ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 15 World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema

11
มกราคม
2566
ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) 
ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15
(World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) 

 

ในช่วงปีนี้ 2565 กิจกรรมทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ หลากสีสันบรรยากาศวาดเมืองให้มลังเมลืองด้วยหลากหลายสายศิลปะ และที่จะขาดไม่ได้ คือ “งานเทศกาลภาพยนตร์” ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนระดมพลจัดตามแนวถนัดของแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล กรุงเทพกลางแปลง, Italian Film Festival Bangkok, เทศกาลภาพยนตร์นิมิตต์วิกาลกรุงเทพฯ Signes De Nuit in Bangkok ครั้งที่ 8 ที่ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive, BKK DOC 2022 - Bangkok International Documentary Awards และ Major Cineplex Group ตัวแทนประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพสนับสนุนการจัดงานมหกรรมภาพยนตร์ “Cine Asia 2022” เปิดตลาดรวมทุกธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์จากทั่วโลก ฯลฯ

แต่ประเทศไทยยังขาดการต่อเนื่องของเทศกาลหนังนานาชาติมานาน จิตวิญญาณของคนรักหนังที่ถวิลหาการกลับมาของ Art Film เหมือนเฝ้าคอยคนรักที่เดินทางไกลห่างเหินไปนานกว่า 5 ปี โดยเฉพาะช่วงที่มีวิกฤตโควิด-19 เข้ามาคั่นเพิ่มความขาดแคลนให้แร้นแค้นมากขึ้น แล้ววันนี้คนรักก็กลับมาอ้าแขนประครองพร้อมประกาศก้องว่า “Return to Cinema” ด้วย “World Film Festival of Bangkok 2022” จากการร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี Nation Group เป็นกำลังหลักในการจัดงานมานานประมาณสองทศวรรษนับจาก “เทศกาลหนังกรุงเทพ” ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2541ครั้งที่ 15 นี้ ได้ร่วมกับพันธมิตรอีก 5 หน่วยงานคือ กองทุนสื่อไทย กระทรวงวัฒนธรรม (TMF), กระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร, เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น และ การบินไทย (THAI)

เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งนี้มี 10 วัน จัดฉายตั้งแต่ 2-11 ธันวาคม 2565 รวมภาพยนตร์จากหลากหลายประเทศ ตามแผนการผลักดันธุรกิจภาพยนตร์ของ กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 5Fs ของรัฐบาล สนับสนุนด้วยการให้ทุน ให้ความรู้ เพื่อยกระดับคนทำหนังสู่มาตรฐานสากล โดยมีเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ เป็นเวทีหลักสำหรับภาพยนตร์ที่สร้างโดยได้รับเงินทุนจากรัฐบาล ควบคู่ไปกับอาหาร ศิลปะการต่อสู้ และแฟชั่น คือความฝันที่เราจะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

 

ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี
ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี

 

ภาพยนตร์ไทยในฐานะ Soft Power กับการก้าวสู่ตลาดภาพยนตร์ในระดับสากล

นอกจากการฉายหนังแล้วในเทศกาลยังมีกิจกรรมพิเศษส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังไทยที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะเวทีเสวนาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ในหัวข้อ “ภาพยนตร์ไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์กับการก้าวสู่ตลาดภาพยนตร์ในระดับสากล” มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากจากตัวแทนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกัน ผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน คือตัวแทนจาก 3 ภาคส่วน ปราโมทย์ บุญนำสุข ผู้เชี่ยวชาญกองทุนสื่อไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.), คุณพรชัย ว่องศรีอุดมพร นายกสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และ คุณฉันทนา ทิพราชธรรม ผู้กำกับการแสดงรุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดย คุณโอปอ พิธีกรจาก “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15

ประเด็นที่เห็นปัญหาร่วมกัน คือ การมองภาพรวมของ เศรษฐกิจสร้างสรค์ ซึ่งสำคัญเป็นอันดับแรกที่ทั้งรัฐและประชาชนทั้งประเทศต้องมองให้เป็นภาพเดียวกัน เพื่อให้เกิดแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา และส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ถูกต้อง ตามทิศทางของซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นแม่เหล็กในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลกใหม่

