Important Announcement
PubHTML5 Scheduled Server Maintenance on (GMT) Sunday, June 26th, 2:00 am - 8:00 am.
PubHTML5 site will be inoperative during the times indicated!

Home Explore หน่วยที่1 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเบื้องต้น

หน่วยที่1 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเบื้องต้น

Published by นุสราสินี ณ พัทลุง, 2021-11-04 06:21:20

Description: หน่วยที่1 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเบื้องต้น

Search

Read the Text Version

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเบื้องต้น (30600-0002) (Basic of Aquaculture)

หน่วยที่ 1 ความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หัวข้อเรื่อง 1. ความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. ความหมายของสัตว์น้ำ 3. ความหมายของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4. ประวัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

จุดประสงค์การเรียนรู้ 1. นักศึกษาสามารถบอกความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ 2. นักศึกษาสามารถบอกความหมายของสัตว์น้ำได้ 3. นักศึกษาสามารถบอกความหมายของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ 4. นักศึกษาสามารถอธิบายประวัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ 5. นักศึกษาเห็นความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

สมรรถนะประจำหน่วย แสดงความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์น้ำมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สร้างรายได้ สร้างอาชีพ เป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศยังสามารถช่วยรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อม ให้ความ เพลิดเพลินสำหรับการพักผ่อน ในอดีตทรัพยากรสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์มาก การเพาะพันธุ์จึงทำแบบวิธีเลียน แบบธรรมชาติ ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำ มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งการ เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสภาพความแห้งแล้งของภูมิประเทศ จึงมีผลทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง การเพาะเลี้ยงจึงมีบทบาทสำคัญในการผลิตสัตว์น้ำให้มีปริมาณเพียงพอต่อ ความต้องการของผู้บริโภคและทดแทนสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีจำนวนลดลง

1. ความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นการผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อใช้ในการเลี้ยงจนได้ ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งมีความสำคัญดังนี้ 1.1 เพื่อผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ใช้เลี้ยงเพื่อการบริโภคและปล่อยในแหล่งน้ำเป็นการ อนุรักษ์และป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางชนิดที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ และ เป็นการรักษาระดับการผลิตในแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดย เฉพาะประชาชนยากจนในชนบทที่ยังต้องพึ่งพาการจับสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพ

1.2 เพื่อเลี้ยงเป็นอาหารของมนุษย์ สัตว์น้ำเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก ย่อยง่าย และจากการวิเคราะห์ ทางเคมีพบว่า ปลามีปริมาณโปรตีนสูงที่สุด คิดเป็น 20.4 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ กุ้ง หมึก หอย และ ปู มีปริมาณโปรตีน 19.7,15.3,12.3 และ 15.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (เวียง,2542) เนื้อปลาย่อยง่าย โดย ประมาณ 1.5 ถึง 1.8 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อได้ 1 กิโลกรัม ขณะที่เนื้อไก่ 2.5 กิโลกรัม เนื้อหมู 4 กิโลกรัม และเนื้อวัว 8 กิโลกรัม นอกจากนี้สัตว์น้ำทะเลและสัตว์น้ำจืดมีกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อ ร่างกาย คือ กรดไขมันโอเมก้า-3 (-3) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ อุดตัน ป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ และกระตุ้นการสร้างสารซีโรโทนินในสมอง มีฤทธิ์ต้าน การซึมเศร้า เป็นสารอาหารสำคัญในการสร้างเซลล์ประสาทเด็กและทารกในครรภ์ ซึ่งกรดไขมันโอเม ก้า-3 พบได้ทั้งในน้ำมันจากปลาทะเลและปลาน้ำจืดบางชนิด ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาทู ปลาโอ ปลากะพง ปลาเก๋า และปลาอินทรี ส่วนปลาน้ำจืดมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณที่สูง ได้แก่ ปลาสวายเนื้อขาว ปลาช่อน ปลานวลจันทร์ เมื่อเปรียบเทียบปลาที่มีน้ำหนัก 100 กรัม มีปริมาณโอเมก้า-3 ดังนี้ ปลากะพงมี 310 มิลลิกรัม ปลาช่อนมี 870 มิลลิกรัม ปลาแซลมอนมี ประมาณ 1,000-1,700 มิลลิกรัม และปลาสวายเนื้อขาวมีสูงถึง 2,570 มิลลิกรัม นอกจากนี้นักวิจัยยัง พบว่า ภาวะการเกิดโรคหัวใจมีความสัมพันธุ์ไปในทางตรงกันข้ามกับการบริโภคสัตว์น้ำ เช่น ชาวเอสกิโมในประเทศกรีนแลนด์และชาวญี่ปุ่นที่บริโภคสัตว์น้ำสูงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจต่ำ

1.3 สร้างรายได้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสร้างรายได้และกำไรแก่ผู้ประกอบการได้ เป็นอย่างดี เช่น การเลี้ยงกบในบ่อพลาสติกมีกำไรสุทธิ 12,163 บาทต่อบ่อ และ กำไรสุทธิจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม 11,181 บาทต่อไร่ (เพียงเพ็ญ, 2556) มีกำไร 6,130 บาทต่อกระชัง หรือ 8.34 บาทต่อกิโลกรัม (เพียงเพ็ญ, 2547) ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งขาวแวนาไมมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 34,554 บาทต่อไร่ และการ เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังกำไรสุทธิ 8,880 บาทต่อกระชัง (กรมประมง, 2559) และการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่นาข้าวทำให้เกษตรกรมีรายได้ 50,000- 100,000 บาทต่อปี ซึ่งมีรายได้มากกว่าการทำนาประมาณ 4-8 เท่า (นฤมล, 2549) ส่วนกำไรจากการเพาะและอนุบาลลูกปลากราย และปลาสวายมี กำไรสุทธิ 2.05 และ 0.11 บาทต่อตัว ตามลำดับ ส่วนการล่อพันธุ์หอยนางรม จังหวัดจันทบุรี มีกำไรสุทธิ 0.40 บาทต่อพวง หรือ 100,000 บาทต่อปี (มนัส, 2557)

1.4 สร้างอาชีพ เป็นแหล่งจ้างงาน อาจเป็นการจ้างงานเต็มเวลาบางฤดูกาล หรือ จ้างเป็นครั้งคราว การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงน้ำแข็ง โรงงาน แปรรูปสัตว์น้ำ ห้องเย็น อู่ต่อเรือ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์น้ำ ยา สารเคมี อุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์ม รวมถึงการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆ ที่ใช้ในการ ผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง รำ ปลาป่น และบรรจุภัณฑ์ (สุชาติ, 2559) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน การส่งเสริมการเพาะ เลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง (2559) รายงานว่ามีผู้ประกอบอาชีพในภาคประมง มากกว่า 2 ล้านคน ผู้ทำการประมงคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ทำงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวต่าง ชาติ

1.5 เป็นแหล่งของเงินตราต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยส่ง ออกสินค้า ประมง เช่น กุ้ง ปลา หมึก ทั้งสัตว์น้ำสดและแปรรูปแช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 220,997 ล้านบาท ซึ่งเกินดุลการค้าสัตว์น้ำมูลค่า 108,279 ล้านบาท โดยมีกุ้งเป็นสินค้าประมงที่มีมูลค่าการส่งออกมาก ที่สุดคิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ และตลาดหลักที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป คิดเป็น 45.5,20.16 และ 15.20 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (กรมประมง,2559)

1.6 ช่วยในเรื่องสภาพแวดล้อม สัตว์น้ำช่วยกำจัดเศษอาหาร แมลง และวัชพืชน้ำโดยมีปลาหลายชนิด สามารถนำเศษอาหารจากครัว เรือนมาใช้ประโยชน์ เช่น ปลาสวายและปลาไน ปลาที่ช่วยกำจัดวัชพืช สาหร่าย แหน เช่น ปลากินหญ้า (ปลาเฉา) ปลาตะเพียน ส่วนสัตว์น้ำ จำพวกกุ้ง ปู สามารถกินซากอาหารเน่าเปื่ อยตามพื้นบ่อได้ พวกหอยสามารถกินอาหารขนาดเล็กได้ดี

1.7 ให้ความเพลิดเพลินและการพักผ่อน สัตว์น้ำเป็น ทรัพยากรประมงที่ช่วยในเรื่องการท่องเที่ยว การกีฬาและการพักผ่อน

1.8 เป็นอาหารเสริมสุขภาพและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เป็นอาหารเสริมสุขภาพ เช่น คลอเรลลา สไปรูลินา และนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง เช่น ครีมอาบน้ำ แชมพู โลชั่น ครีมบำรุงผิว ครีมพอกหน้า เป็นต้น

1.9 เป็นแหล่งพลังงาน หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน สนใจ พัฒนาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจาก สาหร่ายขนาดเล็กเพื่อเป็นพลังงานทดแทน เนื่องจากภายในเซลล์ สาหร่ายบางชนิดมีการสะสมน้ำมันไว้สูงมากถึงร้อยละ 80 ของน้ำ หนักแห้ง ดังตารางที่ 1.1 สาหร่ายขนาดเล็กมีการเจริญเติบโตที่ รวดเร็ว ใช้เวลาเพาะเลี้ยงสั้น และมีผลผลิตต่อพื้นที่สูงกว่าพืช น้ำมันชนิดอื่นๆ (สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง, 2557) ดังตารางที่ 1.2





ความหมายของสัตว์น้ำ สัตว์น้ำ (Aquatic Animal) หมายถึง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ สัตว์จำพวกสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง สัตว์ที่มีการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำ สัตว์ที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในน้ำเฉพาะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของ สัตว์น้ำและสาหร่ายทะเล ซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และรวมถึงพรรณไม้ น้ำตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพรรณไม้น้ำนั้นด้วย (สุชาติ, 2559) ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำว่า สัตว์น้ำ มีความหมายครอบคลุมอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อ ประโยชน์ในการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย (โชคชัย, 2554)

ความหมายของสัตว์น้ำ โดยคำจำกัดความนี้ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นปกติ หมายถึง ปลา กุ้ง หอย ปู หมึก กลุ่มสาหร่าย และพรรณไม้น้ำ สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก หมายถึง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง เป็นต้น สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง หมายถึง สัตว์เลื้อย คลาน เช่น จระเข้ ตัวเงินตัวทองเต่า ตะพาบน้ำ เป็นต้น สัตว์ที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งอาศัยอยู่ ในน้ำเฉพาะช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น หนอนแดง ยุง แมลงปอ เป็นต้น

ความหมายของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หมายถึง กระบวนการใดๆ ก็ตามที่ สามารถทำให้ไข่และน้ำเชื้อของสัตว์น้ำมีโอกาสเข้าผสมกันเกิดการ ปฏิสนธิตัวอ่อนมีการเจริญพัฒนาจนฟักเป็นตัวและมีชีวิตรอด (สุชาติ, 2559) และเลี้ยงจนมีขนาดตามที่ต้องการ ตลอดถึงการ ปรับปรุงพันธุ์ปลาให้มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของตลาด

2 ประวัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถสรุปประวัติความเป็นมาได้ดังนี้ 2.1 ประวัติการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในต่างประเทศ ชาวต่างประเทศรู้จักวิธีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำมาตั้งแต่สมัยใด ไม่ปรากฏเด่นชัด ในสมัยแรกๆนั้น การเพาะฟักปลาคาร์ฟทำโดยใช้ วิธีเลียนแบบธรรมชาติ ในแถบเอเชียนิยมเพาะโดยใช้รังฟักไข่เทียม ที่ทำจากใยมะพร้าวและนำมาต่อเรียงกับราวไม้ไผ่ที่เรียกว่า กากะบาน (kakaban)

ต่อมาพระชาวฝรั่งเศสชื่อ ดอม พินซอน ได้ทดลองผสมเทียมปลาเทราต์ จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีผู้สามารถผสมเทียมปลาเทราต์เป็นผล สำเร็จโดยใช้วิธีการแบบเปียก แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ต่อมาชาวรัสเซียขื่อ วิราสกี้ ได้ค้นพบวิธีการผสมเทียมแบบแห้งโดยผสม ไข่กับน้ำเชื้อในภาชนะแห้ง ซึ่งวิธีนี้อัตราการผสมติดของไข่ปลาร้อยละ 95 การ ผสมเทียมปลาโดยวิธีการนี้จึงถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในระหว่างปี ค.ศ. 1856-1870 นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคนิคที่สำคัญ ต่อมาจึงมีผู้ทดลอง ผสมเทียมปลาบรูคเทราต์ ปลาแซลมอน ปลาคอด ปลาแซด ปลาสเตอร์เจียน ปลากะพงขาว ปลาสเมลท์ ปลาคาร์พ ปลาเฉา เป็นต้น

จนกระทั่งปี ค.ศ.1930 บี เอ ฮุลเซย์ ชาวอาร์เจนตินา ได้ใช้สารละลายต่อม ใต้สมองสดจากปลาชนิดอื่นฉีดกระตุ้นปลาที่ออกลูกเป็นตัว แต่ปรากฏว่า ลูกปลาคลอดก่อนกำหนด ต่อมาในปี ค.ศ. 1934 อาร์วอน เออริง ชาวบราซิล เป็นบุคคลแรกที่ ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ปลาวางไข่โดยฉีดด้วยสารละลาย ต่อมใต้สมองจากปลาชนิดอื่น ทำให้การผสมเทียมปลาก้าวหน้าขึ้น เรื่อยๆ จนชาวอิสราเอลเป็นประเทศแรกที่สามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ปลาซ่งกับปลาเกล็ดเงิน ปลานิลกับปลาชนิดอื่นในสกุลทิลาเปีย และการ ใช้ฮอร์โมนเพศผู้ในการแปลงเพศปลานิลให้เป็นเพศผู้เพื่อเพิ่มผลผลิต

จนปัจจุบันความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ มีบทบาท อย่างมากต่อการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ เพียงพอกับความต้องการของการบริโภคสัตว์น้ำ

2.2 ประวัติการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทย ประเทศไทยในสมัยก่อนมีความอุดมสมบูรณ์มาก ดังคำพังเพยที่ กล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” มีแหล่งน้ำจืดรวมเนื้อที่ผิวน้ำ ประมาณ 3,610 กิโลเมตร มีแม่น้ำจำนวน 47 สาย เฉพาะที่ไหลลงทะเลฝั่ ง อ่าวไทยและทะเลฝั่ งอันดามัน มีจำนวน 23 สาย มีแหล่งน้ำประมาณ 11,030 แห่ง ในฤดูน้ำหลากพื้นที่ของแหล่งน้ำจืดจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,525 กิโลเมตร เพราะน้ำล้นฝั่ งท่วมตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของ สัตว์น้ำ (สุภาพร, 2552)

การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของประเทศไทยประสบความสำเร็จครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2486 ในการผลิตปลาไนโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติโดย หลวงจุชีพ พิชชาธร นายบุญ อินทรัมพรรย์ และนายโชติ สุวัตถิ ซึ่งได้รับทุนมหิดลไปศึกษาวิชาการเพาะพันธุ์ปลาที่สหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. 2493 กรมประมงได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยส่ง ดร. เชา เวน ลิง (Dr. Shao Wen Ling) ผู้เชี่ยวชาญการเพาะพันธุ์ปลามาช่วยพัฒนาการ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยและยังช่วยหาทุนให้นักวิชาการประมง ไปอบรมหลักสูตรการเพาะพันธุ์ปลาที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากนั้นได้ นำเทคนิคต่างๆกลับมาเพาะพันธุ์ปลาหมอเทศ และเพาะพันธุ์ปลานิลจนมี การเลี้ยงอย่างแพร่หลาย

ปี พ.ศ. 2497 กรมประมงได้ทดลองเพาะปลาไนโดยใช้เส้นใยจาก งวงมะพร้าวเป็นที่วางไข่ได้ผลดีกว่าการใช้สาหร่ายและรากผักตบชวา ในปี พ.ศ.2494 ประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาดุกด้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ได้ทดลองเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามในตู้กระจกได้สำเร็จ แต่ ลูกปลาตายหมดภายใน 2 สัปดาห์

ปี พ.ศ. 2509 สามารถเพาะปลาสวายด้วยวิธีการผสมเทียมสำเร็จ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาชนิด อื่นๆ ที่ไม่วางไข่ในบ่อให้สามารถวางไข่ได้ ในเวลาต่อมาเทคนิคการเพาะ พันธุ์ปลาน้ำจืดได้นำมาประยุกต์ใช้เพาะพันธุ์ปลาน้ำกร่อย ปลาทะเล รวมทั้งสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ให้ประสบความสำเร็จจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2510 คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลอง เพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเป็นผล สำเร็จ โดยใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลาไนฉีดเฉพาะปลาตัวเมีย ต่อมาสามารถเพาะพันธุ์ปลาแก้มช้ำ ปลาลิ่น ปลาซ่ง ปลาเฉา ปลา ตะเพียนทอง ปลาทรงเครื่อง ได้เป็นผลสำเร็จ และได้ทดลองการผสม พันธุ์ปลาข้ามชนิด ได้ทดลองหลายครั้ง เช่น ปลาหมอเทศแอฟริกันกับ ปลาหมอเทศธรรมดา ปลากะโห้กับปลาตะเพียน ปลาดุกอุยกับปลาดุก ด้าน ปลาดุกอุยกับปลาดุกเทศ

