‘มัลติแบกซ์’ สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม

SME in Focus
29/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2109 คน
‘มัลติแบกซ์’ สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม
banner
ด้วยวิสัยทัศน์ของ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) ที่มองการณ์ไกลถึง ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก ก่อเกิดแนวคิดผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อแก้โจทย์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานระดับสากลจากทั้ง สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป



ก้าวสู่ธุรกิจพลาสติกรักษ์โลกได้อย่างไร ? 

ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจผลิตถุงพลาสติกว่า เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อน ๆ สมัยเรียนเมื่อ 28 ปีที่แล้ว โดยมองเห็นอนาคตของธุรกิจพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่ยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งขณะนั้นมีเพื่อนสนิทกันทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตพลาสติกอยู่แล้ว จึงชวนเพื่อน ๆ ในกลุ่มมาลงทุนร่วมกันโดยใช้ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 31 ล้านบาท จากนั้นค่อย ๆ ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดำเนินธุรกิจได้ประมาณ 10 กว่าปี จึงเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยทุนจดทะเบียน 128 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกสีเขียวที่บริษัทฯ ผลิต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1) พลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ (Compostable)

2) พลาสติกชีวภาพที่ทำมาจากกลุ่มพลาสติกชีวภาพที่ทำมาจากพืชซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถปลูกทดแทนได้ (Renewable Resource) ซึ่งอาจจะย่อยสลายหรือไม่ย่อยสลายก็ได้ กลุ่มที่

3) พลาสติกที่ผลิตมาจากขยะพลาสติกทางทะเล (Ocean Waste Plastic) กลุ่มที่

4) พลาสติกที่ผ่านการใช้จากผู้บริโภคมาแล้ว หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) โดยนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง 
  
จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ เรามีผลิตภัณฑ์สีเขียวครบทุกกลุ่ม ทำให้ มัลติแบกซ์ ได้รับความไว้วางใจในการเป็นผู้ผลิตแบบ OEM ให้กับสินค้าแบรนด์ชั้นนำมากมายทั่วโลก 



“จากปัญหาขยะพลาสติกที่สะสมมายาวนาน เป็นเหตุผลให้บริษัทต้องการแก้ปัญหาและนำมาสู่แนวคิดการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพให้สามารถย่อยสลายเองได้ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดขยะพลาสติก ถือเป็นการ เปลี่ยนปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ เป็นโอกาสทางธุรกิจ อีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก”



‘อุตสาหกรรมพลาสติก’ เป็น ธุรกิจไร้อนาคต จริงหรือ ?

ดร.พิสุทธิ์ สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับ ‘พลาสติก’ ฟังดูอาจจะรู้สึกเหมือนว่าเป็นธุรกิจผลิตสินค้าที่ไร้อนาคต หรือที่เรียกว่า Sunset Industry จริงหรือไม่ ซึ่งเกิดจากการมองว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงขออธิบายอย่างนี้ว่า สมัยก่อนบรรจุภัณฑ์ที่ผู้คนทั่วไปใช้กันจะเป็นถุงกระดาษ ซึ่งขณะนั้นหลายคนมองว่าถุงกระดาษส่วนใหญ่ได้มาจากการตัดต้นไม้ รวมถึงการใช้สารเคมีต่าง ๆ มาช่วยในการทำให้ไม้เปื่อยยุ่ยเพื่อนำมาผลิตเป็นถุงกระดาษ ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อมาแทนการตัดไม้ทำลายป่าและสามารถใช้งานได้ทนทานกว่าถุงกระดาษ โดยมองว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้ถุงพลาสติกเติบโตและขยายตัวหลากหลายรูปแบบการใช้งานอย่างรวดเร็ว

“วันนี้ถามว่าถุงพลาสติกสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ต้องยอมรับว่าใช่ ยกตัวอย่าง สัตว์ทะเลที่มีถุงพลาสติกติดอยู่ในกระเพาะอาหารจนเสียชีวิต อันเกิดจากขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลไปก่อปัญหาให้กับสัตว์น้ำอย่างมากมาย

แต่หากย้อนกลับมาดูตามหลักความเป็นจริงแล้ว พลาสติกหรือถุงพลาสติกสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100%  ดังนั้นพลาสติกจึงไม่ใช่เป็นตัวสร้างปัญหา แต่การทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกต้องจะเป็นตัวก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการพลาสติกจะเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง”
 
ดร.พิสุทธิ์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่าง ประเทศสวีเดน ซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าขยะจากประเทศเพื่อนบ้านถึงปีละกว่า 8 แสนตัน เนื่องจากประชาชนของเขามีการคัดแยกขยะอย่างดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ขยะที่มีในประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูง



‘พลาสติกชีวภาพ’ ย่อยสลายได้อย่างไร ?

