[ชวนคุย] เลือกชุดแก๊ส LPG อย่างไร ให้เหมาะสมกับรถของคุณ

กระทู้สนทนา
"ชุดแก๊สที่แพงๆ ทำไมถึงแพง แพงที่อะไร"

ช่วงนี้น้ำมันแพงมาก อาจมีบางท่านกำลังคิดที่จะไปติดแก๊ส ผมขออนุญาติแชร์วิธีการดูสเปคชุดแก๊ส อย่างน้อยเป็นข้อมูลเบื้องต้น ถือว่าเป็นการทำการบ้านก่อนไปคุยกับอู่ก็ได้ครับ (คนที่ติดไปแล้วก็เข้ามาดูได้นะครับ) สิ่งที่กำลังจะเขียน อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง 100% อาจจะปนๆความเห็นส่วนตัวไปและข้อแนะนำเพิ่มเติมปนๆกันไปบ้างนะครับ

หากคิดจะไปติดแก๊ส LPG ในวันนี้ ระบบแก๊สที่เราจะได้ติดคือระบบหัวฉีด (ระบบเก่าๆเป็นระบบดูด) ซึ่งระบบหัวฉีดก็มีแยกเป็น หัวฉีดแบบจูนมือเอง กับแบบ OBD2 คือจะล้อค่าการจ่ายแก๊สตามกล่อง ECU หลักของรถยนต์ จริงอยู่ OBD2 เหมือนจะเป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่ถ้าถามผมแล้ว แนะนำให้เลือกชุดที่อู่สะดวกและช่างถนัดที่สุดจะดีกว่าครับ เพราะช่างบางอู่ติดให้แบบจูนมือก็จะนิ่งและปัญหาน้อยกว่าแบบ OBD2 ก็มี

ส่วนประกอบในชุดแก๊ส LPG
1. ECU แก๊ส - เป็นเหมือนมันสมองของชุดแก๊สครับ มีความเร็วแบบ 16 บิต กับ 32 บิต ต้องอิงตามกล่อง ECU หลักของรถอีกทีครับว่ากี่บิต ถ้ากล่องหลักเดิมรถใช้ 32 บิตอยู่ แล้วเราติดแก๊สใช้กล่อง 16 บิต อาจมีความเสี่ยงที่จะประมวลผลช้าอยู่บ้าง อีกส่วนนึงคือฟังก์ชั่นเชื่อมต่อ OBD2 ที่ถ้ากล่องไหนมีฟังก์ชั่นนี้จะสามารถเชื่อมต่อ OBD2 เพื่อล้อตามการจ่ายแก๊สตามการจ่ายน้ำมันได้เลย แต่หากไม่มีฟังก์ชั่นนี้ ต้องอาศัยช่างจูนให้ครับ ซึ่งจากที่ผมเจอมา ช่างอู่ไหนจูนดีก็เนี๊ยนเนียน อู่ไหนจูนไม่ดีก็กระตุก ต่อให้กลับไปให้ช่วยจูนแก้ก็กลับมากระตุกอยู่ดี

2. หัวฉีดแก๊ส - หัวฉีดที่ไวๆดีเทียบเท่าหัวฉีดน้ำมันเลยคือ Keihin (1.2 โอห์ม) ถ้าจำไม่ผิดชุดนึงราคาเป็นหมื่นขึ้นไป ข้อดีคือฉีดไว (ยิ่งค่าโอห์มน้อย ยิ่งไว) เปิดไว ปิดไว ประหยัดน้ำมันมาก อายุการใช้งานราว 3 แสน กม. รองลงมาเป็นหัวฉีด Hana (1.3-1.9 โอห์ม) ความไวถือว่ากลางๆ อายุการใช้งานราว 1 แสนโล และสุดท้ายกลุ่มหัวฉีดราคาถูก เช่น rail, valtek (2-3 โอห์ม) จะเป็นหัวฉีดที่ค่อนข้างช้า เปิดช้า ปิดช้า ความสมูธต่ำสุด เปลืองแก๊สกว่าตัวแพงๆประมาณ 10% และอาจจะพบปัญหาการฉีดแต่ละหัวไม่เท่ากันเป๊ะ (บางที่ต้อง calibrate หัวฉีดก่อนติดตั้ง แต่บางที่ก็ไม่ได้ทำให้) รวมถึงหลังจากผ่านการใช้งานไป หัวฉีดจะค่อยๆจ่ายแก๊สมากขึ้นทีละนิด ทำให้แก๊สหนา ต้องกลับไปจูนแก๊สใหม่เรื่อยๆ (อาจจะปีละ 1-2 ครั้ง)

3. หม้อต้มแก๊ส - หม้อต้มจะมีการระบุสเปคมาเลย เช่น 140 แรงม้า หรือ 200 แรงม้า ขอแค่เลือกหม้อต้มที่แรงม้ามากกว่ารถของเราสักหน่อยครับ เช่น รถเราตามสเปคบอกว่า 100 แรงม้า ก็ให้ใช้หม้อต้ม 140 แรงม้าก็พอ แต่หากรถเรา 138 แรงม้า แนะนำว่าควรใช้หม้อต้ม 200 แรงม้า ครับ

4. มัลติวาล์ว - ทำหน้าที่ทั้งวัดระดับแก๊สในถัง ควบคุมการจ่ายแก๊ส และระบบเซฟตี้ 3 ชั้น (ระบายแรงดันเกิน ป้องกันการไหลมากเกิน และป้องกันแก๊สรั่วเมื่อความร้อนสูง 110 องศาเซลเซียสในเคสไฟไหม้) ส่วนใหญ่ชุดแก๊สจะมาตรฐานคล้ายๆกันอยู่แล้วครับ 

5. ถังแก๊ส - มีให้เลือก 2 แบบคือถังโดนัทและถังแคปซูลครับ ถังโดนัทข้อดีคือวางแทนหลุมยางอะไหล่ได้เลย บางคน (เช่นผม) เอายางอะไหล่ออก ก็จะไม่เสียพื้นที่ในการขนของ แต่ข้อเสียคือเติมแก๊สได้น้อยหน่อย เช่น ถังโดนัท 42 ลิตร จะเติมแก๊สได้ประมาณครั้งละ 31-32 ลิตร (ต้องเหลือพื้นที่ว่างในถังประมาณ 15% ตามกฎหมาย วาล์วจะตัดให้อัตโนมัติ) เวลาวิ่งไปเชียงใหม่ทีต้องจอดแวะเติมบ่อยๆจนเบื่อเลยครับ ส่วนถ้าเป็นถังแคปซูล 58 ลิตร จะเติมได้ประมาณเกือบ 40 ลิตรกลางๆ แต่ก็จะเสียพื้นที่ในการขนของไปประมาณครึ่งนึงเลยครับ

ข้อมูลอุปกรณ์แก๊ส AC Autogas : http://www.acautogas.com/
ข้อมูลผลิตภัณฑ์ Energy Reform : https://www.energy-reform.com/home/index.php

มีวิดีโอนึงจากหงษ์ทองแก๊ส ที่อธิบายเรื่องหัวฉีดแก๊สได้กระจ่างมาก ทำให้เข้าใจว่า Keihin นั้นมันแตกต่างจากหัวฉีดอื่นๆ ไม่ใช่แค่ความไว แต่เป็นวิธีการในการฉีดด้วยครับ รวมถึงหัวฉีดที่ความเร็ว 2 โอห์มเท่ากัน ในการทำงานจริงๆมันไม่ได้เร็วเท่ากันเป๊ะๆ แต่มีความเหลื่อมล้ำกันนิดหน่อย สามารถดูได้จากคลิปนี้เลยครับ..
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

วิธีอ่านสเปคชุดแก๊ส LPG
มาถึงตัวอย่างชุดแก๊สจากโบรชัวร์กันนะครับ มาดูว่าโบรชัวร์บอกอะไรเราบ้าง (ขอเลือกหยิบมาอธิบายแค่บางชุดนะครับ)

ขอเริ่มต้นที่ชุดบนสุดนะครับ Advance OBD2 (ยี่ห้อ Energy Reform)
- ECU 32 บิต = ความเร็ว 32 บิต มีฟังก์ชั่นเชื่อมต่อ OBD2 ปรับจูนอัตโนมัติโดยอ้างอิงค่าต่างๆ จากสัญญาณ OBD ของรถยนต์
- หม้อต้ม 200 hp = เหมาะสำหรับรถที่มีแรงม้าตามสเปคไม่เกิน 200 (ผมแนะนำตามความรู้สึก ขอไม่เกิน 180 แรงม้าละกันครับ)
- หัวฉีด AEB i-plus = เป็นหัวฉีดที่ดีที่สุดของ Energy Reform แต่ก็ความเร็ว 2 โอห์ม นะครับ ตามสเปคคือยังช้ากว่า Hana และ Keihin

ขอข้ามมาที่ชุดที่ 3 นะครับ Fast Tech Pro (ยี่ห้อ Energy Reform)
- ECU 16 บิต = ความเร็ว 16 บิต ต้องจูนมือเอง (หมายถึงช่างเป็นคนจูนให้เรานะครับ) ไม่สามารถเชื่อมต่อ OBD2 ได้
- หม้อต้ม 200 hp = เหมาะสำหรับรถที่มีแรงม้าตามสเปคไม่เกิน 200 (ผมแนะนำตามความรู้สึก ขอไม่เกิน 180 แรงม้าละกันครับ)
- หัวฉีดสีฟ้า (ในรูป Valtek แต่ผมเข้าใจว่า Rail นะ)  = หัวฉีดตัวรองของ Energy Reform ความเร็ว 2 โอห์ม ตามสเปคก็ช้ากว่า Hana และ Keihin ครับ

แถวบนสุดนะครับ STAG 300 Premium OBD2 (ยี่ห้อ AC Autogas)
- ECU 16 บิต = ความเร็ว 16 บิต มีฟังก์ชั่นเชื่อมต่อ OBD2 ปรับจูนอัตโนมัติโดยอ้างอิงค่าต่างๆ จากสัญญาณ OBD ของรถยนต์
- หม้อต้ม 140 hp = เหมาะสำหรับรถที่มีแรงม้าตามสเปคไม่เกิน 140 (ผมแนะนำตามความรู้สึก ขอไม่เกิน 125-130 แรงม้าละกันครับ)
- หัวฉีด Hana 2001 = เป็นหัวฉีดระดับกลาง ความเร็วประมาณ 1.9 โอห์ม เปิดไวขึ้น ปิดไวขึ้น ประหยัดแก๊สขึ้น

แถวล่างสุดนะครับ STAG Go FAST (ยี่ห้อ AC Autogas)
- ECU 32 บิต = ความเร็ว 32 บิต ต้องจูนมือเอง (หมายถึงช่างเป็นคนจูนให้เรานะครับ) ไม่สามารถเชื่อมต่อ OBD2 ได้
- หม้อต้ม 136 hp = เหมาะสำหรับรถที่มีแรงม้าตามสเปคไม่เกิน 136 (ผมแนะนำตามความรู้สึก ขอไม่เกิน 120-125 แรงม้าละกันครับ)
- หัวฉีด Valtek แดง = เป็นหัวฉีดราคาประหยัด ความเร็วประมาณ 3 โอห์ม ถ้าจากสเปคก็ช้าที่สุดในกลุ่มครับ เป็นหัวฉีดแบบพอใช้งานได้

แถว 2 นะครับ STAG 300 Premium (ยี่ห้อ AC Autogas)
- ECU 16 บิต = ความเร็ว 16 บิต มีฟังก์ชั่นเชื่อมต่อ OBD2 ปรับจูนอัตโนมัติโดยอ้างอิงค่าต่างๆ จากสัญญาณ OBD ของรถยนต์
- หม้อต้ม 380 hp = เหมาะสำหรับรถที่มีแรงม้าตามสเปคไม่เกิน 380
- หัวฉีด Keihin = เป็นหัวฉีดระดับดีสุด เทียบเท่าหัวฉีดน้ำมัน ความเร็วประมาณ 1.2 โอห์ม เปิดไวขึ้น ปิดไวขึ้น ประหยัดแก๊ส อายุนานมาก