ปี พ.ศ. 2513 สถานีประมงทะเลสงขลา สามารถเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม สำเร็จเป็นครั้งแรก นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของของการเพาะเลี้ยง กุ้งของประเทศไทย ต่อมา พ.ศ.2514 ก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์กุ้ง แชบ๊วยได้ ซึ่งเป็นกุ้งทะเลชนิดแรกที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ในปีเดียวกันสถานี ประมงทะเลภูเก็ตสามารถเพาะฟักกุ้งกุลาลายได้สำเร็จ ซึ่งในระยะแรกประสบ ปัญหาหลายอย่าง เช่น การขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์และการอนุบาล แต่ในเวลา ต่อมาก็สามารถเพาะฟักและอนุบาลกุ้งกุลาลาย กุ้งกุลาดำ หอยแครง หอย นางรม หอยแมลงภู่ รวมทั้งสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด ทั้งนี้เนื่องจากการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมา พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ประสิทธิ์ และคณะ, ม.ป.ป.)

ปี พ.ศ. 2520 จารุวัฒน์สามารถเพาะฟักไข่หมึกหอมและหมึกกระดองโดย รวบรวมไข่จากแหล่งวางไข่ในธรรมชาติ ต่อมาในปีเดียวกัน สมิง จารุวัฒน์ และประเสริฐสามารถเพาะฟักปูดำที่มีไข่นอกกระดองและอนุบาลโดยให้อาหาร ชนิดต่างๆได้สำเร็จ

ปี พ.ศ. 2523 พเยาว์และคณะ เพาะเลี้ยงหมึกกระดองก้ไหม้ประสบผลสำเร็จ ตั้งแต่ฟักออกจากไข่ เจริญเป็นตัวเต็มวัยและวางไข่ในห้องปฏิบัติการ และใน ปีเดียวกันมีรายงานว่าบริษัทแอสเรค (ASREC) สามารถเพาะหอยมุกได้ โดย วิธีคสบคุมอุณหภูมิของน้ำได้ประสบผลสำเร็จ

ส่วนปลาบึกกรมประมง ได้ทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมโดยวิธีการ รีดไข่และน้ำเชื้อมาผสมกัน ประสบผลสำเร็จเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2526 ปัจจุบันสามารถเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในบ่อดิน เพาะและอนุบาลเป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้ยังได้นำตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวันมาเพาะเลี้ยงในประเทศไทย มีการทดลองผสมข้ามพันธุ์จระเข้และสัตว์น้ำหลายชนิดเพื่อปรับปรุงพันธุ์ เพิ่มผลผลิต

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้มากกว่า 50 ชนิด ทั้งสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำกร่อย และสัตว์น้ำเค็ม บางชนิดสามารถขยายการเพาะเลี้ยงสู่เชิงพาณิชย์ ในขณะที่อีก หลายชนิดไม่สามารถพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด สัตว์น้ำ (สุชาติ, 2559) อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยยังประสบ ปัญหาขาดแคลนลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ในบางช่วงเวลาลูกพันธุ์ไม่มีคุณภาพและมีราคาสูง (จันทิมา, 2560) ถึงแม้จะมีการคัดพันธุ์สัตว์น้ำก่อนนำไปเลี้ยง เพราะในช่วงเริ่มต้นการ พัฒนาลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่นำมาเลี้ยงมักมีการเจริญเติบโตดี แข็งแรง ต้านทานโรค เลี้ยงง่าย แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งมักพบปัญหาสัตว์น้ำเจริญเติบโตช้า เกิดโรคมากขึ้น ปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกบ่อเลี้ยง แต่ สาเหตุสำคัญคือคุณภาพลูกพันธุ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพของพ่อแม่พันธุ์ที่ขาดการบริหาร จัดการที่ดีในเรื่องการคัดเลือกพันธุ์ที่เกี่ยวกับพันธุกรรมหรือการบริหารจัดการอื่นๆ ภายใน โรงเพาะฟัก เช่น การดูแลพ่อแม่พันธุ์ไม่ให้เกิดความเครียดก่อนการผสมพันธุ์ (สุชาติ, 2559)

สรุป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความสำคัญเพราะเป็นแหล่งอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้แก่ผู้ ประกอบการ เป็นสินค้าส่งออกที่เกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ของประเทศชาติเป็นอันมาก

สวัสดีค่ะ