“6 ตุลา” โศกนาฏกรรมการเมืองไทย ย้อนรอยเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

“6 ตุลา” โศกนาฏกรรมการเมืองไทย ย้อนรอยเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

รำลึก 45 ปี เหตุการณ์ “6 ตุลา” รุ่งอรุณแห่งวันวิปโยค หมุดประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ช่วยเตือนใจว่า สังคมไทยวันนี้อาจยังก้าวไม่พ้นวังวนเดิม?! 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวัย 65 ปี เดินทางกลับประเทศไทยด้วยการบวชเป็น “สามเณร” กลายเป็นชนวนสำคัญ ในการเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เอาเผด็จการของกลุ่มนักศึกษาอีกครั้ง จนบานปลายไปสู่การปิดล้อมสังหารหมู่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรุ่งอรุณเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ในวันนั้น นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นข้อห้าร้ายแรง ในขณะที่นักศึกษาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด เพราะการประท้วงนั้น มีเป้าหมายขับไล่จอมพลถนอมเพียงเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาชุมนุมต่อต้านการประท้วงของนักศึกษา ทำให้สังคมไทย ณ ช่วงเวลานั้น เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การรัฐประหารในเย็นวันเดียวกัน

การกวาดล้างนักศึกษาในครั้งนั้น ทางรัฐบาลของ “นายเสนีย์ ปราโมช” (รัฐบาล ณ ขณะนั้น) ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่ง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสังหารหมู่ กลายเป็นข้ออ้างให้ “พลเรือเอกสงัด ชลออยู่” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นทำรัฐประหาร ประกาศยึดอำนาจ พร้อมกล่าวประณามนักการเมือง และความไร้ประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตย

หลังยึดอำนาจ คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งให้ “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” อดีตผู้พิพากษาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในสมัยของเขาได้เริ่มการดำเนิคดีกับนักศึกษา 3,000 คน ที่ถูกจับกุมในธรรมศาสตร์ 

ต่อมามีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง มีการก่อตั้งคณะปฏิวัติขึ้น และมีมติให้นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้นักศึกษาพ้นจากการดำเนินคดี หลังจากนั้นมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่อเนื่องมาทุกๆ ปี 

ล่าสุดในปี 2564 หลังจากมีการถกเถียงกันว่าปีนี้ควรจัดงานหรือไม่? เนื่องจาก “คณะกรรมการจัดงาน” บางส่วน กังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

แต่ในที่สุด คณะกรรมการจัดงานก็มีมติออกมาแล้วว่า จะยังคงมีการจัดงาน ‘ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519’ ประจำปี 2564 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์จริง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีความเข้มงวดในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด เช่น กำหนดให้มีจุดคัดกรอง, การรักษาระยะห่าง เป็นต้น

-----------------------------------

อ้างอิง : https://bit.ly/3uGGU5W, https://bit.ly/3iuCcmY

ที่มาภาพ : https://bit.ly/3oErnCV