ธุรกิจการตลาด

รู้จัก "Saudi Aramco" บริษัทน้ำมันสัญชาติซาอุที่ทำกำไรสูงที่สุดในโลก

17 ส.ค. 65
รู้จัก "Saudi Aramco" บริษัทน้ำมันสัญชาติซาอุที่ทำกำไรสูงที่สุดในโลก

 

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้รายได้สุทธิหรือผลกำไรบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น ExxonMobil, Chevron และ BP ต่างพุ่งขึ้นตามในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีบริษัทไหนกวาดกำไรไปเท่า Saudi Aramco บริษัทขุดเจาะและส่งออกน้ำมันสัญชาติซาอุดิอาระเบีย ที่ฟันกำไรไปถึง 4.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.7 พันล้านบาท พุ่งขึ้นกว่า 90% จากช่วงเดียวกันในปี 2021 และ มากกว่ากำไรไตรมาสที่สองของ ExxonMobil และ Chevron รวมกันไปไกลโข

 

แต่กว่าจะมาเป็นบริษัทที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นมหาอำนาจน้ำมันได้อย่างทุกวันนี้ เดิมที Saudi Aramco ก็เป็นเพียงบริษัทร่วมทุนของซาอุดิอาระเบียกับอเมริกาที่ตั้งขึ้นเพื่อผลิตน้ำมันส่งให้กับประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมายกว่าจะกลายมาเป็น Saudi Aramco ผู้ส่งออกน้ำมันให้ทั่วโลกอย่างทุกวันนี้

 

Saudi Aramco มีความเป็นมาอย่างไร ทำอย่างไรถึงได้กลายมาเป็นบริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ในบทความนี้ทีม Spotlight จะมาอธิบายให้อ่านกัน

 

000_1rf9p5

 

Saudi Aramco ใหญ่แค่ไหน ทำอะไร ใครเป็นเจ้าของ

 

Saudi Aramco เป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่มีมูลค่าตลาด ส่วนแบ่งการตลาด และกำลังการผลิตที่สูงที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าตลาด 2.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 83 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ทั้งปีของประเทศไทยใน 2021 และเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่เพียง Apple ที่ผลัดกันเป็นอันดับหนึ่งกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจน้ำมันครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ถึง “ปลายน้ำ” ตั้งแต่การขุดเจาะ กลั่นน้ำมันดิบแยกออกมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าปิโตรเคมีต่างๆ เช่น เอทีลีน เบนซีน ดีเซล แก๊สเชื้อเพลิงต่างๆ 

 

Saudi Aramco มีบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการดูแลมากกว่า 100 แห่ง รวมไปถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติความจุกว่า 284.8 ล้านล้านลูกบาสก์ฟุต สามารถผลิตน้ำมันได้สูงสุดถึง 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีน้ำมันในคลังสำรองถึง 1.93 แสนล้านบาร์เรลในปี 2021 โดยเป็นเจ้าของและร่วมลงทุนในโรงกลั่นกว่า 11 แห่งในประเทศ และอีก 7 แห่งทั่วโลก

 

ในด้านการดูแล ในปัจจุบัน Saudi Aramco นำโดย อามิน เอช. นาสเซอร์ (Amin H. Nasser) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานและผู้บริหารสูงสุด โดยมีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย (Crown Prince Mohammed bin Salman) เป็นสมาชิกคนสำคัญในบอร์ดบริหาร

 

 254308

(อามิน เอช. นาสเซอร์ และ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย)

 

หลังเอาหุ้นราว 5% เข้าตลาดหลักทรัพย์ซาอุฯ (Tadawul) ในปี 2019 โดยระดมทุนไปได้ทั้งหมด 2.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.04 ล้านล้านบาท ในปัจจุบันหุ้นกว่า 94.2% ของ Saudi Aramco ยังคงถือโดยรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย 4% ถือโดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ของซาอุดิอาระเบีย นอกนั้นถือโดยบริษัทจัดการกองทุนของอเมริกาเช่น The Vanguard Group และ BlackRock Fund Advisors

 

จุดกำเนิดบริษัทน้ำมันมาจากความร่วมมือของสองชาติ

 

Saudi Aramco หรือในชื่อเดิม Arabian American Oil Company กำเนิดขึ้นมาในปี 1933 จากสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐบาลซาอุดิอาระเบียและบริษัท Standard Oil อดีตบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ภายหลังจะกลายมาเป็น Chevron แต่เพิ่งเริ่มผลิตน้ำมันได้ในปี 1938 ที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันได้สำเร็จหลังพยายามเจาะหาแหล่งน้ำมันมาหลายปี

