กทม.ส่งเสริมทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมลดขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564
image
 
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการขยะเศษอาหารของกรุงเทพมหานคร ว่ากรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน สถานศึกษา ภาคเอกชน บริษัท ห้าง ร้าน และองค์การมหาชน คัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่ต้นทางให้มากที่สุดก่อนนำไปทิ้งให้กับรถเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานศึกษา อาคารสำนักงาน ในการคัดแยกขยะเศษอาหารและส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้บำรุงต้นไม้ในพื้นที่องค์กรหรือแจกพนักงาน หรือลูกค้า นำกลับไปใช้ปลูกต้นไม้ที่บ้าน  ในส่วนของชุมชน กรุงเทพมหานครได้เข้าไปรณรงค์ให้ความรู้ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด รวมวางแผนและลงมือทำอย่างเหมาะสมในการร่วมลดและคัดแยกขยะตามใต้หลัก 3ช คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายชุมชน จนได้รับรางวัลในการประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) อย่าง ต่อเนื่อง 


นอกจากนี้ ได้ปลูกฝังให้นักเรียนโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง สร้างจิตสำนึกปลูกฝังการรับประทานอาหารแต่ละมื้อตักแต่พอทาน ทานให้หมด ไม่ให้เหลือเศษอาหาร หากมีเหลือก็นำไปทำปุ๋ยหมักโดยสอนให้เด็ก ๆ ฝึกทำปฏิบัติการหมักทำปุ๋ยหมัก น้ำจุลินทรีย์ หรือเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดเศษอาหารและทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือน และนำปุ๋ยที่ได้ไปปลูกผักปลอดสารพิษสำหรับโครงการอาหารกลางวันด้วย และยังส่งเสริมให้เด็กนำกลับไปฝึกทำที่บ้านร่วมกับผู้ปกครองด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะส่งเสริมการลดขยะตั้งแต่ต้นทางซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่ก็ยังมีขยะจากเศษอาหารส่วนหนึ่งที่ถูกทิ้งให้รถเก็บขยะนำไปกำจัด กรุงเทพมหานครจึงได้นำเทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อรองรับการจัดการเศษอาหารเข้ามาใช้ในการจัดการขยะเศษอาหาร ประกอบด้วย เทคโนโลยีการหมักทำปุ๋ย (Composting plant) เป็นการนำขยะอินทรีย์มาแปรรูปเป็นสารบำรุงดินเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ขนาด 1,600 ตันต่อวัน และเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (Mechanical Biological Treatment: MBT) การแปรรูปเศษอาหารด้วยกระบวนการหมักแบบไร้อากาศทำให้เกิดก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 800 ตันต่อวัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ในส่วนของสำนักงานเขตจะรวบรวมขยะเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ จากสถานประกอบการ ตลาด คัดแยกแล้วนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในพื้นที่เขตและนำไปใช้บำรุงรักษาต้นไม้ของสำนักงานเขต ช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่ต้องกำจัด และได้ประโยชน์จากปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ต้องเสียงบประมาณซื้อปุ๋ย รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อนอีกด้วย 


ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า สำหรับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าขยะเศษอาหารลดลงกว่าในภาวะปกติ โดยเมื่อปี 2562 ขยะเศษอาหารมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 48.18 แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2563 มีสัดส่วนของขยะเศษอาหารอยู่ที่ร้อยละ 38.03 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 มีสัดส่วนของขยะเศษอาหารร้อยละ 46.88 และการระบาดช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2564 มีสัดส่วนของขยะเศษอาหารร้อยละ 43.08 ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากความเข้มข้นของมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละระลอกที่แตกต่างกันตามความรุนแรง เช่น มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน มาตรการปิดสถานประกอบการบางประเภท เป็นต้น โดยเห็นว่าเมื่อมีการสั่งมารับประทานที่บ้าน ขยะจากเศษอาหารจะลดลงกว่าการรับประทานที่ร้าน อาจเนื่องมาจากหากรับประทานไม่หมดสามารถแช่ตู้เย็นเก็บอาหารไว้รับประทานในมื้อต่อไปได้ หรือสามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว แต่อย่างไรก็ตาม เศษอาหารยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในขยะที่ทิ้งไปกับรถขยะเพื่อกำจัด ซึ่งหากคัดแยกและใช้ประโยชน์ที่ต้นทางมากขึ้นจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดที่ปลายทางจำนวนมาก นับเป็นความท้าทายและโอกาสที่กรุงเทพมหานคร และทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคนในการร่วมมือกัน คัดแยกแยกและนำมาใช้ประโยชน์ที่ต้นทาง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการแปรรูปขยะเศษอาหารหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ผลิตใช้เอง และที่มีขายในท้องตลาด ซึ่งบางเทคโนโลยีสามารถแปรรูปขยะเศษอาหารเป้นปุ๋ยอินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมงสามารถนำมาใช้ในครัวได้เลย นับว่าสะดวกมากขึ้น เช่น เครื่องโอ๊คลิน เครื่องกำจัดเศษอาหาร HASS Food Waste Composter เครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร สมาร์ท คาร่า เครื่องกำจัดเศษอาหาร REWA นอกจากนั้น ยังมีเครื่องหมักปุ๋ยขนาดใหญ่ที่สามารถกำจัดเศษอาหารได้ครั้งละมาก ๆ เช่น เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ COWTEC เครื่องผลิตปุ๋ยหมักของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งจะช่วยอำนายความสะดวกในการหมักปุ๋ยอินทรีย์ได้มากขึ้นด้วย


ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางการจัดการขยะ ไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556 - 2575 ยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัย มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการขยะที่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการนำขยะไปใช้ประโยชน์ที่ต้นทาง ภายใต้การมีส่วนร่วมของสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการจัดการขยะที่ต้นทาง มีเป้าหมายนำขยะมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นทางเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 50 และลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้ได้ร้อยละ 20 ในปี 2575 ด้วยวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) ทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และกำจัดที่เหลือ (residues) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