รับมือโรคติดต่อให้เจ้าตัวเล็กไม่ป่วยเมื่อไปโรงเรียน

3 นาทีในการอ่าน
รับมือโรคติดต่อให้เจ้าตัวเล็กไม่ป่วยเมื่อไปโรงเรียน

แชร์

เวลาที่เด็กไปโรงเรียนมักเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กเมื่อไปเจอเพื่อนเด็กคนอื่น ๆ ทำให้พ่อแม่หลายคนห่วงและกังวล การรู้เท่าทันและดูแลลูกน้อยได้ถูกวิธี นอกจากช่วยให้พ่อแม่คลายกังวลเมื่อลูกต้องไปโรงเรียน ยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่สมวัยจากการที่ไม่ต้องเรียนที่บ้านเพียงอย่างเดียว


เข้าใจลูกป่วยบ่อยเมื่อไปโรงเรียน

การที่ลูกเกิดการเจ็บป่วยเมื่อไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะการไปเจอเพื่อนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนอาจมีโอกาสรับเชื้อได้ซึ่งเด็กจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงเทอมแรกอาจป่วยบ่อยเพราะยังไม่เคยมีภูมิหลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มปรับมากขึ้นการเจ็บป่วยจะน้อยลงเพราะเด็กปรับตัวค่อนข้างเร็วพ่อแม่ที่มีความกังวลในเรื่องพัฒนาการไม่จำเป็นต้องกังวลมากนักเพราะเด็กมักเจ็บป่วยระยะสั้นคือ 3 – 7 วัน และส่วนใหญ่แทบทั้งหมดได้รับวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นกับร่างกายมาแล้ว แต่ในกรณีที่ป่วยนานเกินไปควรรีบไปพบกุมารแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้หายโดยเร็วและกลับมาเรียนได้ดังเดิม อย่างไรก็ตามการเรียนที่โรงเรียนกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้ดีกว่าการเรียนที่บ้าน


รับมือโรคติดต่อให้เจ้าตัวเล็กไม่ป่วยเมื่อไปโรงเรียน 

โรคติดต่อในโรงเรียนที่พบบ่อย

โรคติดต่อในโรงเรียนที่พบบ่อย ได้แก่

  • โรคระบบทางเดินหายใจ จากไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ RSV (Respiratory Syncytial Virus) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อาการของโรคจะคล้ายกัน แต่ความรุนแรงแตกต่างกัน อาจลงปอดได้ถ้ารุนแรงมาก หากเจ้าตัวเล็กกินยาแล้วไข้ไม่ลดคืออุณหภูมิเกิน 38.5 องศาเซลเซียสต้องรีบมาตรวจเช็กกับกุมารแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะมีโอกาสเกิดอาการชักเกร็งได้ หากเจ้าตัวเล็กมีไข้เกิน 3 วันขึ้นไปต้องระวังโรคไข้เลือดออก 

นอกจากนี้หากไข้สูงแล้วเจ้าตัวเล็กมีอาการซึมร่วมด้วยอาจติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง จนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นคือเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้

  • โรคระบบทางเดินอาหาร ตามธรรมชาติเด็กหยิบของเล่นด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน มีโอกาสติดต่อโรคกันได้ ส่วนใหญ่ที่พบในปัจจุบันคือ โนโรไวรัส (Norovirus) เพราะยังไม่มีวัคซีน เมื่อเกิดการระบาดจึงติดต่อได้ง่าย ส่วนไวรัสโรต้า (Rotavirus) มีวัคซีนให้ฉีดเป็นที่เรียบร้อย พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการลูกน้อยเป็นสำคัญ หากเจ้าตัวเล็กท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเหลวเกินกว่า 5 ครั้งใน 1 วัน มีไข้ อาจเป็นโนโรไวรัส ซึ่งถ้าร่างกายกำจัดเองได้ กุมารแพทย์จะใช้การรักษาแบบประคับประคอง เมื่อพ้นภาวะขาดน้ำและมีไข้อาการจะดีขึ้น อาจต้องอาศัยยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย 