ปราโมทย์ บุญนำสุข ผู้เชี่ยวชาญกองทุนสื่อไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในนามของ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะมีการเปิดให้ประชาชนส่งโครงการเข้าไปให้พิจารณาเป็นประจำทุกปีแล้ว ยังมีพันธกิจให้การสนับสนุนสื่อภาพยนตร์ตามนโยบายของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย โดยมีการเซ็น MOU กับเกาหลีเพื่อก่อตั้งสถาบันผลิตบุคลากรร่วมกัน และจับมือกับภาคีเครือข่ายสื่อภาคเอกชนและประชาชนในประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตรายเล็กมีโอกาสแสดงศักยภาพและผลงาน โดยมีหน่วยงานสื่อภาษาอังกฤษ The Nation เป็นกำลังสำคัญผ่าน “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” เป็นเวทีที่จะระดมทั้งผู้ชมและผู้สร้างมาเปิดช่องทางร่วมกัน ในการผลักดันหนังไทยสู่ตลาดโลกตัวอย่างที่ทำสำเร็จไปแล้ว เช่น โครงการโขนภาพยนตร์ “White Monkey”, หนังเรื่อง “บินล่าฝัน” (A Time To Fly) ฯลฯ 

 

“ถ้าเรามีการรวมตัวกันให้แกร่งไปเป็นแพ็คจะสร้างอำนาจต่อรองได้มากกว่าไปหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศสร้างช่องทางใหม่เหมือน YouTube , Netflix หรือสร้างแพล็ตฟอร์มคัดเลือกงานแล้วต่อยอดจากตรงนั้น ผมเชื่อในพลังความคิดของเด็กรุ่นใหม่ ทางกองทุนก็จะพัฒนาตัวเองเสริมช่องทางนี้ เพื่อสนับสนุนสื่อทุกประเภท เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่ผลิตซ้ำด้านความคิดที่ดีและทรงพลังที่สุดครับ” ปราโมทย์ กล่าว

 

ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี
ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี

 

พรชัย ว่องศรีอุดมพร นายกสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (สสภช.) หรือ The National Federation of Motion Pictures and Contents Associations (MPC) เป็นเสมือนองค์กรกลางระหว่างทุกหน่วยงานในกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยกับรัฐบาล (รวมไปถึงหน่วยงานของสื่อมวลชนผู้ชม) ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากสหภาพภาพยนตร์ไทย จึงรับทราบปัญหาใต้พรมมากมายมาทุกช่วงนับจากก่อตั้งเมื่อปี 2534 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อรัฐเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ จึงมีพันธกิจหลักในการผลักดัน Marketing and Distribution ที่เป็นจุดอ่อนของหนังไทยมาทุกยุคทุกสมัย โดยร่วมกับรัฐและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมและกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยมีเกาหลีเป็นแม่แบบในการพัฒนาบนความเชื่อที่ว่า แม้จะมีงบจัดสรรเพื่อผลักดันความฝันที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่หากทุกฝ่ายเชื่อมั่นเป็นภาพเดียวกันว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ เครื่องมือสำคัญที่จะสามารถพัฒนาประเทศทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดีได้ หนังไทยจึงจะมีโอกาสเกิดจากวิธีคิดและแนวทางที่รัฐไม่ล้าสมัย และอีกส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญคือการสนับสนุนบุคลากรทุกฝ่าย โดยเฉพาะทีมผลิต ซึ่งได้รับการร้องเรียนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการพัฒนาอาชีพ อัตราการจ้างงาน หรือรัฐสวัสดิการที่คนทำงานอิสระควรจะได้รับ ฯลฯ เหมือนกับข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

 

“เรื่องของ Knowhow มีกระจุกกันอยู่ไม่กี่บริษัท คนที่ต้องกระจายคือรัฐ ต้องมีสถาบันที่ให้โอกาสคนพวกนี้เข้ามาเรียน จบไปมีใบประกาศสามารถต่อรองได้ รัฐต้องจัดสรรแอปพลิเคชันแพล็ตฟอร์มเพื่อสร้างช่องทางให้คนสร้างงานได้มีพื้นที่แสดงออกทางความคิด ถึงจะค้นพบคนมีฝีมือได้โดยไม่ต้องลงทุนสูงมาก แล้วจะมีคนมาคัดเลือกงานไปสร้างต่อ ทางสมาพันธ์พร้อมจะเป็นสื่อกลางหาแนวร่วมในการสร้างงานให้ครับ” พรชัยตัวแทนทุกฝ่ายกล่าว

 

ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี
ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี

 

ฉันทนา ทิพราชธรรม อีกหนึ่งเสียงสำคัญของผู้กำกับหน้าใหม่ที่เพิ่งมีผลงานเพียงเรื่องเดียวคือ “หน่าฮ่าน” ซึ่งจัดว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เธอมาเป็นปากเสียงตัวแทนคนทำหนัง New Generation เรียกร้องในสิ่งที่รัฐควรจัดการเพื่อพัฒนาศักยภาพหนังไทย 

 

“ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องมองให้เป็นภาพเดียวกันว่า ภาพยนตร์หรือสื่อเคลื่อนไหวมีความสำคัญยังไงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเวทีโลก เพราะปัญหานี้มันมากกว่า 10 ปีแล้ว นอกจากสนับสนุนด้วยตัวเงินแล้ว สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญมากไม่แพ้กัน คือ อิสระในการพูด ในการเล่า อาจมีเรื่องวัฒนธรรมสูงส่งล้ำค่า แล้วเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญมีโอกาสจะได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นบ้างไหม อย่างเรื่อง “BLUE AGAIN” เรื่องราวของสาวเรียนแฟชั่น มาจากอีสานที่ปลูกครามย้อมคราม หนังถ่ายทำอยู่ 8 ปี เพื่อจะได้ไปปูซานด้วยตัวของตัวเอง เป็นรางวัลที่ใหญ่สุดของเทศกาลแต่โดดเดี่ยวมาก

 

จุดแข็งคือประเทศไทยเต็มไปด้วย content แต่ด้วยหลายๆ อย่างทำให้เนื้อหาเหล่านั้นไม่ถูกผลักออกมา เช่นเราทำเรื่อง “หน่าฮ่าน” คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นการเต้นแบบตลาดล่าง เราโตมากับอีสานมองว่าทุกอย่างมีเหตุผลที่มาที่ไป ควรลงมาทำความเข้าใจว่า “วัฒนธรรม” คืออะไร มันคือสิ่งที่พลวัตและเกิดใหม่ได้เรื่อยๆ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องราวธรรมดาจากคนธรรมดาส่วนใหญ่ของประเทศที่ควรได้ถูกบันทึกไว้ค่ะ”

นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงจุดอ่อนของอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทย คือประเด็นเรื่องแรงงานและค่าตอบแทนของคนในสายพานการผลิต ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ยังคงวนเวียนอย่างไม่รู้จบ นอกจากไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ซ้ำร้ายยังถูกละเลยและด้อยค่าในศาสตร์ของการผลิตผลงาน

 

“คนเขียนบทถ้าภาครัฐหรือคนในประเทศนี้มองเห็นภาพร่วมกันว่าการเล่าเรื่องสำคัญที่สุดนะ เขียนบทเรื่องเดียวก็อยู่ได้แล้วเพราะค่าตอบแทนจะสูงขึ้น แต่นี่คนเดียวต้องเขียน 4 เรื่องพร้อมกัน มันไม่มีทางได้งานดี เพราะไม่มีหน่วยงานชัดเจนที่จะมาดูแลส่วนนี้ ได้เงิน 15,000 บาท ต่อตอน บางตอนใช้เวลาเขียนมากกว่า 1 เดือน ก็อยู่ไม่ได้”

“มีกลุ่มชื่อ “CUT” ที่พยายามรวมตัวกันถึงแม้มันจะช้าไปก็ตาม เพราะมีคนในอุตสาหกรรมที่ตายไปเรื่อยๆ ในแต่ละปี เพราะเขาทำงานหนัก แล้วไม่มีใครเข้าใจดูแล ยังมีมาตรฐานว่าถ่ายหนัง 12 ชั่วโมง แต่ถ่ายซีรีส์ 16 ชั่วโมง ใครเป็นคนกำหนด? ไม่ใช่กฎหมายด้วยซ้ำ มันถูกตั้งกันขึ้นมาเอง ควรได้รับการปรับปรุง ต่อมาถึงถูกเปลี่ยนเป็น 14 ชั่วโมง ก็ได้แต่ฝันว่าความหวังจะมาถึงในเร็ววันก่อนที่คนเก่งในวงการจะล้ำหายตายจากไป บางคนรอไม่ไหวจนเขาต้องไปทำอย่างอื่นแล้ว ฝากหนังไทยเรื่อง ‘Blue Again’ กับ ‘Arnold is a model student’ ด้วย เขาพยายามหาทุนต่างประเทศมาทำ เพราะหาในไทยแล้วมันไม่มีจริงๆ” ฉันทนากล่าวเพิ่มเติม

 

ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี
ภาพโดย : กวินพร เจริญศรี

 

โปสเตอร์ เรื่อง Blue Again ออกแบบโดย ตะวัน จริยาพรรุ่ง (บี) 
โปสเตอร์ เรื่อง Blue Again ออกแบบโดย ตะวัน จริยาพรรุ่ง (บี) 

 

“Blue Again” กับ 8 ปี ที่ต่อสู้เพียงลำพัง 

‘เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ’ ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok) มีภาพยนตร์เข้าชิง Lotus Award เพื่อร่วมสนับสนุนผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีผลงานเด่นทั้งหมด 21 เรื่อง และ 1 ในทั้งหมดที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดคือหนังไทยเรื่อง “Blue Again” โดยผู้กำกับใหม่ ฐาปณี หลูสุวรรณ นักศึกษาเรียนภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนบทและสร้างงานด้วยทุนส่วนตัวที่ต้องใช้เวลาถึง 8 ปีเต็ม ในที่สุด “Blue Again” ก็ได้รับการคัดเลือกเข้าประกวดสายหลักใน Busan International Film Festival BIFF เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติครั้งที่ 27 ปี 2021 / 2564 (Main Competition) ที่ประเทศเกาหลี และเข้าชิงในสาขา New Currents

Blue Again เริ่มจากการเป็นงานวิทยานิพนธ์ของฐาปณี ตั้งแต่เธอฝึกงานที่บริษัทสื่อมัลติมีเดียแห่งหนึ่งในปี 2557 มีรุ่นพี่ดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งศึกษาเรื่องการย้อมผ้าครามมาจากจังหวัดสกลนคร ได้ร่วมแชร์ความคิดผ่านการทำงาน ด้วยคอลเล็คชันที่พยายามถ่ายทอดความรู้สึกอัดอั้นทั้งเรื่องการเมือง และความรู้สึกอ่อนไหวบางอย่างเกี่ยวกับรัฐประหาร สถานการณ์ทำให้ผู้คนเกิดความเศร้าและความแปลกแยกต่อกัน เพราะแต่ละคนคิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่ไม่แสดงออก เพื่อสงวนจุดต่าง จึงเป็นที่มาของการสร้างตัวละครที่มีความแปลกแยกขึ้นมา

 

“เพราะในเวลานั้นเราเองก็รู้สึกไม่เข้าพวกกับคนรอบข้างเหมือนกัน เลยเอามวลความรู้สึกนั้นมาสร้างเป็นตัวละครหลัก รวมถึงตัวละครรายล้อม เรื่องราวทั้งหมดก็มีทั้งสมมติขึ้นมา และมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง”  ผู้กำกับเล่าที่มาจากฐานของความจริงซึ่งส่งให้บทหนังมีพลังคนดูสัมผัสได้ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เนียนไปกับเรื่องราวในรั้วมหาวิทยาลัย และวิถีทางวัฒนธรรมที่ถูกค้ำด้วยศาสนาอย่างยากจะแยกจากกัน

 

ภาพโดย : ฐาปนี หลูสุวรรณ (ฐา)  Thapanee Loosuwan “Blue Again”
ภาพโดย : ฐาปณี หลูสุวรรณ (ฐา)  Thapanee Loosuwan “Blue Again”

 

สำหรับผู้กำกับใหม่เรื่องแรกของฐาปณีส่วนที่ถือว่าสอบผ่านคือ ภาษาภาพยนตร์ บนความพิถีพิถันที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของบท ที่บอกเล่าลักษณะทางธรรมชาติของคนประเภท “ปัจเจกเอกอัตตา” บูชาความสมบูรณ์แบบ ยากที่คนอื่นจะเข้าใจ จัดวางผู้แสดงนำได้เหมาะสม ดูซับซ้อนลึกลับสำหรับคนทั่วไป มุมมองของหนังเล่าลึกถึงภูมิหลังของตัวละคร “เอ” (ตะวัน จริยาพรรุ่ง) ได้ละเอียดอ่อน จากบ้านเกิดที่สกลนครย้อนไปวัยเด็กสะท้อนถึงปัจจุบันวันเริ่มเรียนรู้โลกในรั้วมหาวิทยาลัย บทใส่ลักษณะตัวตนของคนที่มีความเป็นปัจเจกสูง ชัดเจน มั่นใจในตัวเองมาก มุ่งมั่น มีศักยภาพในระดับที่ไม่ธรรมดา บูชาความสมบูรณ์แบบ และมาพร้อมความแปลกแยกแตกต่างจากคนทั่วไป คือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างดูเหมือนว่าไม่สมดุล โดยเฉพาะวิธีคิดและการตัดสินใจจากความเป็นตัวของตัวเอง

ฐาปณีเขียนบทให้ตัวละครเอกมีมิติที่โดดเด่นทุกด้าน ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งตัวละครสำคัญที่รายรอบ เจาะลึกได้ถึงหัวใจว่าอะไรคือปัญหาแท้จริงระหว่างผู้คน จนผู้ชมได้เข้าใจว่า หลายครั้งหรือบางคราปัญหาไม่ได้เกิดจากคนที่ตัวตนแตกต่างแต่เพียงผู้เดียว เพราะคนอื่นที่ปกติธรรมดาไม่เข้าใจในความเป็นคนที่มีลักษณะพิเศษของปัจเจก เอเป็นนักศึกษาเรียน Fashion Design มีความสามารถโดดเด่นเป็นน้องขุนของรุ่นพี่ ในวาระที่แสดงงานก่อนจบปัญหาของผ้าย้อมครามกับอากาศเย็นทำให้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่เธอยังยืนยันความคิดตามเหตุผลและความตั้งมั่น สั่นคลอนความสัมพันธ์ทันทีเพราะเพื่อนส่วนใหญ่ไม่พอใจจนต่อต้าน เกินทัดทาน

กระทั่ง “แพร” (อสมาภรณ์ สมัครพันธ์) เพื่อนสนิทที่คิดเปลี่ยนไปเพราะเกรงใจเพื่อนฝูงใหญ่ที่ไม่อยากคบหา เอเองก็เข้าใจและไม่เข้าใกล้กลุ่ม เหลือเพียงรุ่นน้องสนิทคนเดียวเท่านั้นที่พอจะปันทุกข์สุข ฉากวันสุดท้ายจบการศึกษา ให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวแต่ไม่เปลี่ยวเหงาได้งามตามครรลองของคนเก่งจิตใจแกร่ง เอไม่ไปร่วมถ่ายรูปที่ระลึกรวมกับเพื่อนแต่ คนนอก เลือกที่จะถ่ายรูปให้ตัวเองเพียงลำพังหลังทุกคนกลับกันหมดแล้วบนบันไดตึกเรียน 4 ปีที่ผ่านเป็นเพียงปฐมบททดสอบ คือขั้นแรกที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเล่าเรียน (ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่พ้นภัยการเมือง ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเงื่อนไขในระบบธุรกิจการศึกษา) ก่อนกล้าเผชิญโลกกว้างก้าวต่อไป บนบันไดยาวไกลของชีวิต

 

ภาพโดย : ฐาปนี หลูสุวรรณ (ฐา) FB : Thapanee Loosuwan “Blue Again”
ภาพโดย : ฐาปณี หลูสุวรรณ (ฐา) FB : Thapanee Loosuwan “Blue Again”

 

หนังใส่ใจในบริบทของครอบครัว สังคม ที่บ่มผู้คนมีผลกับการเติบโตและทัศนคติ เอเป็นลูกครึ่งมีแม่ที่แคร์คำนินทาว่ามีผัวฝรั่งชาติไหนไม่ยืนยัน (ที่สำคัญคือค้านกับค่านิยมในปัจจุบัน เหมือนหนังกำลังพาย้อนกลับไปในยุค Baby Boom ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) บทบอกความห่างเหินของแม่ลูกด้วยการเลือกทางเดินชีวิตใหม่ของแม่ (พนิดา สัตถาผล) โดยไม่แคร์ความรู้สึกลูกที่พยายามจะกอบกู้โรงเลี้ยงครามย้อมผ้าในเวลาวิกฤต แต่กลับเลือกที่จะเลิกเพื่อไปตามแรงปรารถนาหาครอบครัวใหม่ อาจเพราะมั่นใจว่าลูกโตและแกร่งพอแล้ว

เอเหลือที่พึ่งเพียง “เมธ” (ศรัณย์เมศ รัตนพงษ์) เพื่อนรักที่คบกันมาตั้งแต่ยังเด็ก รู้จักและเข้าใจกัน เป็นสีสันเดียวในชีวิตที่โดดเดี่ยวของเธอ หนังประคองความสัมพันธ์ของสองคนไว้ให้อยู่ในเส้นสีที่ดีงาม ความศรัทธาในศาสนาที่แตกต่างไม่ได้ขวางมิตรภาพ ฉากที่เมธบวชโดยมีเอโกนหัวให้ แล้วแอบมาชวนปีนรั้วหนีเที่ยวงานแห่ดาวกลางดึกอย่างคึกคะนอง กลับเป็นความน่ารักของเด็กซน แต่เมื่ออีกคนต้องกลับเข้าวัดตอนรุ่งสาง กลายเป็นความอ้างว้างจับใจของคนที่ไม่มีใครให้รัก

ขณะแสงรำไรกำลังไล้ขอบฟ้า แสงแห่งความหวังกลับพาเพื่อนจากไปเหมือนไกลกันเกินกู่กลับ สำหรับคนบางคนยากนักที่จะมีใครสักคนเข้าใจในตัวตน ยอมเป็นเพื่อนเล่นซนและพร้อมให้อภัยในความบกพร่องโดยไม่ต้องพยายาม เหมือนครามที่ต้องเติบโตภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะร้อน เวลาที่ใช่เท่านั้นจึงจะให้สีสันกับคุณภาพที่ดีได้ หนังใส่ความหมายภายใต้สัญลักษณ์ได้ชัดเจน ประณีต งามทั้งครามและคน

 

ภาพโดย : ฐาปนี หลูสุวรรณ (ฐา) FB : Thapanee Loosuwan “Blue Again”
ภาพโดย : ฐาปณี หลูสุวรรณ (ฐา) FB : Thapanee Loosuwan “Blue Again”

 

“หนังมีพาร์ตหลายครอบครัวตัวละคร เพราะเรารู้สึกมากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวอยู่แล้ว พอลูกโตไปก็เป็นเหมือนคนอื่น ช่วงกำลังจะจบพ่อแม่ก็เริ่มปล่อย แต่ในความรู้สึกของวัยรุ่นจะเหมือนกับถูกทิ้ง คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่ง เลยอยากบันทึกเรื่องนี้เอาไว้ เหตุผลที่เลือกครามเป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ของคนและการปรับตัว การเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ของตัวละครเอกก็เหมือนกัน น้ำที่ใช้หมักครามมันคือจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นน้ำหมัก มันต้องการการดูแลเพราะปรับตัวเองไม่ได้ ต้องการอาหารจากคนอื่นซึ่งต้องใส่ใจมาก

ครามเป็นน้ำหมักธรรมชาติที่มีชีวิต มันต้องการการดูแลอย่างพิถีพิถัน มีขั้นตอนมากมายที่จะต้องทำให้มันอยู่รอด โดยเฉพาะในฤดูหนาวมันจะตาย หรือเรียกว่าด้อยประสิทธิภาพลง เราคิดว่าครามเหมือนคน มันต้องการการดูแลเอาใจใส่ รวมถึงบางครั้งก็ต้องการการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด เหมือนกับผู้คนในหนังของเรา อากาศที่พอเหมาะ พื้นที่ที่เหมาะสม จะทำให้เราเจริญเติบโตได้ดี ไม่ต่างจากครามในหม้อที่ใช้ย้อมผ้า” ผู้กำกับฐาปณียืนยันสัญลักษณ์ครามกับคน

 

ภาพโดย : ฐาปนี หลูสุวรรณ (ฐา) Thapanee Loosuwan “Blue Again”
ภาพโดย : ฐาปณี หลูสุวรรณ (ฐา) Thapanee Loosuwan “Blue Again”

 

จุดเด่นและจุดด้อยของหนังเรื่องนี้คือการตัดต่อ งานเชื่อมร้อยรายละเอียดของการเล่าเรื่องแบบตัดสลับ Feedback ระหว่างอดีตกับปัจจุบันให้มีเหตุผลสัมพันธ์ไม่ใช่ปัญหา แต่การเสียดายรายละเอียด ความรู้สึก และพัฒนาการของตัวละคร ที่เลือกจะให้แสดงออกด้วยคำพูดคือจุดด้อย ที่ดึงจุดเด่นให้สะดุดแล้วฉุดเวลาให้ยาวเกินจำเป็นเหมือนจงใจเน้นอยู่หลายฉากที่ควรถากออกไปบ้างไม่สร้างผลกระทบต่อเรื่องเลย การให้อิสระผู้แสดงด้นสดในบางฉากอาจได้ที่ Feeling วัยรุ่นคุยกันเห็นความสัมพันธ์สนิทแนบ จะให้แน่นแฟ้นก็สมควรเก็บแก่นด้วยการเกลาให้เสลากว่านี้ โดยเฉพาะตอนที่เอกับแพรรับจ็อบสวม Mascot นั่งคุยกันมันยาวเกินไปมาก สามารถหั่นออกไปได้เกือบหมด ควรต้องลดปริมาณแล้วเพิ่มคุณภาพด้วยการปรับบทสนทนาให้กระชับ ชัด โฟกัสเฉพาะสารสำคัญซึ่งควรสื่อ ที่เหลือถือว่าผ่านแล้วสำหรับเรื่องแรกที่ทำได้ครอบคลุมความเป็นคนของตัวละครครบขนาดนี้

หลังเปิดตัวในเทศกาลฯ “Blue Again” ยังยืนคิวฉายต่อเนื่องนานร่วมสองเดือนติดกันก่อนเดินสายฉายอีกหลายจังหวัด มีแววอนาคตไกลสำหรับผู้กำกับหากได้รับการสนับสนุน ถ้าคุณไม่หนีไปจากเส้นทางที่โดดเดี่ยวของหนังไทยก่อน ก็จะมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้แน่นอน ฐาปณี หลูสุวรรณ คืออีกหนึ่งอนาคตที่สำคัญของหนังไทยในเวทีโลก

 

Busan International Film Festival 2022 (BIFF 27) ภาพโดย ฐาปนี หลูสุวรรณ Thapanee Loosuwan “Blue Again”
Busan International Film Festival 2022 (BIFF 27)
ภาพโดย ฐาปณี หลูสุวรรณ Thapanee Loosuwan “Blue Again”

 

ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15  (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) 
ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15  (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) 

 

‘รางวัล เกรียงศักดิ์ ศิลากอง’

รางวัลเกรียงศักดิ์ ศิลากอง เป็นรางวัลเพื่อรำลึกถึงการจากไปของวิคเตอร์ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการริเริ่มก่อตั้งและดำเนินงาน “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” และเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรด้านภาพยนตร์ ผู้ที่ได้รับเป็นคนแรก คือ ศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ปี 2548 อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับคนไทยขวัญใจกรรมการเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival ประเทศฝรั่งเศส งานประกวดหนังสายเข้มขลังและสำคัญที่สุดของโลก มีรางวัลใหญ่เกียรติยศคือ ปาล์มทองคำ Palme d’Or)

เขาเป็นผู้กำกับหนังคนเดียวของไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลภาพยนตร์สายหลัก (In Competition) ที่ผู้คนให้ความสนใจสูงสุด ในการประกวดหนังเมือง คานส์ ปี 2551 อภิชาติพงศ์กำกับหนังมาแล้ว 10 เรื่อง และ 5 เรื่องได้รับการคัดเลือกเข้าแข่งขันในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งสามารถคว้ารางวัลมาประดับเกียรติให้หนังไทยมากมาย อาทิ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกของเขา “ดอกฟ้าในมือมาร” (Mysterious Object at Noon) ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั่วโลกกวาดมาถึง 4 รางวัล และได้รับการยกย่อง จากนักวิจารณ์นิตยสาร The village voice ให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี 2543, “สุดเสน่หา” (Blissfully Yours) ได้รับรางวัลชนะเลิศในสายการประกวดรองคือ Un Certain Regard ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของคานส์ โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinem ในปี 2545 และอีกหลายรางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติทั่วโลก “สัตว์ประหลาด” (Tropical Malady) เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถูกคัดเลือกเข้าไปสายการประกวดหลัก ในปี 2547 ได้รับรางวัล Jury Prize (รางวัลพิเศษจากกรรมการ ซึ่งมอบให้กับภาพยนตร์ที่โดดเด่นเป็นพิเศษเท่านั้น) และเกียรติประวัติล่าสุดที่ ‘สัตว์ประหลาด’ ได้รับ คือการติดอันดับ 95 ในลิสต์ 100 หนังยอดเยี่ยมตลอดกาลของ Sight & Sound, “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) กระตุ้นความเงียบเหงาของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ให้กระเตื้องขึ้นด้วย รางวัลปาล์มทองคำ ปี 2010 (พ.ศ. 2553) ฯลฯ

โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาที่ทลายกำแพงเงื่อนไขในการสร้างหนังไทยสู่ตลาดโลกนั่นคือ “MEMORIA” หนังได้รับรางวัล Jury Prize เป็นครั้งที่สองของอภิชาติพงศ์ จากการประกวดหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ปี 2021 (กรกฎาคม 2564) และเดินสายประกวดในอีกหลายเทศกาล ได้รับเสียงชื่นชมอย่างท่วมท้นจากทั่วโลก และล่าสุดก่อนรับรางวัลเกรียงศักดิ์ไม่กี่วันเขาได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลด้านศิลปะของโลก ลำดับที่ 32 ประจำปี 2022 จาก Art Review นิตยสารศิลปะชั้นนำของอังกฤษ

 

ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema)
ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15
(World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema)

 

ในพิธีปิดและมอบรางวัลเมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม 2565 แทนการขอให้ทุกคนยืนไว้อาลัยต่อการจากไปของบุคลากรคนสำคัญของวงการ อภิชาติพงศ์เปิดการสนทนาโดยขอให้ทุกคนเงียบเพื่อสดับเสียงของวิคเตอร์

 

