Advance search

วัดป่าดาราภิรมย์

วัดป่าดาราภิรมย์ปูชนียสถานเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ตำนานสถานที่ประทับรอยพระพุทธบาทพระศากยมนุถึง 4 พระองค์
บ้านหมื่นถ้อยน้ำงาม
ริมใต้
แม่ริม
เชียงใหม่
กาญจนา สุนันต๊ะกูล
2 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
วัดป่าดาราภิรมย์

ตั้งขึ้นตามลักษณะที่ตั้งที่อยู่ใกล้บริเวณวังดาราภิรย์ของเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาในพระเจ้า อินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่


วัดป่าดาราภิรมย์ปูชนียสถานเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ตำนานสถานที่ประทับรอยพระพุทธบาทพระศากยมนุถึง 4 พระองค์
บ้านหมื่นถ้อยน้ำงาม
ริมใต้
แม่ริม
เชียงใหม่
50180
เทศบาลแม่ริม โทร. 0-5329-7613
18.91055
98.941
เทศบาลนครเชียงใหม่

วัดป่าดาราภิรมย์ ชุมชนชาวล้านนาในเขตบ้านหมื่นถ้อยน้ำงาม ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่แห่งนี้เดิมเคยเป็นป่าช้าทิ้งร้างที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับเขตพระตำหนักดาราภิรมย์ของเจ้าดารารัศมี ต่อมาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ธุดงค์มาพำนักและบำเพ็ญกรรมฐานที่ป่าช้าแห่งนี้ หลังจากนั้นก็มีพระสงฆ์เข้ามาบำเพ็ญกรรมฐานกันมากขึ้น ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดป่าวิเวกจิตตาราม หรือวัดป่าเรไร ถวายเพื่อให้ใช้ในกิจการสงฆ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ทายาทของเจ้าดารารัศมี ได้ถวายที่ดินที่อยู่ในเขตพระราชฐานพระตำหนักเจ้าดารารัศมีให้แก่วัด และเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดป่าดาราภิรมย์มาตามพระนามของพระราชชายา “เจ้าดารารัศมี” พระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการสมรสเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสยาม และเมื่อมีการก่อตั้งชุมชนของชาวล้านนาขึ้นบริเวณโดยรอบ จึงถูกเรียกว่า "ชุมชนชาวล้านนาวัดป่าดาราภิรมย์" ตามสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว 

วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอแม่ริม และค่ายดารารัศมี ภายในวัดนอกจากความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบล้านนาแล้ว ยังมีสิ่งน่าสนใจต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี อาคารหลักภายในวัด ก่อสร้างตามรูปแบบศิลปะล้านนา หลังคาซ้อนสองชั้น ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ หน้าบันประดับด้วยลายดอกไม้และก้านไม้  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระสยัมภูโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะแบบสุโขทัย

พระวิหารหอคำหลวง

พระวิหารหอคำหลวง เป็นวิหารที่สร้างในวโรกาสที่วัดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2542 และถวายพระราชกุศลแด่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นศิลปล้านนา จำลองมาจากหอคำของเจ้าหลวงเชียงใหม่ในสมัยโบรา เป็นที่รวมศิลปการแกะสลัก ปูนปั้นและลายคำแบบล้านนา ภายในประดิษฐานพระประธานทรงเครื่อง พร้อมพระบรมสารีริกธาตุ และแวดล้อมด้วยพระพุทธเจ้า 28 พระองค์

