ททท. แก้เกมรายได้ต่างประเทศปี 67 บูสต์ 'ไทยเที่ยวไทย' ดันเป้า 3 ล้านล้านบาท

ททท. แก้เกมรายได้ต่างประเทศปี 67 บูสต์ 'ไทยเที่ยวไทย' ดันเป้า 3 ล้านล้านบาท

'ททท.' แก้เกมปี 67 รายได้ท่องเที่ยวต่างประเทศฟื้นไม่เต็มร้อยแค่ 94% คาดกรณีดีสุด สร้างเม็ดเงิน 1.92 ล้านล้านบาท จากทัวริสต์ต่างชาติ 35 ล้านคน เร่งเครื่องบูสต์ตลาดในประเทศ 1.08 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง หนุนสร้างรายได้รวมฟื้น 100% หรือ 3 ล้านล้านบาท

เครื่องยนต์ “ภาคท่องเที่ยว” เสาค้ำยันแห่งความหวังของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เต็มไปด้วยความท้าทายรอบทิศจากวิกฤติซ้ำซ้อน หรือ โพลีไครซิส (Polycrisis) ที่ต้องรับมือ โดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงการแข่งขันรุนแรงจากนานาประเทศที่ต่างเดินเกมรุกชิงนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สามารถผลิตเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างรวดเร็ว และปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เต็มไปด้วยความทุลักทุเล หลังผ่านการเลือกตั้งมานานกว่า 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2566

วานนี้ (17 ก.ค.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลง “ทิศทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวประจำปี 2567” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังระดมสมองประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 11-13 ก.ค. ที่ผ่านมา

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ยังยืนยันเป้าหมายสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว 100% ของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด หรืออยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากความเป็นไปได้ของตลาดต่างประเทศจะฟื้นตัวได้เพียง 94% ของปี 2562 หรือมีรายได้ 1.92 ล้านล้านบาท ทำให้ ททท.ต้องกระตุ้นตลาดในประเทศเข้ามาเสริมด้วยเป้ารายได้ 1.08 ล้านล้านบาท เพื่อให้รายได้รวมไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

“ตอนนี้เกิดภาคท่องเที่ยวกำลังเผชิญโพลีไครซิส (Polycrisis) เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการขึ้นดอกเบี้ย สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันสูงส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศฟื้นตัวแค่ 70% โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินจะฟื้นจริงๆ ในไตรมาส 4 ของปี 2567 และคาดว่าน่าจะกลับมาเต็ม 100% ในปี 2568”

ททท. แก้เกมรายได้ต่างประเทศปี 67 บูสต์ \'ไทยเที่ยวไทย\' ดันเป้า 3 ล้านล้านบาท

 

++ มอง 3 ซีนาริโอ กรณีดีสุดรายได้รวมฟื้น 100%

ทั้งนี้ ททท.ได้วางฉากทัศน์ (Scenario) ของภาคท่องเที่ยวไทยปี 2567 ไว้ 3 กรณี โดยยึดกรณีที่ 1 Best Case ดีที่สุด คือการสร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 100% แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และตลาดในประเทศ 1.08 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง

กรณีที่ 2 Base Case ฟื้นตัว 90% สร้างรายได้รวม 2.74 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.73 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 32 ล้านคน และตลาดในประเทศ 1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 185 ล้านคน-ครั้ง

และกรณีที่ 3 Worst Case ต่อให้แย่ที่สุดก็ยังเท่ากับปี 2566 คือฟื้นตัว 80% ของปี 2562 หรือสร้างรายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.54 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน ซึ่งยังต้องจับตาตลาดนักท่องเที่ยวจีนว่าจะกลับมาเมื่อไร จากข้อจำกัดต่างๆ เช่น จำนวนเที่ยวบินที่แม้จะฟื้นแล้ว แต่ยังฟื้นไม่เต็มที่ และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวเกินคาด ส่วนตลาดในประเทศ 8.6 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 158 ล้านคน-ครั้ง

 

++ ตลาดทัวริสต์ ‘เอเชีย’ เดอะแบกปี 67

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ในฐานะเป็นตลาดระยะใกล้ (Short-haul) รับเป้าหมายปี 2567 ที่ต้องแบกจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 25.8 ล้านคน คิดเป็น 74% ของเป้ารวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และต้องสร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63% ของเป้ารายได้ตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากพื้นที่เอเชียตะวันออก 12.48 ล้านคน อาเซียน 10.51 ล้านคน เอเชียใต้ 2.1 ล้านคน และโอเชียเนีย 7.87 แสนคน

“ตลาดที่ท้าทายมากที่สุดคือนักท่องเที่ยวจีน แม้ปีนี้จะคลายความกังวลได้ แต่ก็ยังต้องลุ้นว่าจะไปถึงเป้าหมาย 5 ล้านคนหรือไม่ เนื่องจาก 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสะสม 1.44 ล้านคน”

 

++ บูสต์รายได้ ‘ยุโรป-อเมริกา’ พักยาวใช้จ่ายสูง

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวว่า ตลาดระยะไกล (Long-haul) ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ มีเป้าหมายในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยว 9.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 26% ของเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ต้องสร้างรายได้ในสัดส่วน 37% หรือคิดเป็น 7.21 แสนล้านบาท เพราะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาจะมีวันพักเฉลี่ยที่ยาวนานกว่าตลาดระยะใกล้ จึงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงกว่า

เห็นได้จากการเก็บข้อมูลล่าสุดในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2566) พบว่าตลาดยุโรปมีวันพักเฉลี่ย 19 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 71,718 บาทต่อทริป ตลาดตะวันออกกลางมีวันพักเฉลี่ย 16.17 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 99,172 บาทต่อทริป และตลาดอเมริกา มีวันพักเฉลี่ย 15.26 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 76,297 บาทต่อทริป