ดร.พิสุทธิ์ อธิบายว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ที่ผลิตจากพืช เมื่อนำมาฝังกลบแบคทีเรียจะเริ่มทำให้โมเลกุลที่เป็นโครงสร้างของพลาสติกเปลี่ยนไป โดยการย่อยสลายที่เกิดจากการกัดกินของแบคทีเรีย สุดท้ายจะแตกออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ ในขณะที่พลาสติกธรรมดาก็ย่อยสลายได้เช่นกัน แต่ด้วยโครงสร้างที่ต่างกันทำให้พลาสติกธรรมดาต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี ในขณะที่พลาสติกชีวภาพประเภทย่อยสลายได้ จะใช้เวลาย่อยสลายเพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่การย่อยสลายจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแบคทีเรียที่มาทำงานในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ดังนั้นหากไม่มีปัจจัยเหล่านี้ก็จะไม่เกิดการย่อยสลาย 




ทดลอง ทดสอบและพัฒนาสูตรโดยมุ่งเน้นวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ

ดร.พิสุทธิ์ เผยวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ว่า ‘มัลติแบกซ์’ ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าไทยเรามีวัตถุดิบที่มีศักยภาพอยู่แล้ว อย่าง อ้อย ข้าวโพด โดยเฉพาะมันสำปะหลังถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้มากถึง 20 – 30 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่จะนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เราจึงเกิดแนวคิดนำมันสำปะหลังมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ

โดยตั้งแผนก R&D ขึ้นมาเพื่อค้นคว้าวิจัยมาตลอดกว่า 10 ปี โดยใช้งบปีละ 10% ของยอดขาย เพื่อให้ได้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จนเมื่อปี 2553 บริษัทก็ประสบความสำเร็จสามารถผลิตเม็ดและถุงพลาสติกชีวภาพที่มีคุณภาพเทียบเท่าถุงพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน โดยการผลิตพลาสติกชีวภาพมาใช้เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมา 10 กว่าปีแล้ว



โดยเม็ดพลาสติก M-BIO (เม็ดพลาสติกชีวภาพต้นแบบ) ที่คิดค้นและผลิตได้ จะมีความแตกต่างและข้อได้เปรียบจากผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายอื่น ๆ ตรงที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติในประเทศเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบจากการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้ไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคตอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ดร.พิสุทธิ์ ยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพยังมีจุดอ่อนเรื่องต้นทุนที่สูงกว่าพลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมถึง 2 – 3 เท่า ถึงแม้ผู้บริโภคจะรักโลกมากขนาดไหน แต่หากต้องแบกรับต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงกว่าหลายเท่าก็คงไม่ไหว ทำให้พลาสติกชีวภาพยังเติบโตไม่มากเท่าที่ควร 

อีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อด้อยที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับถุงพลาสติกจากปิโตรเลียมคือ เรื่องอายุการใช้งาน (Shelf life) ซึ่งอยู่ในราว 2 ปีในขณะที่ถุงพลาสติกทั่วไปมีอายุการใช้งานถึง 5 ปี เป็นสิ่งที่บริษัทฯ ต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้พลาสติกชีวภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ด้วย



ยกระดับมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

เมื่อค้นคว้าวิจัยจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีแล้ว ดร.พิสุทธิ์ จึงเริ่มเตรียมรายละเอียดและขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากสถาบันสำคัญในต่างประเทศ โดยส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ เข้ารับการทดสอบจากห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากล สถาบัน OWS (Organic Waste Systems) ในประเทศเบลเยียม ตามมาตรฐานการย่อยสลาย EN 13432, ASTM D6400, ISO 17088 เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลทดสอบที่จะนำไปขอมาตรฐานการรับรองการย่อยสลายทางชีวภาพต่อไป



ซึ่งผู้ให้การรับรองมาตรฐานโลกสำคัญที่ว่านี้ ดังเช่น TUV ประเทศเยอรมัน และ และ BPI ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ตราสัญลักษณ์นำไปแสดงมาตรฐานได้ทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯ จะเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองในการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ เมื่อนำไปใช้งานก็จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้ หรืออาจนำเม็ดพลาสติก M-BIO ไปพัฒนาเป็นของเด็กเล่น หรือภาชนะอื่น ๆ ซึ่งใช้แทนพลาสติกจากปิโตรเลียมได้หลากหลายมากขึ้น



เทรนด์ ‘รักษ์โลก’ ดันธุรกิจพลาสติกชีวภาพเติบโต

ดร.พิสุทธิ์ ฉายภาพว่า กระแสทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในการลดโลกร้อน และปัญหาขยะมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ยอดการส่งออกของบริษัทเติบโตขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  
     
ยกตัวอย่าง เดิมบริษัทฯ ใช้สูตรผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชโดยใช้อ้อยเป็นส่วนผสม 20% ลูกค้าบอกว่าเรารักโลกไม่จริง เนื่องจากผสมวัตถุดิบจากพืชเพียงแค่ 20% เราจึงปรับสูตรด้วยการผสมพลาสติกที่ทำจากอ้อยลงไป 50% ปรากฏว่ายอดขายขยับสูงขึ้นเป็นเท่าตัว สะท้อนให้เห็นว่าในต่างประเทศมีการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

นอกจากนี้จะเห็นได้จากในสหภาพยุโรป (European Union: EU) มีการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) อาทิ จาน ช้อนส้อม กล่องโฟม ถุงหิ้วใส่อาหาร จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืช รวมถึงแบรนด์สินค้าที่ใช้แพ็กเกจจิ้งจากพลาสติกส่งออกไปยัง EU จะถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงมาก หากไม่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคมาแล้ว



ดร.พิสุทธิ์ ให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว ต้องยอมรับว่า ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ถือเป็นที่หนึ่งของโลกในเรื่องการอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม เพราะถึงแม้ผลิตภัณฑ์สีเขียวจะมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไป 20 - 30% แต่ประเทศเขารักโลกจริงและยอมจ่ายเพื่อสิ่งที่ดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าของบริษัทฯ ส่งออกไปยังตลาดทั้งสองประเทศนี้ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำลังต้องการขยายตลาดควรมาเปิดตลาดที่นี่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

ปัจจุบันลูกค้าหลักของ มัลติแบกซ์ คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยยุโรปและออสเตรเลีย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ตลาดในตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน)

มองแนวโน้ม พลาสติกชีวภาพ กับอนาคตของ มัลติแบกซ์

หากมองอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในขณะนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ต่างพุ่งเป้ามาที่พลาสติกชีวภาพ ซึ่งไทยถือว่ามีศักยภาพอยู่ไม่น้อย เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐที่จะสนับสนุนทั้งเรื่องกฎหมาย และช่องทางการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตได้เป็นอย่างดี 

ดร.พิสุทธิ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับตลาดพลาสติกชีวภาพนั้น มาตรฐานคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้ให้ทำตามมาตรฐานที่ตัวเองมี และรักษามาตรฐานไว้ให้ได้ สิ่งนี้ถือเป็น Key Success สำคัญที่จะนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)



ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) มีการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านราคา ความสามารถในการผลิต รวมถึงการค้นคว้าวิจัยพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางการใช้สินค้าจากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการไปสู่ธุรกิจสีเขียวต่อไป                          


รู้จัก ‘บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด’ (มหาชน) เพิ่มเติมได้ที่
https://www.multibax.com/th/product
https://www.multibax.com/th/aboutus/board_profile/3/37/2

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

Growth Mindset “ไม่มีอะไรยากเกินความพยายามของคน” แนวคิดที่เชื่อว่า ทักษะ ความรู้ ศักยภาพของเรา สามารถฝึกฝน พัฒนาได้ด้วยการมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างแน่วแน่…
pin
267 | 06/05/2024
ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
665 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
594 | 29/04/2024
‘มัลติแบกซ์’ สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม