"วิศวกรน้อย-ไฟฟ้าดับบ่อย" อุปสรรคกระทบ ‘ลงทุนชิป’ เวียดนาม

"วิศวกรน้อย-ไฟฟ้าดับบ่อย" อุปสรรคกระทบ ‘ลงทุนชิป’ เวียดนาม

เวียดนามมีวิศวกรที่ได้รับการฝึกด้านเซมิคอนดักเตอร์อยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ประเทศต้องการมากถึง 20,000 คน ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

ท่ามกลางความขัดแย้งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างสหรัฐและจีน รัฐบาลเวียดนามตั้งความหวังว่าประเทศจะได้ประโยชน์จากนโยบายลดความเสี่ยง (de-risking)ของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการลดการพึ่งพาจีนจึงพยายามดำเนินการในหลายด้านเพื่อทำให้ประเทศเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนด้านชิป

ฮวิ่งห์ แถ่ง ดาด(Huynh Thanh Dat)รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม เผยกับสื่อท้องถิ่นเมื่อเดือนก่อนว่า เจ้าหน้าที่ได้เสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเช่น เซมิคอนดักเตอร์

“เวียดนามยินดีเปิดรับคลื่นการลงทุน ด้วยการร่วมมือกับกระทรวงอื่น ๆ และบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและดึงศักยภาพมาสู่ภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”

ขณะที่ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ไปทัวร์บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในซิลิคอนวัลเลย์อย่างไซนอปซิสและอินวิเดียเมื่อเดือนก.ย. 2566และเมื่อเดือนที่ผ่านมา นายกฯ ฝ่ามได้มอบหมายให้ 4 กระทรวง ดำเนินการเพิ่มจำนวนวิศวกรที่สามารถทำงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อีกหลายหมื่นคน
 

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้กำหนดทิศทางประเทศสู่การเป็นผู้นำในซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ของโลกอีกด้วย

ต้องเตรียมแรงงานให้พอ

ไม่นานมานี้ มีบริษัทชิปต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามหลายรายโดยระหว่างที่“เจนเซ่น หวง”ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อินวิเดีย เยือนเวียดนามช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2566 เขาได้เอ่ยเรียกเวียดนามนามว่าเป็น “บ้านหลังที่สองของบริษัทชิปยักษ์ใหญ่” พร้อมให้คำมั่นว่าจะขยายพาร์ตเนอร์กับธุรกิจท้องถิ่น และจัดตั้งฐานผลิตในเวียดนาม ทั้งยังเผยว่า บริษัทได้ลงทุน 12 ล้านดอลลาร์ในเวียดนามแล้ว

ขณะที่ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติอเมริกันอย่างอัมกอร์ เทคโนโลยี เริ่มดำเนินการผลิตชิปในโรงงานทางภาคเหนือของเวียดนามมูลค่า 1,600 ล้านเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ส่วนมาร์เวลล์ เทคโนโลยี กรุ๊ป บริษัทพัฒนาชิปสัญชาติอเมริกันอีกรายหนึ่ง ประกาศเมื่อเดือนพ.ค. 2566 ว่า บริษัทเตรียมก่อตั้งศูนย์ออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามด้วย
 

ด้านซัมซุง ผู้ลงทุนรายใหญ่ของเวียดนาม ก็ประกาศในเดือนส.ค. ปี 2565 ว่าจะลงทุน 3,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม ขณะที่ฮานา ไมครอน วินา ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ชิปได้สร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเวียดนาม และวางแผนลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568

จากข้อมูลการลงทุนดังกล่าวแซคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบัน National War College ในกรุงวอชิงตันดีซีบอกว่าเวียดนามต้องเพิ่มจำนวนวิศวกรให้ได้ประมาณ 5 เท่าต่อปี เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมชิปเหล่านี้

“เมื่อหลายบริษัทพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของเวียดนามนั้นดูเหมือนเวียดนามจะมีความพร้อม แต่เมื่อพิจารณาลงลึกว่าเวียดนามมีไฟฟ้าใช้เพียงพอหรือไม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอะไรบ้าง และทรัพยากรมนุษย์มีทักษะใดบ้าง ผมไม่คิดว่าเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตได้ตามที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้” อาบูซา กล่าว

ด้านสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน เตือนว่า เวียดนามมีวิศวกรที่ได้รับการฝึกด้านเซมิคอนดักเตอร์มีอยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ประเทศยังต้องการมากถึง 20,000 คน ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

ต่างชาติช่วยหนุนทุนมนุษย์

อย่างไรก็ดี ในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ "เหวียน ทันห์เอียนวิศวกรหลักของบริษัทออกแบบชิปเกาหลีโคเอเชีย เซมิในกรุงฮานอย ยังคงมองในแง่ดีเกี่ยวกับความสามารถในการเพิ่มศักยภาพเวียดนามให้แข่งขันกับความท้าทายได้

เอียนระบุว่า มหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และด้านเทคนิค 20 แห่งของเวียดนามได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ โดยตั้งเป้าสร้างวิศวกรในตลาดแรงงานให้ได้ 50,000 คน ภายใน 2573

“เวียดนามมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรมนุษย์ที่อายุยังน้อยและมีความกระตือรือร้น และภาคส่วนที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้สร้างรายได้มากที่สุดคือภาคเทคโนโลยี ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ได้รับความนิยมในกลุ่มแรงงานดังกล่าวมากในขณะนี้”

นอกจากมหาวิทยาลัยในประเทศแล้ว แรงงานเวียดนามยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศร่วมด้วย

บรูโน สิวานันดาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของคณะกรรมการดิจิทัล หอการค้ายุโรปแห่งเวียดนาม บอกว่าเวียดนามอาจมีพาร์ตเนอร์ด้านการศึกษาจากยุโรป ที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาให้กับแรงงานเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เลอ ฮอง เฮียป นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษายูซอฟ อิสฮะก์ ในสิงคโปร์เตือนว่า “สิงคโปร์และมาเลเซีย” เป็นคู่แข่งที่เหนือกว่ามาก ในขณะที่ “ไทยและอินโดนีเซีย” ก็กำลังเร่งแข่งขันอยู่เช่นกัน

“ใคร ๆ ก็มองหาโอกาสในการเข้าไปมีบทบาทในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมชิปของโลก อุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันที่สูงมาก ๆ” เฮียป กล่าว

นักลงทุนกังวลไฟดับ

นอกจากปัจจัยด้านแรงงานที่มีทักษะมีจำนวนจำกัดแล้ว เวียดนามยังมีปัจจัยที่น่ากังวลอีกประการคือ “ความไม่มั่นคงทางพลังงาน” ในศูนย์กลางการผลิตทางเทคโนโลยีในภาคเหนือของประเทศ

ฤดูร้อนเมื่อปีที่แล้ว พื้นที่ทางภาคเหนือของเวียดนามมักประสบปัญหาไฟดับเป็นระยะ ๆ โดยโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมทางภาคเหนือเผชิญกับไฟฟ้าดับหลาย 4-5 ชั่วโมงบ่อยครั้ง ทำให้หลายธุรกิจรวมถึงโรงงานของซัมซุงต้องหยุดดำเนินงานเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้

ขณะที่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และลงโทษพนักงานในการไฟฟ้าเวียดนาม (อีวีเอ็น) 161 คน

ทั้งนี้ ปัญหาไฟฟ้าดับเกิดขึ้นเนื่องจากภาคเหนือเวียดนามพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ ทำให้ความแห้งแล้งในฤดูร้อนกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไข เพราะภาคการลงทุนจากยุโรปมองว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก