เทคนิคหาทำเลปลอดภัย อยู่บ้านอย่างสบายใจ ห่างไกลโรงงานอันตราย

Author
by
At
ธันวาคม 28, 2022
เทคนิคหาทำเลปลอดภัย-อยู่บ้านอย่างสบายใจ-ห่างไกลโรงงานอันตราย-Featured-scaled เทคนิคหาทำเลปลอดภัย-อยู่บ้านอย่างสบายใจ-ห่างไกลโรงงานอันตราย-Featured-scaled

โรงงานระเบิด เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ผู้อยู่อาศัยทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะสามารถสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทำให้เราได้รับความเสียหายทั้งในด้านสุขภาพและทรัพย์สิน ซึ่งเหตุการณ์โรงงานระเบิดในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนมุมมองการเลือกทำเลที่อยู่อาศัยของหลาย ๆ คน จากที่เคยมุ่งเน้นด้านบวกของทำเลเป็นหลัก โดยเลือกโครงการตั้งอยู่ใกล้สถานที่อำนวยความสะดวกอย่างห้างสรรพสินค้า สนามบิน โรงพยาบาล รถไฟฟ้า หรือ ติดถนนใหญ่ แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้หลายคนก็เลือกที่จะให้ความสำคัญกับด้านลบเช่นกัน อย่างเช่น การดูว่าโครงการนั้น ๆ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานอันตราย โรงงานผลิตสารเคมี หรือ สถานที่กักเก็บเชื่อเพลิงต่าง ๆ หรือไม่

เดี๋ยว PropertyScout จะพาทุกคนไปดูกันว่า ในกรุงเทพ ฯ มีทำเลไหนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรงงานอันตรายบ้าง? โรงงานแบบไหนจัดว่าเป็นโรงงานอันตราย? และโรงงานควรตั้งอยู่ห่างจากบ้านเราแค่ไหน? เพื่อที่ทุกคนจะได้เลือกทำเลบ้านและคอนโดของตัวเองได้อย่างสบายใจ

ขั้นตอนแรก : มาทำความเข้าใจกันว่าโรงงานประเภทไหนจัดว่า “เป็นอันตราย” ต่อเรา

โดยปกติแล้วโรงงานจะถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน แต่สำหรับบทความนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่โรงงานอันตราย ที่สามารถส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงการส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ ทุกคน จากข้อมูลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถแบ่งประเภทโรงงานออกเป็นสองแบบด้วยกัน ดังนี้

ขั้นตอนแรกมาทำความเข้าใจกันว่าโรงงานประเภทไหนจัดว่าเป็นอันตรายต่อเรา
โรงงานอันตราย สามารถส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สิน
และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทุกคน

โรงงานอันตรายประเภทแรก : โรงงานที่จำเป็นต้องมีบุคคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน

โรงงานที่จำเป็นต้องมีบุคคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน เป็นโรงงานรูปแบบที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศไว้ว่าจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตคลอร์ - แอลคาไลน์
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตสารออกฤทธิ์หรือสารที่ใช้ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์โดยใช้กระบวนการเคมี หรือประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยเคมีโดยใช้กระบวนการเคมี
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก หรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ไม่ใช่ใยแก้ว
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
โรงงานประกอบกิจการผลิตปูนซีเมนต์
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเหล็กหรือเหล็กกล้า
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงหรือหลอมโลหะ
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียที่เป็นอันตรายจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว
โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเช่นระบบบำบัดน้ำเสียรวมการเผาสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว การปรับสภาพสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นอันตราย
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ
โรงไฟฟ้าพลังความร้อน
โรงงานที่มีน้ำเสียปนเปื้อนสารอินทรีย์
โรงงานที่ใช้สารหรือองค์ประกอบของสารเคมีเช่น สังกะสี แคดเมียม ไซยาไนด์
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาล
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสุรา แอลกอฮอล์
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตเยื่อจากไม้หรือวัสดุอื่น
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปิโตรเคมีที่มีกระบวนการผลิตทางเคมี
*ข้อมูลจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการกำหนดชนิดและขนาดของโรงงานกำหนดวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงานประจำและหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมดูแลสำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2554  
โรงงานอันตรายประเภทแรก-โรงงานที่จำเป็นต้องมีบุคคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
โรงงานที่จำเป็นต้องมีบุคคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน

โรงงานอันตรายประเภทที่สอง : โรงงานความเสี่ยงสูง

โรงงานความเสี่ยงสูง เป็นโรงงานรูปแบบที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกลุ่มว่ามีความเสี่ยง ที่อาจเกิดอันตรายจากการประกอบกิจการ มีดังนี้

โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปุ๋ยหรือสารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ยางอีลาสโตเมอร์พลาสติกหรือเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งไม่ใช่ใยแก้ว
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์สารเคมีหรือวัตถุอันตราย
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสีน้ำมันชักเงาแลคเกอร์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ยาหรืออุด
โรงงานสกัดน้ำมันจากสัตว์ไขมันสัตว์ หรือพืช
โรงงานห้องเย็น 
โรงงานบรรจุก๊าซ
โรงงานผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติส่งหรือจำหน่ายก๊าซ
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ถ่านหิน หรือลิกไนต์
โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด หรือดอกไม้ไฟ
โรงงานผลิต ซ่อมแซม ดัดแปลงเครื่อง กระสุนปืน วัตถุระเบิด หรือสิ่งอื่นใดที่มีอำนาจในการประหาร ทำลายหรือทำให้หมดสมรรถภาพ ในทำนองเดียวกันกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด และรวมถึงสิ่งประกอบของสิ่งดังกล่าว 
*ข้อมูลจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 3 พ.ศ.2542 ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่องมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน
โรงงานอันตรายประเภทที่สอง-โรงงานความเสี่ยงสูง-1
โรงงานความเสี่ยงสูง

วิธีตรวจเช็คว่าโรงงานไหนเป็นโรคงานอันตราย

สำหรับคนที่กำลังหาทำเลซื้อบ้านหรือคอนโดที่ใหม่ หรือคนที่เพิ่งมารู้ทีหลังว่ามีโรงงานอยู่ในละแวกเดียวกับที่อยู่ตัวเอง แล้วเกิดความวิตกกังวล สามารถเข้าไปตรวจเช็คข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามลิ้งค์นี้

ตัวอย่างการตรวจเช็คข้อมูลโรงงานผ่านเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อเข้าไปยังหน้าแรก สามารถกรอกเพียงแค่ชื่อของโรงงานได้เลย

ตัวอย่างการตรวจเช็คข้อมูลโรงงานผ่านเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ในหน้าแรก เราสามารถกรอกเพียงแค่ชื่อของโรงงานได้เลย

หลังจากกรอกชื่อโรงงานไปแล้ว เมื่อคลิกค้นหาข้อมูลก็จะเห็นข้อมูลของโรงงานนั้น ๆ
ว่าประกอบกิจการแบบไหน เข้าข่ายโรงงานอันตรายหรือไม่ ทีนี้เราก็สามารถประเมินได้แล้วว่า
โครงการที่เรากำลังจะซื้อ อยู่ใกล้โรงงานแค่ไหน มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง

ในหน้าถัดไปจะเป็นการแสดงข้อมูลต่าง ๆ ของโรงงานนั้น

ขั้นตอนที่สอง : โรงงานควรตั้งอยู่ห่างจากบ้านของเราแค่ไหน?

สำหรับเรื่องรัศมีหรือระยะความห่างของที่ตั้งบ้านกับโรงงาน ทาง PropertyScout คงจะให้คำตอบแบบยืนยันแน่ชัดไม่ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของทุกคน ก็จะขอนำเสนอข้อมูลที่อ้างอิงจากกฎกระทรวงของกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ได้กำหนดว่าโรงงาน 3 ประเภทดังนี้จะต้องมีระยะปลอดภัยตามนี้

*โรงงานประเภทที่ 1 = โรงงานที่มีจำนวนคนงาน 7-20 คน และ/หรือ มีเครื่องจักรกำลังแรงม้ารวม 5-20 แรงม้า (ยกเว้นโรงงานที่สร้างมลภาวะให้จัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3)

*โรงงานประเภทที่ 2 = โรงงานที่มีจำนวนคนงาน 21-50 คน และ/หรือ มีเครื่องจักรกำลังแรงม้ารวมมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า (ยกเว้นโรงงานที่สร้างมลภาวะให้จัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3) 

*โรงงานประเภทที่ 3 = โรงงานที่มีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน และ/หรือ มีเครื่องจักรกำลังแรงม้ารวมมากกว่า 50 แรงม้า หรือเป็นโรงงานที่สร้างมลภาวะ

ห้ามตั้งโรงงานประเภทที่ 1 และ โรงงานประเภทที่ 2 ใกล้กับสถานที่ดังต่อไปนี้

  • บริเวณที่มีอาคารชุดพักอาศัย บ้านแถวเพื่อการพักอาศัย และบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย
  • ภายในระยะ 50 เมตรจากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงพยาบาล โบราณสถาน วัดหรือศาสนสถาน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา และสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ห้ามตั้งโรงงานประเภทที่ 3 ใกล้กับสถานที่ดังต่อไปนี้

  • บริเวณที่มีอาคารชุดพักอาศัย บ้านแถวเพื่อการพักอาศัย และบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย
  • ต้องตั้งอยู่ในทำเลที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม และเนื้อที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามขนาด
  • ภายในระยะ 100 เมตรจากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงพยาบาล โบราณสถาน วัดหรือศาสนสถาน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา และสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
  • อีกข้อสำคัญคือ ประเภทหรือชนิดของโรงงานจะต้องไม่ก่อเหตุรำคาญ ความเสียหาย หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย
ขั้นตอนที่สอง-โรงงานควรตั้งอยู่ห่างจากบ้านของเราแค่ไหน
ที่อยู่อาศัยใกล้กับโรงงาน

ขั้นตอนสุดท้าย : ดู “ผังเมือง” เพื่อหาทำเลที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ไม่อนุญาตให้สร้างโรงงาน

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายกันแล้ว เป็นขั้นตอนของการค้นหาพื้นที่โซนปลอดภัยจากการดู ผังเมือง ซึ่งปกติแล้วรัฐได้มีกฎหมายรองรับเรื่องของการจัดสรรโซนนิ่งของที่ดินให้เหมาะสมกับการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินสำหรับอยู่อาศัย การทำโรงงานอุตสาหกรรม การทำพาณิชยกรรม และอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าพื้นที่ไหนเป็นโซนปลอดภัยที่เราสามารถอยู่อาศัยได้ หรืออธิบายให้เข้าใจโดยง่ายคือ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัยนั่นเอง

ผังเมืองคืออะไร?

ผังเมือง คือ การจัดสรรพื้นที่ส่วนต่างในประเทศ และในแต่ละจังหวัด โดยรัฐได้มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า เราสามารถทำประโยชน์อะไรบนพื้นที่โซนไหนได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่โซนที่อยู่อาศัย พื้นที่โซนเกษตรกรรม หรือพื้นที่โซนโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น 

การที่ต้องวางผังเมืองในลักษณะนี้ มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการใช้สอยที่ดินแต่ละโซนอย่างไม่เป็นระบบระเบียม และอาจจะนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยได้ นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกคน ตั้งแต่การเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างที่ดินข้างเคียง และป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์อื่น ๆ 

หากว่าทุกคนเข้าใจเรื่องการแบ่งพื้นที่ผังเมืองแล้ว ก็จะช่วยให้มีข้อมูลว่าทำเลไหนอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีโรงงาน หรือแหล่งเชื้อเพลิงต่าง ๆ และเราก็สามารถนำไปพิจารณาตัดสินใจเลือกทำเลซื้อบ้านหรือคอนโดได้ดีมากขึ้นนั่นเอง

การแบ่งโซนผังเมืองตาม “รูปแบบของการใช้ประโยชน์” และ “สี”

รัฐได้กำหนดโซนผังเมืองตามรูปแบบของการใช้ประโยชน์ออกเป็น 6 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีการระบุด้วย “สี” อีกทีนึง ซึ่งการใช้สีระบุ เป็นการช่วยให้ทุกคนสามารถดูแผนที่ผังเมืองได้อย่างสะดวกสบายนั่นเอง โดยรูปแบบของการใช้ประโยชน์มีดังนี้

ที่ดินประเภทอยู่อาศัย

สำหรับที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยตามความหนาแน่นของปริมาณการอยู่อาศัย และถูกระบุด้วยสีดังนี้

  • สีเหลือง : ที่ดินอยู่อาศัยความหนาแน่นต่ำ (ย.1-ย.4)
  • สีส้ม : ที่ดินอยู่อาศัยความหนาแน่นปานกลาง (ย.5-ย.7)
  • สีน้ำตาล : ที่ดินอยู่อาศัยความหนาแน่นสูง (ย.8-ย.10)
ที่ดินประเภทอยู่อาศัย
สีที่ดินประเภทอยู่อาศัย

ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม

ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมมีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ อย่างเช่นใช้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ แต่ยังสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้

  • สีแดง (พ.1-พ.5)
ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
สีที่ดินประเภทพาณิชยกรรม

ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

ที่ดินประเภทนี้เป็นของรัฐ ใช้เป็นสถานที่ราชการ สถาบันราชการ หรือการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือเพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์  เช่น วัด ศาสนสถาน ที่ดินของสถาบันการศึกษา เป็นต้น

  •  สีน้ำเงิน (ส.)
ที่ดินประเภทสถาบันราชการ-การสาธารณูปโภค-และสาธารณูปการ
สีที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมไทย

ที่ดินประเภทนี้ใช้ในการทำกิจกรรมการพาณิชย์ การบริการ และการท่องเที่ยว มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว รวมไปถึงการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ 

  • สีน้ำตาลอ่อน (ศ.1-ศ.2)
ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์-และศิลปวัฒนธรรมไทย
สีที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมไทย

ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และ ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

เป็นที่ดินสำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยตามรูปแบบการใช้งาน และถูกระบุด้วยสีดังนี้

  • สีเขียว : พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (ก.4-ก.5)
  • สีขาวมีเส้นทแยงสีเขียว : พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1-ก.3)
ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม-และ-ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
สีที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และ ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม 

สำหรับที่ดินประเภทอุตสาหกรรม จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยตามรูปแบบการใช้งาน และถูกระบุด้วยสีดังนี้

  • สีม่วง : พื้นที่อุตสาหกรรมและโรงงานผลิตต่าง ๆ (อ.1-อ.2)
  • สีม่วงเม็ดมะปราง (ม่วงอ่อน) : พื้นที่คลังสินค้า (อ.3)
ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม-
สีที่ดินประเภทอุตสาหกรรม

หลังจากที่ทราบกันแล้วว่าที่ดินแต่ละสีนั้น ถูกจำกัดประเภทการใช้งานอย่างไรบ้าง และทีนี้ หากเราต้องการรู้ว่าทำเลที่เรากำลังหาซื้อบ้าน คอนโด หรือ ทำเลที่อยู่ปัจจุบันเรานั้น รัฐให้มีการสร้างโรงงานแบบไหนบ้าง เราก็จะต้องไปดูกันต่อในเรื่องของ รหัสผังสี ที่ถูกระบุไว้ด้วยพยัญชนะไทยตามด้วยตัวเลข อย่างเช่น ที่ดินสีม่วง “(อ.1-อ.2)” ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและโรงงานผลิตต่าง ๆ

วิธีตรวจเช็คสีผังเมืองของทำเลบ้าน หรือคอนโดที่สนใจ หรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

นอกจากนั้นเรายังสามารถตรวจเช็คสีผังเมืองของทำเลที่สนใจ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้เว็บไซต์ Longdo Map 

วิธีการมีดังนี้

  • เข้าเว็บไซต์ Longdo Map 
  • คลิ๊กเลือกประเภทแผนที่เป็น ผังเมืองประเทศไทย
  • พิมพ์ชื่อโครงการบ้านหรือคอนโดหรือ สถานที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน แล้วคลิ๊กค้นหา
  • เพียงแค่นี้ก็เห็นว่าที่ที่ค้นหานั้นอยู่ผังเมืองสีอะไร ถูกกำหนดให้ใช้ประโยชน์รูปแบบไหน
วิธีตรวจเช็คสีผังเมืองของทำเลบ้าน-หรือคอนโดที่สนใจ-หรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน
ภาพตัวอย่างเว็บไซต์ Longdo Map สามารถใช้ตรวจเช็คสีผังเมืองของทำเลบ้าน คอนโดที่สนใจ หรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

บทสรุปส่งท้าย

Property Scout ขอกล่าวสรุปบทความนี้ว่า การเลือกทำเลบ้าน คอนโด ให้อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและสบายใจนั้น ควรจะเน้นไปที่การดูสองสิ่งหลัก ซึ่งก็คือ ดูว่าทำเลนั้น ๆ อยู่ในโซนที่ทางรัฐได้จัดให้เป็นที่อยู่อาศัยหรือไม่ (ดูว่าอยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีอะไร) และ ดูสภาพแวดล้อมโดยรอบโครงการว่ามีระยะรัศมีใกล้โรงงานอันตรายหรือไม่ โดยการนำชื่อโรงงานเข้าไปเช็คในเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมครับ 

อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรวางใจเต็ม 100% ว่าทำเลที่อยู่อาศัยในทุกโซนที่อยู่อาศัยจะปลอดภัยได้จริง ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายที่กำหนดการจัดโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้อย่างชัดเจนก็ตาม เนื่องจากว่าขนาดของตัวเมืองก็ขยายตามกาลเวลาที่ผ่านไป ที่ดินสีม่วงที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานอันตรายบางแห่งอาจจะกลายเป็นที่ดินสีแดงในปัจจุบัน เป็นเขตพาณิชยกรรมที่มีคนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และมีโครงการหมู่บ้านหรือคอนโดเข้ามาเปิดหลายที่ ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นที่ดินสีผสม และต้องขอบอกว่าที่ดินแบบนี้มีกระจายอยู่ในกรุงเทพ ฯ หลายที่ด้วยครับ ดังนั้นขอแนะนำให้ตรวจเช็คทำเลให้รอบคอบก่อนลงทุนซื้อบ้านซื้อคอนโดนะครับ


อ่านบทความ รีวิวโครงการ หรืออัปเดตข่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ที่ PropertyScout Blog หากมีคำถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการ เช่า ซื้อ ขาย ติดต่อ PropertyScout ได้เลย! ทีมงานของเราพร้อมให้บริการและตอบทุกข้อสงสัย