หอกิตติคุณ

หอกิตติคุณ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมของอาคารแบบศิลปะล้านนาผสมผสานศิลปะไทยลื้อชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีน้ำตาลไหม้ ปักฉัตรสีทอง ตรงกลางประดับช่อฟ้ารูปนกหัสดีลิงค์ สันหลังคาประดับลวดลายปูนปั้นรูปตัวลวง (ลักษณะคล้ายมังกรผสมสิงห์มีปีก) หน้าบันประดับตราประทับเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) มีประดูทางเข้าสองทาง ด้านทิศใต้และด้านทิศเหนือ มีมุขยื่นออกไปคลุมบันได หน้าบันไดทั้งสองด้านประดับสิงห์คู่ศิลปะไทยลื้อ ประกอบเสาหน้ามุขสองต้นประดับลวดลายลงรักปิดทองรูปหม้อดอกปูรณฆฏะและลาย เครือเถาว์แบบล้านนาที่งดงามยิ่ง เหนือประตูทางเข้าประดับลวดลายแกะสลักพญานาคพันกัน อันหมายถึงปีนักษัตริย์ของพระเดชพระคุณท่าน คือปีมะเส็ง ภายในเป็นห้องโถง ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระปฏิมาประธาน ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งพระเดชพระคุณพระพุทธพจนวราภรณ์ในสมัย ที่ดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมดิลก นอกจากนี้ยังมีตู้จัดแสดงความเป็นมาของสมณศักดิ์ พัดยศ สัญญาบัตร ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งพระครูสัญญาบัตรจนถึงปัจจุบัน รวมถึงรูปภาพโบราณ ศิลปวัตถุ โล่รางวัลเกียรติยศที่สถาบันต่าง ๆ

พระบรมธาตุเจดีย์พระพุทธบาทสี่รอย

พระบรมธาตุเจดีย์พระพุทธบาทสี่รอย เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ศิลปกรรมในพระธาตุเป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง มีพระประธานแบบศิลปะสุโขทัยประยุกต์ลงรักปิดทอง

หอแก้ว

หอแก้วหรือมณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ด้านในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลายองค์ รวมทั้งพระธาตุของพระเกจิดังสายหลวงปู่มั่น 

ปัจจุบันชุมชนชาวล้านนาวัดป่าดาราภิรมย์ ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรทั้งสิ้น 867 คน 523 หลังคาเรือน แต่นอกเหนือจากชาวล้านนาที่เป็นประชากรหมู่มากแล้ว ภายในชุมชนยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยได้เดินทางเข้ามาทำงานในชุมชน เช่น ชาวไทใหญ่ และชาวพม่า เป็นต้น 

การประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย มีทั้งที่ทำการเกษตร รับจ้างทั่วไป รับราชการ ลูกจ้างเอกชน และค้าขาย โดยมีการเปิดร้านขายของชำสินค้าจิปาถะสำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2-3 ร้าน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รวมตัวกันก่อตั้งศูนย์หัตถกรรมเมตตานารี แล้วนำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ชุมชนมาแปรรูปสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านออกวางจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้างานฝีมือ ทั้งผ้าปัก ผ้าถัก ผ้าไตรจีวร รวมถึงของที่ระลึกต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมวัดป่าดาราภิรมย์ เพื่อสร้างรายได้คนในชุมชุนและอนุรักษ์สืบทอดลูกหลานได้รักษา

คนในชุมชุมส่วนใหญ่ชอบมาทำบุญกันใน เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำบุญ ชาวบ้านจะมาพูดคุยกัน เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของแต่ละคน การงานหน้าที่ต่าง ๆ และมีกิจกกรมต่าง ๆ ภายในวัดให้คนในชุมชุนได้เข้าร่วมบ่อยครั้ง อนึ่ง ภายในชุมชนมีที่อ่านหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะเพื่อให้บริการแก่ชาวบ้านในชุมชนที่ชื่นชอบการติดตามข่าวสารบ้านเมืองจากการร่ายเรียงของตัวอักษรผ่านกลิ่นไอของหน้าหนังสือพิมพ์

อาหารส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น เนื้อสัตว์ สามารถหาซื้อตามร้านขายของชำทั่วไปได้ รวมถึงพืชผักสวนครัว และผักพื้นบ้านต่าง ๆ ที่สามารถหาได้ภายในพื้นที่ชุมชน

การทำงาน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และพื้นที่ที่เป็นของสมาชิกร่วมชุมชนโดยการเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้าง เช่น รับจ้างหว่านข้าว รับจ้างฉีดย่าฆ่าแมลง รับจ้างเกี่ยวข้าว เป็นต้น  

การแต่งกาย โดยปกติจะแต่งกายตามสมัยนิยมทั่วไป เว้นแต่วันสำคัญทางศาสนาลานประเพณีต่าง ๆ ที่ชาวบ้านมักจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง

ประเพณีสำคัญ

  • ประเพณีงานปอยหลวง เป็นประเพณีทำบุญเฉลิมฉลองศาสนสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตนและครอบครัว ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้านในชุมชน การทำบุญปอยหลวงที่นิยมทำกัน คือ ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ บรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมักจะทำช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี

  • ประเพณีเข้าอินทขิล เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวเชียงใหม่ถือปฏิบัติสืบทอดมาอย่างช้านานเช่นเดียวกับชาวบ้านในชุมชนล้านาวัดดาราภิรมย์ เมื่อถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 ในวันนี้ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “วันเข้าอินทขิล” เป็นวันที่ชาวเชียงใหม่ทั่วทุกสารทิศจะร่วมกันประกอบพิธีบูชาอินทขิลที่เป็นเสาหลักเมือง ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงใจกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านเมือง

1. พระเทพวชิราธิบดี (ฤทธิรงค์ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์

การศึกษา

  • นักธรรมชั้นเอก, วท.บ., ปร.ด.(กิตติ์)
  • ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เกียรติคุณ พ.ศ. 2561 ได้รับถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

  • พ.ศ. 2550 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง ควบสมณศักดิ์เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

ฝ่ายการศึกษา

  • ครูสอนปริยัติธรรมแผนกธรรมสำนักเรียน (ศาสนศึกษา) ณ วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
  • เจ้าสำนักเรียน (ศาสนศึกษา) ณ วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
  • กรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวงของคณะสงฆ์ ภาค 4-5-6-7 ฝ่ายธรรมยุต

ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์

  • เป็นผู้ก่อตั้งกองทุนมูลนิธิส่งเสริมการศึกษา อุปถัมภ์นิตยภัตครูผู้สอนและตำราเรียนแก่นักเรียน สร้างขวัญและกำลังใจ โดยมอบรางวัลแก่ครูและนักเรียนโดยตลอด ยกย่องผู้ประสบความสำเร็จในการศึกษา

สมณศักดิ์

  • พ.ศ. 2533 เป็น พระครูสังฆวิชัย ฐานานุกรมใน พระเทพกวี (จันทร์ กุสโล)
  • พ.ศ. 2535 เป็น พระครูปลัด ฐานานุกรมใน พระเทพกวี (จันทร์ กุสโล)
  • พ.ศ. 2538 เป็น พระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์ ฐานานุกรมใน พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) วัดเจดีย์หลวงฯ
  • พ.ศ. 2544 เป็น พระครูปลัดสุวัฒนวรคุณ วิบุลธรรมรักขิต วิจิตรธรรมคณานุนายก ฐานานุกรมในพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) วัดเจดีย์หลวงฯ
  • พ.ศ. 2547 เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโสภณธรรมสาร
  • พ.ศ. 2558 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิญาณ บริหารศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. 2565 เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวชิราธิบดี ศรีศาสนกิจดิลกคุณ อดุลธรรมกถาสุนทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตำนานพระบรมธาตุพระพุทธบาทสี่รอย

ในสมัยพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จาริกประกาศธรรมมายังปัจจันตประเทศ  (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ได้เสด็จมาถึงทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเขา "เวภารบรรพต"  พร้อมกับพุทธสาวก 500 รูป และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อฉันจังหันแล้วก็ทราบด้วยญานสมบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้มีรอยพระพุทธบาทเจ้าประทับอยู่แล้วถึง 3 พระองค์ พระสารีบุตรได้ทูลถามว่า “พระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด” จึงตรัสตอบว่า “ในอดีตกาลมีพระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่แห่งนี้แล้ว 3 พระองค์”  ดังนั้นพระองค์จะประทับไว้เป็นรอยที่สี่ และต่อไปแม้นว่าพระพุทธเจ้าศรีอารยเมตไตรยจักเสด็จมาอีก ก็จะมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ สถานที่แห่งนี้อีก  แต่จะลบรอยทั้ง แต่จะลบรอยทั้งหมดออก ให้เหลือรอยพระบาทเพียงรอยเดียว เมื่อตรัสแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทที่ประทับอยู่แล้ว 3 รอยนั้นรวมเป็น 4 รอยด้วยกัน