ด้านแนวโน้มตลาดระยะไกลในปี 2566 จากที่ ททท. คาดว่าจะทำได้เกินเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ 7 ล้านคน ไปอยู่ที่ระดับ 8 ล้านคน โดยตลาดที่โดดเด่นอย่างมากคือรัสเซีย จากที่ตั้งเป้าตลอดปี 2566 ไว้ที่ 1 ล้านคน ผ่านไป 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีนักท่องเที่ยวรัสเซียสะสมมากถึง 7.89 แสนคน ดังนั้นในปี 2567 ททท.จะต้องขยายการเติบโตของตลาดรัสเซียให้ได้ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีนี้ เพราะถือเป็นตลาดที่มีโอกาสมาก จากจำนวนเที่ยวบินประจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ของสายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot) และยังมีการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) นอกจากนี้ชาวรัสเซียที่เดินทางมายังเป็นกลุ่มใช้จ่ายสูงอีกด้วย

 

++ อินเดียคือโอกาส-การบินไทยเพิ่มไฟลต์

ทั้งนี้ สถานการณ์นักท่องเที่ยวอินเดียหลั่งไหลมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศศักดาประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เสริมแกร่งสถานะตลาดการเดินทางและท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างมาก สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข้อมูลจากผู้บริหารธุรกิจและนักวิเคราะห์ว่า ธุรกิจท่องเที่ยวตั้งแต่สายการบินอย่างอินดิโกและการบินไทยไปจนถึงเครือโรงแรมต่างเสนอห้องพักในนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นพันๆ ห้อง บริษัททั้งหลายเร่งเจาะตลาดลูกค้าชนชั้นกลางชาวอินเดียที่อำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

เบรนดัน โซบี นักวิเคราะห์การบินกล่าวในการประชุมอุตสาหกรรมการบินเดือนที่แล้วว่า นักท่องเที่ยวอินเดียหลั่งไหลไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุ อุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวสำคัญมากกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ ก่อนโควิด-19 ระบาดการเดินทางและการท่องเที่ยวสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของภูมิภาค 12% จ้างงานกว่า 40 ล้านคน

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาภาคส่วนนี้ได้รับแรงหนุนจากจีน แต่ข้อมูลทางการจาก 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่า การท่องเที่ยวฟื้นตัวอ่อนแรง ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในเดือน พ.ค.ต่ำกว่า พ.ค.2562 อย่างน้อย 60%  

คนในแวดวงท่องเที่ยวมองว่า นักท่องเที่ยวอินเดียที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวจะนำไปสู่การเพิ่มเที่ยวบิน ห้องพัก และบริษัทนำเที่ยว ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณแล้ว

 

++  คาดอินเดียอาจผงาดแซงหน้าจีน

รายงานประจำเดือน พ.ค. ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ชี้ว่า อินเดียอาจผงาดขึ้นมาแซงหน้าจีน“ในแง่การเติบโตของการท่องเที่ยวขาออก” ตลอดทศวรรษหน้า แม้การเชื่อมต่อยังไม่สะดวกเพราะที่นั่นมีสนามบินน้อยกว่า 

ในประเทศไทยที่การท่องเที่ยวเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียแม้ต่ำกว่าจีนในแง่ตัวเงิน ตัวเลขน้อยกว่าปี 2562 แค่14% เท่านั้น ข้อมูลจากรัฐบาลไทย ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยใช้เงินวันละ 197 ดอลลาร์ (6,501 บาท) ชาวอินเดียใช้จ่ายวันละ 180 ดอลลาร์ (5,940 บาท) ทั้งสองชาติเที่ยวไทยราวหนึ่งสัปดาห์

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียมาเยือนไทย 1.6 ล้านคน

ในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเดือน พ.ค. ชาวอินเดียไปสิงคโปร์มากกว่าชาวจีน ส่วนที่อินโดนีเซียในเดือนเดียวกันนั้นได้ต้อนรับชาวอินเดียเกือบ 63,000 คน เทียบกับชาวจีนที่เข้ามา 64,000 คนเศษ

นายชัย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) การบินไทย กล่าวว่า เส้นทางอินเดียแกร่งมาก การบินไทยบินไปจีนสัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน ลดลงจากสัปดาห์ละราว 40 เที่ยวก่อนโควิดระบาด ขณะที่ตอนนี้บินไปอินเดียสัปดาห์ละ 70 เที่ยวเป็นไปได้ว่าตลอดทศวรรษหน้าการบินไทยจะเพิ่มฝูงบินลำตัวแคบไปอินเดียสองเท่า

ด้านอินดิโก สายการบินราคาประหยัดของอินเดีย สั่งเครื่องบินแอร์บัสลำตัวแคบ 500 ลำ เพื่อตอบสนองความต้องการในภูมิภาค เนื่องจากเส้นทางอินเดียไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง” กว่า 100 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ข้อมูลจาก “เคลียร์ทริป” เว็บไซต์ท่องเที่ยวอินเดีย ชี้ว่า การจองเที่ยวบินจากอินเดียไปกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 270% ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562

นางสมทรง สัจจาภิมุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าเพื่อทำเงินกับกระแสนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องเข้าใจความชอบของคนอินเดีย โดยเฉพาะอาหารและความบันเทิง

“ถ้าเราไม่ปรับตัวให้เร็ว เพื่อนบ้านจะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไป ประเทศไทยมีสิ่งดีๆ นำเสนอมากมาย นี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่” สมทรงกล่าวทิ้งท้าย