 

นับตั้งแต่ช่วงปี 1940s เป็นต้นมา Saudi Aramco ก็พยายามเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และขยายวิธีการลำเลียงส่งน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการสร้าง Trans-Arabian Pipeline ยาวกว่า 1,212 กิโลเมตรในปี 1950 เพื่อลำเลียงน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียไปยังเลบานอน และย่นระยะเวลาส่งออกน้ำมันไปยุโรป 

 

และหลังการขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในปี 1971 กำลังการผลิตของ Saudi Aramco ก็ทะลุพันล้านบาร์เรลต่อปี และกลายเป็นบริษัทภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียอย่างเต็มตัวในปี 1980 หลังรัฐบาลเข้าไปซื้อหุ้นจนมีสิทธิภายในบริษัท 100% ปิดฉากความร่วมมือ 53 ปีของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียและ Chevron

 

ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ครอบคลุมการผลิตจาก “ต้นน้ำ” สู่ “ปลายน้ำ”

 

หลังจากเป็นเพียงผู้ขุดเจาะและส่งออกน้ำมัน หรือเป็นผู้ผลิต “ต้นน้ำ” มาหลายปี ในปี 1989 Saudi Aramco ก็เริ่มขยาย “รูปแบบ” การผลิตให้ครอบคลุมการผลิตน้ำมันแบบ “ปลายน้ำ” เช่น การกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมี และการแยกก๊าซ มากยิ่งขึ้นด้วยการตั้งบริษัทลูกผ่านการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทน้ำมันอื่นๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น Star Enterprises บริษัทกลั่นน้ำมัน ที่ Saudi Aramco ก่อตั้งกับ Texaco ในปี 1989 และกลายเป็นบริษัทภายใต้การดูแลของ Saudi Aramco อย่างเต็มตัวในปี 2017 ภายใต้ชื่อ Motiva

 

นอกจากนี้ Saudi Aramco ยังเข้าไปถือหุ้นในบริษัทกลั่นน้ำมันทั่วโลกเพื่อขยายเครือข่าย เช่น SsangYong หรือ S-Oil ของเกาหลีใต้, Petron Corporation ของฟิลิปปินส์ และ Motor Oil (Hellas) Corinth Refineries ของกรีซ

 

aramcoabqaiqplant_saudiara(Abqaiq Plants โรงงานกลั่นและแปรรูปน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของ Saudi Aramco) 

 

ในปัจจุบัน Saudi Aramco กำลังทุ่มงบทำวิจัยหาวิธีขุดเจาะ กลั่น และใช้น้ำมันที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ลงทุนในเทคโนโลยีดักจับและเก็บคาร์บอนไว้ใช้งาน และลงทุนในการสร้างพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงและลมให้ได้ 12 กิกะวัตส์ภายในปี 2030 และลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 50 ล้านเมตริกตันต่อปี

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ “อุ้ม” เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียไว้

 

นอกจากจะเป็นบริษัทสำคัญที่ส่งออกน้ำมันให้กับคนทั่วโลกแล้ว Saudi Aramco ยังเป็นบริษัทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย เพราะรายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นถึง 42% ของ GDP ทั้งประเทศ โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน

 

เพราะฉะนั้นถ้ารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น รายได้โดยรวมของคนในประเทศก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ถึงแม้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะมีความพยายามที่จะขยายเศรษฐกิจของประเทศให้มีความหลากหลายกว่านี้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดิอาระเบียก็ยังต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันเพื่อรันระบบเศรษฐกิจ จ่ายค่าจ้างให้ข้าราชการ และจ่ายค่าสวัสดิการสังคมให้ประชาชน 

 

นอกจากนี้ยังใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการ Saudi Vision 2030 ที่มีจุดหมายเพื่อ “ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน” พัฒนาภาคส่วนอื่นในระบบเศรษฐกิจ เช่น ภาคส่วนการบริการ และพัฒนาภาคบริการสาธารณะเช่น ระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษา และระบบขนส่งให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาและขยับขยายด้านเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

 

ที่มา: AP, The Guardian, Wall Street Journal, CompaniesMarketCap, Marketscreener, Forbes

 

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT