‘กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ’ คืออะไร? อังกฤษส่งให้ยูเครน แล้วทำไมปูตินต้องหัวร้อนด้วย!

23 มีนาคม 2566 - 09:23

What-is-Depleted-uranium-ammunition-russia-ukraine-war-SPACEBAR-Hero
  • เปิดข้อสงสัย ‘กระสุนยูเรเนียมด้อนสมรรถนะ’ เป็นอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่? ทำไมรัสเซียต้องกังวลด้วย? ผลกระทบร้ายแรงแค่ไหน?

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์์ ปูติน ของรัสเซียออกมาประณามแผนการของอังกฤษที่คาดว่าจะส่งหัวกระสุน ‘Depleted uranium’ หรือยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ซึ่งมีส่วนประกอบของนิวเคลียร์ให้กับทางยูเครน เพราะว่ากันว่าเป็นกระสุนที่สามารถเจาะรถถังและชุดเกราะได้ง่ายๆ เลยทีเดียว 
 
ขณะที่ทางรัสเซียก็ฉุนจัดต้องออกมาเตือนว่า การกระทำนี้เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของอาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งและอาจเป็นการเพิ่มโอกาสของ ‘การชนกันของนิวเคลียร์’ หากเป็นเช่นนั้น รัสเซียก็จะโต้กลับด้วย” ปูตินกล่าวพร้อมขู่ว่าอาจจะเพิ่มนิวเคลียร์ในสงครามยูเครนด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็ออกมาปฏิเสธว่า  “ไม่มีการยกระดับนิวเคลียร์ ประเทศเดียวในโลกที่พูดถึงปัญหานิวเคลียร์คือ รัสเซีย ไม่มีภัยคุกคามต่อรัสเซีย…พวกมันไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นยุทโธปกรณ์ธรรมดาล้วนๆ นี่เป็นเพียงการช่วยเหลือยูเครนในการป้องกันตัวเองเท่านั้น” เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกล่าว 
 
แล้วกระสุน ‘Depleted uranium’ ที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่? มันร้ายแรงยังไง? ทำไมถึงทำให้รัสเซียหัวร้อนขนาดนี้? 
‘Depleted uranium’ คืออะไร? 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6AnjIMyqtdWMMb9rhJIrLG/8a15714610ed5467f0849428243c34aa/What-is-Depleted-uranium-ammunition-russia-ukraine-war-SPACEBAR-Photo01
‘ยูเรเนียมพร่อง หรือยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (Depleted uranium / DU)’คือ ยูเรเนียมที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็น Uranium-238 และมีไอโซโทป Uranium-235 (เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์และระเบิดที่ทรงพลังที่ใช้ในอาวุธนิวเคลียร์) น้อยกว่าปกติ โดยเป็นส่วนที่เหลืออยู่จากการสกัดยูเรเนียมธรรมชาติสำหรับนำไปใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์  
 
กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันเป็นผลพลอยได้จากยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ (Enriched uranium) หรือสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากยูเรเนียมธรรมชาติผ่านกระบวนการใช้เพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์หรือเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 
 
แม้ว่าจะมีกัมมันตรังสีเมื่อแข็งตัว แต่ก็มีปฏิกิริยาน้อยกว่ายูเรเนียมในรูปแบบธรรมชาติมาก หลังจากผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วเราสามารถพบยูเรเนียมพร่องได้ในอุปกรณ์ถ่ายภาพรังสีบางชนิด เช่น เอ็กซ์เรย์ และเครื่องกำบังกัมมันตรังสีในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังใช้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งอีกด้วย 
 
หลายประเทศรวมทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ และอังกฤษ ต่างก็มีคลังยูเรเนียมพร่องและนำมาใช้เป็นกระสุนทั้งนั้น ขณะที่การใช้ยูเรเนียมพร่องในอาวุธยุทโธปกรณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และถือเป็นแนวทางปฏิบัติของอังกฤษมานานหลายทศวรรษแล้ว 
 
แต่อย่างไรก็ตามยูเรเนียมพร่องยังคงสามารถก่อให้เกิดความเสียหายจากรังสีอย่างร้ายแรงได้หากเข้าสู่ร่างกาย อย่างเช่น โรคมะเร็ง อัตราความพิการแต่กำเนิดที่เพิ่มขึ้นในเขตสงคราม และความเจ็บป่วยอื่นๆ  
‘กระสุนยูเรเนียมพร่อง’ = อาวุธนิวเคลียร์? 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4ZgA2cYwKDeTnZz99LerFd/918a7c75019f75501a3e17dbdd0b4f4d/What-is-Depleted-uranium-ammunition-russia-ukraine-war-SPACEBAR-Photo02
ยูเรเนียมพร่อง / DU สามารถนำใช้เป็นกระสุนที่สามารถยิงเจาะรถถังและชุดเกราะหนาเป็นชั้นๆ ได้ง่ายกว่า เนื่องจากกระสุนมีสารกัมมันตรังสี อาวุธจึงมีความแข็งและหนาแน่นอย่างไม่น่าเชื่อ จึงทำให้เจาะเครื่องจักรหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากระสุนรถถังทั่วไป โดยกระสุนที่มี DU จะคมขึ้นและติดไฟเมื่อสัมผัสกับเกราะจนเกราะร้อนระอุแตกกระจายได้ 
 
กระสุน DU ที่ยิงออกไปมักจะระเบิดออก เนื่องจากมีคุณสมบัติในการลุกไหม้ด้วยตัวเอง ซึ่งอยู่ในรูปของกระสุนปืนใหญ่ กระสุนรถถัง และปืนใหญ่ของเรือรบ  
 
อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่าการใช้ยูเรเนียมพร่องนั้นถือเป็นการทำสงครามนิวเคลียร์ก็ได้จุดประกายการถกเถียงอย่างดุเดือดไปทั่วโลก แต่ทางกระทรวงกลาโหมของอังกฤษได้เน้นย้ำแล้วว่ายูเรเนียมพร่อง ‘เป็นส่วนประกอบมาตรฐานและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์’ 
 
ฮามิช เดอ เบรตตัน-กอร์ดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและอดีตผู้บัญชาการกองทหารรถถังแห่งอังกฤษ กล่าวว่า “ยูเรเนียมพร่องเป็นส่วนประกอบทั่วไปของกระสุนปืน และอาจนำไปใช้โดยกองทัพอื่นๆ ทั่วโลกได้ และไม่มีทางที่คุณจะสามารถสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์หรือระเบิดนิวเคลียร์ด้วยยูเรเนียมที่หมดฤทธิ์ได้” 
 
Institute for the Study of War (ISW) คลังสมองของสหรัฐฯ กล่าวว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ยูเรเนียมพร่องนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์…อาวุธดังกล่าวไม่สามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธรังสีได้ เนื่องจากปลอกกระสุนไม่มีวัสดุฟิสไซล์หรือวัสดุกัมมันตรังสี” 
 
ขณะที่สถาบันวิจัยการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติก็ออกมากล่าวว่า “กระสุนยูเรเนียมพร่องไม่สามารถเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้” 
 
ในทางตรงกันข้าม Campaign for Nuclear Disarmament (CND) กลับประณามว่า “การใช้ยูเรเนียมพร่อง นั้นอาจทำให้เกิด ‘ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพิ่มขึ้น’ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับจุดที่โดนกระสุนยูเรเนียมพร่องยิงออกไป” 
 
CND เรียกร้องมานานแล้วว่าให้รัฐบาลที่ใช้ยูเรเนียมพร่องในอาวุธยุทโธปกรณ์เร่งดำเนินการ และหยุดการนำไปใช้กับปลอกกระสุน  
ผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือน! 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/37fFrbGLC9581niUnfe0XU/db890fb1973fd4c94267ebfc812feb37/What-is-Depleted-uranium-ammunition-russia-ukraine-war-SPACEBAR-Photo03
สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กล่าวว่า “ยูเรเนียมที่สูดดมหรือกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้ในปริมาณที่เพียงพอ…ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นสูงในร่างกายอาจทำให้ไตวายได้เนื่องจากความเป็นพิษของสารเคมีและอาจมีความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ แต่อาจใช้เวลาหลายปีที่พิษจะกระทบต่อร่างกาย” 
 
เมื่อพูดถึงกระสุน DU นั้นดูเหมือนว่าความเสี่ยงจะลดลง เนื่องจากยูเรเนียมพร่องมีกัมมันตรังสีน้อยกว่ายูเรเนียมธรรมชาติอย่างมาก แต่ความเสี่ยงในระยะยาวก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีสารเคมีตกค้างอยู่ในดินสนามรบ นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลบางประการว่า ยูเรเนียมพร่องอาจปนเปื้อนน้ำหรือเสบียงอาหารหากซึมลงในดินที่ไม่ใช่บริเวณสนามรบ 
 
CND ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกสนับสนุนการห้ามใช้ยูเรเนียมพร่อง ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้บริเวณเหล่านั้นไม่มีสารปนเปื้อนด้วย ซึ่งบางประเทศอย่างเบลเยียมและคอสตาริกาก็ได้ห้ามการใช้ยูเรเนียมในกระสุนทั่วไปแล้ว 
 
“การใช้งานมีผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือนที่ตกอยู่ในความขัดแย้งทั่วโลก” CND กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์