รอยพระพุทธบาททั้งสี่รอย ประกอบด้วย

  • พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุลันธะ 
  • พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ 
  • พระพุทธเจ้ากัสสปะ 
  • พระพุทธเจ้าโคตะมะ

2,000 ปีล่วงไป เทวดาประสงค์ให้พระพุทธบาทปรากฏแก่สายตาปวงชน จึงนิมิตพญาเหยี่ยวบินลงมาจากภูเขาเวภารบรรพตอันเป็นที่ตั้งของพระพุทธบาทสี่รอย ให้ลงไปเอาลูกไก่ของชาวบ้านที่อยู่เชิงเขาแล้วบินกลับขึ้นไปบนภูเขา พรานประจำหมู่บ้านโกรธมาก จึงตามขึ้นไปบนเขาเพื่อฆ่าเหยี่ยวแต่หาไม่พบ สิ่งที่พบกลับเป็รพบรอยพระพุทธบาททั้งสี่รอยอยู่บนพื้นหินใต้การปกคลุมของพืชพันธุ์ไม้ พรานเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจึงทำการสัการะบูชาแล้วกลับลงมาจากเขามาบอกชาวบ้าน ชาวบ้านก็พากันไปกราบไหว้บูชาและได้ชื่อว่า "พระบาทรังรุ้ง" (รังเหยี่ยว)

รัชสมัยพระยาเม็งรายเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพร้อมด้วยราชเทวีและข้าราชบริพาร และต่อจากนั้นมาผู้สืบราชสมบัติ ก็ถือเป็นประเพณีว่าเมื่อขึ้นครองราชย์ที่เชียงใหม่แล้ว จะต้องขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทรังรุ้ง และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธบาทสี่รอย”

เมื่อถึงสมัยพระยาธรรมช้างเผือกผู้ครองนครเชียงใหม่ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ได้สร้างวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้เป็นการชั่วคราว และได้สร้างแท่นนั่งร้านขึ้นรอบรอยพระพุทธบาท เพื่อไม่ให้ต้องปีนบันได และทำให้ฝ่ายหญิงได้ขึ้นไปมองเห็นนมัสการได้  และสร้างหลังคาชั่วคราวมุงเอาไว้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 เจ้าดารารัศมี ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และมีพระราชศรัทธาก่อสร้างวิหารเป็นการกราบบูชาพระพุทธบาท

กระทั่งปี พ.ศ. 2472 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้รื้อวิหารที่พระเจ้าธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราวนั้นออกเสีย เนื่องทรุดโทรมผผุพังเกินกว่าจะบูรณะ จึงได้สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทขึ้นใหม่ แล้วฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพุทธศาสนาไปชั่วกาลนาน

ทวีศิลป์ กระบวนสง่างาม. เจ้าหน้าที่ดูแลวัดป่าดาราภิรมย์. (28 มกราคม 2566). สัมภาษณ์.

เที่ยวทั่วไทย. (ม.ป.ป.). วัดพระพุทธบาทสี่รอย. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.thaiheritage.net/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566].

ผู้จัดการออนไลน์. (2565). “วัดป่าดาราภิรมย์” ยลความงามสถาปัตยกรรมล้าน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://mgronline.com/travel/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566].

SummerB. (2564). วัดป่าดาราภิรมย์ วัดสวย เชียงใหม่ ชมสถาปัตยกรรมสุดวิจิตรกว่า 100 ปี. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://travel.trueid.net/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566].