“ผมได้ยินเสียงของพี่บอกพวกเราว่า ให้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ไม่ต้องต่อต้านอะไร สำหรับตัวผมทำหนังมา 25 ปี จริงๆ แล้วมันเป็นเวลาแค่เสี้ยวเดียวของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย หรือของโลกก็ตาม ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันผมยังไม่เข้าใจเลยว่า ผมทำหนังไปเพื่ออะไร ผมอยากถามคนทำหนังในที่นี่ว่าคุณทำหนังไปเพื่ออะไร ที่แน่ๆ ผมทำหนังไม่ได้ต้องการที่จะเล่าเรื่องราวเลย ภาพยนตร์อาจเป็นตัวเชื่อมระหว่างเรากับผู้คน หรือว่า…อาจเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ การใช้ชีวิตเป็นตัวแทนของอิสรภาพหรือว่าอำนาจก็แล้วแต่ รางวัลนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ผมได้ต่อยอดคำถามนี้ ได้ชื่นชมกับความลึกลับของการเดินทางในอาชีพนี้ต่อไป …เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บอกนักข่าวว่า ไม่มีใครอยากดูหนังของผมหรอก การที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ผมอยากจะบอกคนทำหนังทุกคนว่า “ไม่ต้องสนแม่ง!!!” (ทุกคนปรบมือรับก้องโรง) ไม่ได้พูดด้วยความเกลียดชังนะ อยากจะบอกว่าเราไม่ควรตกเป็นทาสของสิ่งที่เกิดจากความกลัว หรือจากเผด็จการของความคิด ผมคิดว่าเราทุกคนมีส่วนร่วมในการต่อยอดบทสนทนานี้ สิ่งที่คนทำหนังจะทำได้ดีต่อไปก็คือ บันทึกต่อไป Keep Recording และ รักต่อไป Keep Loving ผมอยากขอบคุณ คุณโดม สุขวงศ์ แล้วก็ทุกท่านทั้งในและนอกวงการภาพยนตร์ที่รักกันเป็นเพื่อนกันมาตลอด ทำให้ผมได้มายืนแล้วก็หายใจอยู่ที่นี่ ขอบคุณผู้ชมที่รักและสนับสนุนภาพยนตร์ เพราะเป็นสื่อซึ่งเป็นกระจกสะท้อนและเชื่อมพวกเรา ผมคิดว่ารางวัลนี้คือรางวัลแห่งความรักของพี่วิคเตอร์ ผมของให้เสียงของพี่ยังคงอยู่กับเราตลอดเวลา แล้วขับเคลื่อนเทศกาลนี้ไปอีกนานเท่านาน ขอบคุณครับ”

 

ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) 
ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15
(World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) 

 

International competition

ในทรรศนะของผู้อำนวยการ ดรสะรณ โกวิทวณิชชา ผู้คัดเลือกหนังและคณะทำงาน “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ต่างมีเป้าหมายและนโยบายเดียวกันนั่นคือไม่ได้ต้องการให้เทศกาลเป็นแค่งานฉายหนังโชว์แล้วจบ หรือเหลือไว้เพียงความประทับใจแล้วรอดูปีต่อไปเท่านั้น แต่เพื่อก่อเกิดพื้นที่ทางเลือก ให้โอกาสแก่คนรักหนังทุกรุ่นได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อหนังหลังชมความแตกต่างหลากหลายที่ฉายชัดในเนื้อหนัง ซึ่งแปลกออกไปจากตลาดภาพยนตร์ในกระแสหลักที่เราต่างคุ้นเคย ได้เห็นทั้งวิธีคิด วิธีการนำเสนอ ที่สะท้อนมุมมอง สภาพสังคม วัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดทางความคิด ขับเคลื่อนกิจกรรมในชีวิตต่อไปได้อีก การพิจารณามอบรางวัลจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากความคิดเห็นของกรรมการ และเปิดกว้างให้คนทำหนังไทยรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ได้มีอนาคตไกลในเส้นทางที่เป็นความหวังใหม่ของโลกภาพยนตร์ด้วยรางวัล Lotus Award สำหรับผู้กำกับใหม่ แค่หนังถูกคัดเลือกเข้าประกวดก็เป็นที่จดจำในผลงานเพราะผ่านด่านคัดเข้มมาแล้ว เพื่อให้หนังได้ทำหน้าที่สำคัญ เป็นฟันเฟืองหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไป รางวัลจึงไม่ใช่คำพิพากษา “คุณค่า” ของการสร้างงานแต่ประการใด

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัล Lotus Awards : “Klondike” โดย Maryna Er Gorbach (ยูเครน)

ผู้กำกับยอดเยี่ยม: Dušan Zorić และ Matija Gluščević, “Have You Seen This Woman” (เซอร์เบีย)

Grand Jury Prize: “Scala” โดย Ananta Thitanat (ประเทศไทย)

Jury Prize for บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม :

“Victim” – เขียนบทโดย Jakub Midvecky กำกับโดย Michal Blasko (สโลวาเกีย)

“Stonewalling” – เขียนบทและกำกับโดย Huang Ji และ Ryuji Otsuka (จีน)

Jury Prize for Best Ensemble

“Joyland” – กำกับโดย Saim Sadiq (ปากีสถาน )

Jury Prize for Technical Achievement for Cinematography

“Autobiography” – กำกับการแสดงโดย Makbul Mubarak (อินโดนีเซีย)

 

ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema)
ภาพโดย : “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15
(World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema)