ที่บ้านจ๊างนัก อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า sacit มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญอีกด้าน คือ การส่งเสริมคุณค่าบุคคลผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะฝีมือ ในงานศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้าน อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่างในสาขาต่างๆ  ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าเป็นผู้ที่สืบสานและรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่มาตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้สร้างสรรค์มีอายุมากขึ้นและอาจขาดทายาท ผู้สืบสานภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย sacit จึงได้มีกิจกรรมเฟ้นหาและเชิดชูเกียรติบุคคลเป็น                  “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันนำมาเชิดชูแล้วกว่า 438 ราย และได้ดำเนินการรวบรวมชีวประวัติ ผลงาน และองค์ความรู้ในการทำงานศิลปหัตถกรรมของผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติแต่ละประเภท โดยเฉพาะในงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายให้คงอยู่ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบต่อไป 
การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่บ้านจ๊างนักในครั้งนี้

จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ได้แก่ งานแกะสลักไม้  “งานแกะสลักไม้” บ้านจ๊างนัก อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างสรรค์โดยครูเพชร วิริยะ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2564 หรือที่รู้จักกันในนาม “สล่าเพชร” เป็นช่างฝีมือผู้เปี่ยมด้วยทักษะ และความเชี่ยวชาญในด้านการแกะสลักไม้ และยังถือเป็นบรมครูแห่งวงการงานแกะสลักช้างไม้ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เปลี่ยนภาพจริงลงสู่เนื้อไม้ นำภูมิปัญญาที่สั่งสมมาพัฒนาต่อยอด ฝึกฝน และค้นคว้าจนถ่ายทอดงานแกะสลักช้างไม้เสมือนจริง เลียนแบบท่าทางของช้าง ตลอดจนถึงการแสดงอารมณ์ผ่านรูปลักษณ์อากัปกิริยาต่าง ๆ ของช้าง ทั้งช้างหนึ่งตัว สองตัว สามตัว ไปจนถึงลักษณะท่าทางของช้างเวลาอยู่รวมกันเป็นโขลง จนเป็นที่ได้รับ การกล่าวถึงว่าเป็นสล่าผู้มากฝีมือในการแกะสลักช้างได้เสมือนจริงจนเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางมาจนถึงทุกวันนี้


นอกจากนี้ sacit มีเป้าหมายสำคัญในการสืบสานองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยจากผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และสังคมไทย โดยมีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ในรูปแบบ sacit Archive ที่ครอบคลุมงานศิลปหัตถกรรมไทยกว่า 3,000 รายการ ในกลุ่มเครื่องทอ เครื่องจักสาน เครื่องไม้ เครื่องดิน เครื่องโลหะ เครื่องกระดาษ เครื่องหนัง เครื่องรัก รวมถึงเครื่องอื่นๆ อาทิ งานเทริดมโนราห์ งานกระจกเกรียบ เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นักออกแบบ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและวิจัย หรือนำข้อมูลองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์ช่วยสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย สร้างรายได้ ตลอดจนการจัดกิจกรรมและเวิร์คช้อปต่าง ๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในงานศิลปหัตถกรรมไทยร่วมกันระหว่างช่างฝีมือและคนรุ่นใหม่

เช่น นิทรรศการเชิดชู ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย หรือการสาธิตกระบวนการทำงานหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดินครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้าชมได้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ และหันมาร่วมอนุรักษ์และ สืบสานงานช่างฝีมือเหล่านี้ไว้ไม่ให้สูญหาย และเกิดเป็นสังคมงานคราฟต์ หรือ Social Craft Network ต่อไป.