ที่อยากให้พ่อแม่ระวังคือเชื้อซาลโมเนลลาที่อาจปนเปื้อนมากับผักผลไม้สดมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หากเจ้าตัวเล็กติดเชื้อจะมีไข้สูง ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาวสีเขียว อาการจะหนักกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยยาฆ่าเชื้อ ไม่เช่นนั้นจะหายช้า


วัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันเด็กวัยเรียน

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเป็นวัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนควรได้รับ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็ก ประกอบไปด้วยวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนไข้สมองอักเสบ วัคซีนวัณโรค วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนโปลิโอ และวัคซีนเอชพีวี

นอกจากนี้วัคซีนเสริมเป็นทางเลือกที่ช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคให้เจ้าตัวเล็กมีสุขภาพที่แข็งแรงยิ่งขึ้นโดยพ่อแม่สามารถเสริมให้เจ้าตัวเล็กได้อย่างเหมาะสมประกอบไปด้วย

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดเด็กปีละครั้ง ตั้งแต่ 6 เดือน – 18 ปี 
  • วัคซีนโรต้าไวรัส หยด 2 ครั้ง ช่วงอายุ 2 เดือนและ 4 เดือน 
  • วัคซีน IPD เริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน เพราะเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมาก
  • วัคซีนมือเท้าปาก (Enterovirus Type71 Vaccine) ฉีดได้ตั้งแต่ 6 เดือน – 6 ปี เพราะเป็นช่วงที่โอกาสติดเชื้อสูง 
  • วัคซีนอีสุกอีใส ฉีด 2 เข็มตลอดชีวิต โดยฉีดตอนช่วงอายุ 12 – 18 เดือน และช่วงอายุ 4 – 6 ปี
  • วัคซีนตับอักเสบเอ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยเข็มที่ 2 ห่างกัน 6 – 12 เดือน ป้องกันตัวเหลือง ดีซ่าน
  • วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยฉีด 3 เข็มคือ 0, 6, 12 เดือน ช่วยลดความรุนแรงของโรค
  • วัคซีนนิวโมคอคคัส ฉีดได้ตั้งแต่ช่วง 6 สัปดาห์ – 9 ปี ช่วยป้องกันปอดอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

รับมือโรคติดต่อให้เจ้าตัวเล็กไม่ป่วยเมื่อไปโรงเรียน 

เตรียมพร้อมเจ้าตัวเล็กก่อนฉีดวัคซีน

  • เด็กต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีไข้สูง เจ็บป่วยเฉียบพลัน
  • สอบถามผลข้างเคียงและการดูแลเด็กก่อนฉีดวัคซีน
  • หลังฉีดวัคซีนอาจมีการปวดบวมในตำแหน่งที่ฉีดได้
  • ควรดูอาการหลังฉีดวัคซีนอย่างน้องครึ่งชั่วโมง
  • หากเด็กมีอาการแพ้วัคซีนหรือมีอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีนแจ้งกุมารแพทย์โดยเร็วที่สุด

เสริมเกราะภูมิคุ้มกันภายนอกให้เด็กวัยเรียน

ในทุกวันที่เจ้าตัวเล็กต้องไปโรงเรียน พ่อแม่สามารถเสริมเกราะให้เจ้าตัวเล็กได้โดย

  • สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในห้องเรียนหรือในกลุ่มคนเยอะ ๆ 
  • ล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์ควบคู่ไปด้วยกัน
  • ใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วส่วนตัว ไม่กินรวมกับผู้อื่น
  • หากเจ้าตัวเล็กป่วยต้องรอจนกว่าจะหายดีจึงให้กลับไปโรงเรียนได้ตามปกติเพื่อป้องกันการติดต่อ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินที่เพียงพอ


การที่เจ้าตัวเล็กไปโรงเรียนช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้สมวัยได้เป็นอย่างดีพ่อแม่จึงไม่จำเป็นต้องกังวลมากนักกับความเจ็บป่วยเพราะเป็นการสร้างภูมิตามธรรมชาติสิ่งสำคัญคือการสังเกตและรีบดูแลรักษาให้เจ้าตัวเล็กหายป่วยโดยเร็วที่สุดและเสริมภูมิคุ้มกันให้เจ้าตัวเล็กด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อให้สุขภาพกายดีสุขภาพใจดีมีพัฒนาการที่ดีสมวัย


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

แชร์