‘บลู ริเวอร์ โปรดักส์’ ผู้ส่งออกผักและผลไม้ ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ตอบโจทย์มาตรฐานออร์แกนิคสากล

SME in Focus
12/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4784 คน
‘บลู ริเวอร์ โปรดักส์’ ผู้ส่งออกผักและผลไม้ ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ตอบโจทย์มาตรฐานออร์แกนิคสากล
banner
‘บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด’ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผักและผลไม้สด เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ วางโครงสร้างการจัดการซัพพลายเชนไว้เป็นระบบอย่างเข้มแข็ง สามารถควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทางการปลูก ไปจนถึงการพัฒนาเพื่อเตรียมส่งออก ถือเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ



คุณสุนทร ศรีทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลไม้และผักสดมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีความเชี่ยวชาญตลอดกระบวนการและห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ทั้งในฐานะผู้ปลูก ผู้บรรจุหีบห่อ และผู้ส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าหลายประเภทที่ผลิตด้วยความเอาใจใส่เพื่อส่งมอบให้ผู้บริโภค ประกอบด้วย 
1.ผักและผลไม้สด ที่ผ่านกระบวนการปลูกแบบมาตรฐานและไร้สารตกค้าง
2. ผักและผลไม้สด ที่มีกระบวนการปลูกแบบออร์แกนิค100% 
3. ชุดผัก READY TO EAT/COOK ที่ผู้บริโภคนำมาประกอบอาหารแบบง่าย ๆ
4. ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานของ Fair Trade 
5. ผลไม้ออร์แกนิคแปรรูปในแบบบรรจุภัณฑ์กระป๋องและกระปุกแก้ว 



ทั้งนี้ นอกจากบริษัทจะมีแปลงเกษตรเป็นของตัวเองกว่า 20 ไร่แล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเกือบ 500 ครัวเรือน โดยมีทีมนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการปลูกพืชให้มีคุณภาพ และสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานด้านออร์แกนิค ของกลุ่มลูกค้า รวมทั้งเงื่อนไขทางการค้าในแต่ละประเทศ เช่น GlobalGAP, GRASP, Fairtrade, F2F, SMETA, Organic EU / CANADA และ IFOAM 

“ที่เราสามารถผลิตสินค้าให้ผ่านมาตรฐานด้านออร์แกนิคได้นั้น เพราะเราเป็นผู้ประกอบการที่สามารถเข้าไปจัดการซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ได้ทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่มีทีมวิชาการเข้าไปกำหนดให้เกษตรกรเครือข่ายต้องปลูกตามที่เราออกแบบโปรแกรมให้ การมีกระบวนการขนส่งที่มีมาตรฐาน มีขั้นตอนการแปรรูปที่มีคุณภาพ ไปจนถึงขั้นตอนการส่งออก ด้วยกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดจากมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป หรือ EU หรือประเทศต่าง ๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกษตรกรและเราต้องเดินหน้าไปพร้อมกันจึงจะสามารถยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้”



วางโครงสร้างซัพพลายเชนอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพืชผลทางการเกษตรบางชนิดเป็นสินค้าที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาล ดังนั้น บริษัทจึงมีการวางแผนเพื่อกระจายความเสี่ยงและป้องกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างรอบด้าน เช่น หากเป็นผลไม้ตามฤดูกาลอย่างลิ้นจี่ ก็จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการรับซื้อจากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น อัมพวา ไทรโยค และเชียงใหม่ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้สามารถให้ผลผลผลิตตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ได้



ทั้งนี้ เนื่องจากเครือข่ายเกษตรกรของบริษัทกระจายอยู่ในหลายพื้นที่และมีลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่เพาะปลูกแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องมีการออกแบบโปรแกรมให้กับเกษตรกรโดยแตกต่างกัน ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิดที่ปลูก หรือความเอื้ออำนวยของพื้นที่เพาะปลูก เช่น หากเป็นพืชไร่ที่เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย หรือหากเป็นพืชผักที่มีการดูแลช่วงเพาะปลูกหลายขั้นตอน ก็อาจต้องรวมกลุ่มกันเพื่อให้กระบวนการจัดการมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

โดยก่อนจะทำข้อตกลงทุกครั้ง บริษัทจะมีหน่วยงานที่บริหารจัดการด้านความสัมพันธ์ที่รับช่วงต่อจากทีมวิชาการเข้าไปหารือและวางแผนร่วมกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางให้เกิดความสะดวกในการทำงานอย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลให้ระบบซัพพลายเชนของบริษัทเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย



สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรเห็นถึงกลไกของตลาด

คุณสุนทร กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนบริษัทจะเข้าไปให้การส่งเสริมจะมีการวิเคราะห์ด้านการบริหารต้นทุนและราคาจำหน่ายด้วยความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรได้รับการแบ่งปันผลกำไรสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมและมีความคุ้มค่า ภายใต้การประกันราคาสินค้าที่มีมาตรฐานและให้ผลตอบแทนที่ดี

ขณะเดียวกัน ยังมุ่งสื่อสารไปยังเกษตรกรให้มีความเข้าใจถึงกลไกของตลาดสินค้าเกษตร ว่าราคาผลผลิตแต่ละอย่างย่อมมีปัจจัยทำให้ราคารับซื้อแตกต่างกัน เช่น ราคาสินค้าธรรมดาอาจต่ำกว่า ราคาสินค้าออร์แกนิค เป็นต้น ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงต้นทุนการดำเนินงานแต่ละกระบวนการอย่างละเอียด ตั้งแต่การแปรรูปไปจนถึงการวางจำหน่ายถึงผู้บริโภค จึงทำให้เกษตรกรเห็นถึงความจริงใจในการทำธุรกิจของบริษัท และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีจนมีการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน



ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับซัพพลายเชนสินค้าทางการเกษตร

เรื่องนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลไม้ด้วยการยกระดับสินค้าพืชผักและผลไม้เพื่อการส่งออก โดยใช้กระบวนการผลิตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าให้มีอยู่ได้นานขึ้น เช่น การยืดอายุของผลผลิตลำไยให้อยู่ได้นานกว่า 45 วัน เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งทางเรือไปยังต่างประเทศได้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีเทคโนโลยีเครื่องสแกนมะพร้าว ด้วยระบบ NIR ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ สามารถวิเคราะห์จำนวนชั้นเนื้อของมะพร้าวอ่อน และช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออกมะพร้าวที่มีชั้นเนื้อไม่ได้ตามเกณฑ์ไปยังผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยลดความสูญเสียจากการแตกของมะพร้าวในระหว่างการขนส่ง ซึ่งเกิดจากการส่งออกมะพร้าวที่อ่อนเกินไปได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เป็นระบบจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการปลูกหรือการใช้ยาได้อย่างสะดวก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เกษตรกรจะส่งตรงมายังโรงงาน ทำให้บริษัทลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนลงได้เป็นอย่างมาก และมีการควบคุมมาตรฐานได้ดียิ่งขึ้น



ยกระดับ ตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกอย่างเข้มงวด

สำหรับแนวทางการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก บริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะหากสินค้าที่ส่งออกไปมีสารปนเปื้อนหรือศัตรูพืชหลงเหลืออยู่ก็อาจทำให้สินค้าโดนแบนได้ โดยบริษัทได้มีแนวทางตามมาตรการสุขอนามัย

เพื่อส่งออกไปต่างประเทศตามข้อกำหนดและเงื่อนไขนำเข้าของประเทศผู้นำเข้า ด้วยการดำเนินการตรวจสารปนเปื้อน พร้อมกับการกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องตามมาตรฐานและหลักวิชาการ เช่น การนำพริกไปแช่ในน้ำร้อนที่ระดับอุณหภูมิ 48 องศาเซลเซียส เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหนอนแมลงแอบแฝง หรือศัตรูและโรคพืชติดไปยังประเทศปลายทาง เป็นต้น



ทำสินค้าออร์แกนิคต้องวิเคราะห์องค์ประกอบอย่างรอบด้าน

เรื่องนี้ตนมองว่า ด้วยตลาดอาหารออร์แกนิคมีสัดส่วนเพียง 2% ของตลาดอาหารทั้งหมดในโลก ดังนั้น ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการจะทำสินค้าออร์แกนิคต้องมีการวิเคราะห์องค์ประกอบของตลาดอย่างรอบด้าน ทั้งการหาตลาดและกระบวนการผลิต พร้อมทั้งต้องมีการประเมินความเสี่ยงให้ดี

เนื่องจากสินค้าประเภทนี้จะใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงไม่ได้จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งโรคและศัตรูพืชที่จะเข้ามาคุกคามได้ง่าย จึงต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ รวมทั้งยังมีปัจจัยด้านลักษณะภูมิประเทศในแต่ละพื้นที่เป็นตัวแปรสำคัญ จึงทำให้ได้ผลผลิตแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัดส่วนเพียง 2% แต่ในปัจจุบันสถานการณ์แนวโน้มตลาดสินค้านี้ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 2 ดิจิตในทุกปี และเป็นที่น่าสนใจเพราะตลาดอาหารออร์แกนิคทั่วโลกมีมูลค่าสูงหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับกฎหมายและตอบโจทย์กับผู้บริโภคแต่ละประเทศได้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีและมีโอกาสนำเม็ดเงินเข้าประเทศและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้

ซึ่งหากผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจประเมินเพื่อขอใบรับรองพร้อมกัน ก็จะช่วยให้การดำเนินการมีความคล่องตัวมากขึ้น และลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณที่ถูกใช้เกี่ยวกับการยื่นขอใบรับรองได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ควรตระหนักว่าการจะผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดออร์แกนิคต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินความเสี่ยงให้รอบด้านอยู่เสมอ



สร้างทัศนคติที่ดีให้เกษตรกรพัฒนาสู่ซัพพลายเชนที่ยั่งยืน

คุณสุนทร กล่าวในช่วงท้ายว่า การจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรให้ประสบความสำเร็จได้ ผู้ประกอบการต้องสร้างการตระหนักรับรู้คุณค่า และประโยชน์ที่ได้รับจากการทำออร์แกนิค เพื่อนำไปสู่ทัศนคติการยกระดับมาตรฐานผลผลิต ซึ่งเกษตรกรเองต้องเปิดใจและทำความเข้าใจเรื่องกลไกของตลาดไว้ด้วย หากเข้าใจในองค์ประกอบเหล่านี้อย่างรอบด้าน ก็จะนำไปสู่การเป็นซัพพลายเชนของธุรกิจการเกษตรที่เข้มแข็ง

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจในการทำเกษตรออร์แกนิคมากยิ่งขึ้น เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกลไกของตลาด และอยากพัฒนาอาชีพเกษตรกรที่รุ่นพ่อแม่สร้างไว้ให้มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐาน ต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ‘คุณสุนทร ศรีทวี’ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในฐานะผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจ ต้องมีการวางโครงสร้างและการจัดการที่ดี เพื่อนำไปสู่การสร้างซัพพลายเชนที่เข้มแข็งจากต้นทางอย่างเกษตรกร ส่งต่อไปยังตลาดหรือผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย ภายใต้กลไกการตลาดที่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้ ‘บลู ริเวอร์ โปรดักส์’ เติบโตควบคู่กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน


รู้จัก ‘บลู ริเวอร์ โปรดักส์’ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 
https://www.blueriver.co.th/about-us/
https://www.facebook.com/Blueriverproducts

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

Growth Mindset “ไม่มีอะไรยากเกินความพยายามของคน” แนวคิดที่เชื่อว่า ทักษะ ความรู้ ศักยภาพของเรา สามารถฝึกฝน พัฒนาได้ด้วยการมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างแน่วแน่…
pin
205 | 06/05/2024
ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
623 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
540 | 29/04/2024
‘บลู ริเวอร์ โปรดักส์’ ผู้ส่งออกผักและผลไม้ ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ตอบโจทย์มาตรฐานออร์แกนิคสากล