้เสมือนจริง จนเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางมาจนถึงทุกวันนี้ โดยช้างแต่ละเชือกที่แกะสลักนั้น จะเน้นเรื่องโครงสร้างรูปร่าง ผิวหนัง แววตา และอารมณ์ในอิริยาบถต่างๆที่เหมือนจริงของช้าง ซึ่งพ่อครูเพชร เคยแกะช้างเชือกขนาดที่เล็กที่สุดขนาดเพียง 1.5 เซนติเมตร เท่านั้น ปัจจุบันนอกจากการแกะสลักเพื่อการแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งรับสั่งทำช้างตามออเดอร์ และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

โดยปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ที่ส่งเสริมคุณค่าบุคคลผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะฝีมือ ในงานศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้าน อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่างในสาขาต่างๆ ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่า เป็นผู้ที่สืบสานและรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น