ส่วนอันนี้ผมแถมให้ครับ เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบอัตราเร่งระหว่างใช้น้ำมัน E20 เทียบกับใช้แก๊ส LPG ซึ่งรถผมติดชุดแก๊ส Energy Reform รุ่น Fast Tech Pro หม้อต้ม 200 แรงม้า โดยปกติแล้ว ECU จะรองรับหัวฉีดแค่ 2-3 โอห์ม หัวฉีดเดิมๆเป็นแบบหัวสีฟ้า 2 โอห์มครับ จากนั้นผมได้เปลี่ยนเป็นหัวฉีด Valtek 3 โอห์ม (ความสมูธดรอบลงชัดเจน และมีอาการสั่นในรอบต่ำ) และล่าสุดลองเปลี่ยนเป็นหัว Hana 1.9 โอห์ม ทำให้การวิ่งสมูธดีขึ้นกว่าหัว Valtek เยอะ แต่ก็ยังไม่สู้น้ำมันครับ ตามคลิปเลย..

หมายเหตุ: รถอัลติส 2004 วางเครื่อง 2ZZ-GE 1800cc เกียร์ธรรมดา 6 สปีดครับ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

บทสรุป
จากข้อมูลชุดแก๊สที่ได้ยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ชุดแก๊สถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับสเปตของอุปกรณ์ต่างๆนั่นเองครับ (นี่ยังเอามาแค่ 2 ยี่ห้อคือ Energy Reform กับ AC ซึ่งเป็นยี่ห้อแก๊สราคากลางๆค่อนไปทางประหยัด ไม่ได้เอาแก๊สตัวแพงอย่าง Europe Gas กับ Prins มานะครับ) การเลือกใช้ ECU ที่ความละเอียดต่างกัน 16 หรือ 32 บิต หัวฉีดที่ไวต่างกัน 1.2, 1.3, 1.9, 2.0, และ 3.0 โอห์มนั้น ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการจ่ายแก๊สได้เนียนสมูธต่างกัน หัวฉีดราคาประหยัดอาจมีความเสี่ยงที่จะฉีดไม่เท่ากันทุกสูบ หรือคงระยะประสิทธิภาพการฉีดได้ไม่ดีเท่าเดิม ส่งผลต่อความจุกจิก และความทนทานต่อรถยนต์ของเราไม่มากก็น้อยนั่นเองครับ ยิ่งสเปคดีก็ยิ่งราคาสูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ตอบคำถามที่ว่า "ชุดแก๊สที่แพงๆ ทำไมถึงแพง แพงที่อะไร" ในตอนต้นนั่นเองครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่าอุปกรณ์ก็ส่วนนึง แต่ฝีมือในการติดตั้งและการจูนของช่างก็สำคัญไม่แพ้กันนะครับ

นอกจากนี้เครื่องยนต์และระบบของรถยนต์แต่ละรุ่น อาจต้องติดตั้งด้วยวิธีพิเศษที่มีราคาติดตั้งสูง เช่น รถหัวฉีดตรงแบบมาสด้าสกายแอคทีฟ เป็นต้น รวมถึงเครื่องยนต์แต่ละรุ่น ก็มีความทนทานต่อการใช้แก๊สต่างกัน เช่น ถ้าเป็นโตโยต้าหรืออาจจะรวมฮอนด้าด้วย เท่าที่ทราบมาปัญหาก็จะค่อนข้างน้อยครับ เทียบกับบางยี่ห้อ หรือเป็นรถรุ่นที่ระบบซับซ้อน หากติดแก๊สแล้วอาจจะมีอาการรวนหรือมีปัญหาจุกจิกตามมา อาจจะได้ไม่คุ้มเสียก็เป็นได้ครับ

สุดท้ายนี้หวังว่าสิ่งที่ตั้งใจแชร์จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ ผมเป็นผู้ใช้รถธรรมดา ไม่ได้เป็นร้านและไม่ได้มีความรู้ในเชิงลึกอะไร และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับร้านไหนนะครับ แค่เพียงอยากแชร์ข้อมูลเท่าที่ตัวเองทราบ ข้อมูลอาจมีผิดหรือไม่อัพเดทที่สุดบ้าง หรือหากผมเขียนอะไรด้วยความเข้าใจผิด อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผมขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ 

ฝากติดตามผลงานที่เพจ Need For Slow ด้วยครับ:
https://www.facebook.com/Needforslow247/
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่