ข่าว

ประวัติ เมืองศรีเทพ โบราณสถานสำคัญ สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

ชวนรู้จัก เมืองศรีเทพ โบราณสถานสำคัญของวัฒนธรรมเอเชียอุษาคเนย์ จุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

เข้าสู่วันที่ 19 กันยายน 2566 วันสำคัญที่คนไทยจะมาร่วมลุ้น เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ จากกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ภายใต้การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 โดยอยู่ในวาระการพิจารณาที่ 31 จากทั้งหมด 53 วาระ

ท่ามกลางวันสำคัญของคนไทยเช่นนี้ Thaiger จึงถือโอกาสพาทุกคนมาเจาะลึกประวัติเมืองโบราณศรีเทพ เมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรมศิลปากรผลักดันให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO

ประวัติ เมืองศรีเทพ จุดเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนสินค้า ตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์

เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง นับเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้า และยังเป็นเส้นทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทวารวดี และเขมร ตามลำดับ

ก่อนที่เมืองศรีเทพจะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่สุโขทัย อยุธยา จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพ

เมืองศรีเทพเป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ภายในเมืองศรีเทพจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ เมืองใน ผังเมืองค่อนข้างกลม มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานกระจายอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู

เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองสำรวจพบโบราณสถานจำนวน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก นอกคูเมืองยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี และโบราณสถานปรางค์ฤาษีที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร

ประวัติ เมืองศรีเทพ
ภาพจาก Facebook Page : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

การค้นพบเมืองศรีเทพ เมืองโบราณสำคัญแห่งวัฒนธรรมทวารวดี

ในปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงตั้งพระทัยจะค้นหาเมืองศรีเทพตามที่ปรากฏในทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ จนได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี หรือเมืองท่าโรงในอดีต และเมืองศรีเทพ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงสันนิษฐานว่า เมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า เมืองศรีเทพ ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่ง กล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ พระองค์ทรงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางป่าสัก

เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่ และถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อที่จะตรวจสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้าง และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง จนในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า เมืองศรีเทพ

ตำนานเมืองเทพ-เทวดา

การขุดค้นเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยกรมศิลปากร พบว่าภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณนั้น ไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้านและตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น ชาวบ้านเล่าว่า พื้นที่ในเมืองโบราณ มีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา

เมืองโบราณแห่งนี้เทพเทวดาได้สร้างเอาไว้ก่อนที่จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ในสมัยก่อนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย และมีความเชื่อว่าหากใครเข้าไปอยู่ในเมืองโบราณแห่งนี้จะเกิดอาเพศ บ้างก็ล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนถึงขั้นเสียสติ ชาวบ้านจึงทำได้แค่ล่าสัตย์ หรือหาอาหารในพื้นที่แห่งนี้เท่านั้น

การล่มสลายของเมืองศรีเทพ

เมืองศรีเทพเจริญรุ่งเรืองอยู่ราว 700 ปี จึงค่อย ๆ เสื่อมลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ท่ามกลางการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เมืองศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลงและกลายเป็นเมืองรกร้างในที่สุด

ประวัติเมืองโบราณศรีเทพ
ภาพจาก : Amazing Thailand

จากการที่เมืองศรีเทพเป็นเมืองที่มีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน และดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาที่บริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาค จนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางกรมศิลปกากร จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ และผลักดันให้ศรีเทพเป็นมรดกโลกอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมศิลปากร

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button