แชร์การทำปุ๋ยแห้ง (โบกาฉิ) และสร้างเครื่องกำจัดขยะสด ไว้ใช้เองในบ้าน

จุดเริ่มต้นมาจาก ผมสนใจเรื่องการจัดการและกำจัดขยะสดตามบ้านมานานแล้วครับ ศึกษาจากเวปต่างๆ แล้วพบว่ามีการทำแบบง่ายๆ เช่นนำถังพลาสติกเปิดก้นถังแล้วฝังดิน หรือถังหมักแบบมีก็อกน้ำที่ก้นถังเพื่อแยกเอาน้ำที่ได้จากการหมักออก วิธีการเหล่านี้ทดลองแล้วได้ผลดีระดับนึงแต่ สำหรับผม ยังพบว่า ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร เช่น ทุกครั้งเวลาเปิดถังเพื่อจะเติมขยะสดลงไป จะมีกลิ่นแรงประมาณนึง อีกทั้งระยะเวลาในการหมักค่อนข้างนาน (30-60 วัน) แถมเวลาที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนักๆ น้ำมักจะท่วมขังในซอย เลยพลอยไปท่วมขังในถังหมักด้วย สรุปว่าวิธีการดังกล่าวเหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่พอสมควร
ถ้าจะเอาถังแบบดีๆ หน่อยที่มีขายกัน ราคาก็สูงเกินไป พอดีผมไปเห็น DIY ถังกำจัดเศษอาหารในบ้าน ของ ม.มหิดล เลยลองทำเองดูบ้างในแบบของเราครับวันนี้เลยอยากจะมาแชร์ให้เพื่อนๆ ดูครับ

สเก็ตแบบคร่าวๆ จาก youtube https://www.youtube.com/watch?v=mIuZkkexgYs

รายการหลักๆ ของดังนี้
1. มอเตอร์เกียร์ 12V - 257 บาท (lazada)
2. ถังเปล่า - 350 บาท (ร้านขายถัง)
3. โซ่และเฟือง - 180 บาท (บ้านหม้อ).
4. แกนเพลา, ข้อต่อเพลา - 200 บาท (บ้านหม้อ)
5. ข้อต่อ pvc - 120 บาท (Homepro)
6. ตลับลูกปืน หัว-ท้าย ตัวละ 85 บาท (lazada)
7. กล่องควบคุม สวิทซ์ปิดเปิด - 550 บาท (จ้างช่างไฟในซอยประกอบให้)
7. ฐานเครื่อง - ฟรี (จากหลังบ้าน) พยายามหาของที่ใช้ได้จากในบ้านให้มากที่สุด
ใบกวนผมทำตามแบบของ ม.มหิดล เลยครับ ตาม Link ด้านล่าง
https://www.youtube.com/watch?v=mIuZkkexgYs
ประกอบเสร็จแล้วครับ (ขออนุญาต ไม่ลงรายละเอียดตอนประกอบนะครับ)
ตัวเครื่องทำงานปกติดีครับ แต่ด้วยความใจร้อนของผมเอง จนมองข้ามว่าจริงๆ แล้วถังกวนนี้ เป็นแค่อุปกรณ์ตัวนึงที่ช่วยในการย่อยสลายของขยะสดเท่านั้น
จริงๆ แล้วหัวใจของการย่อยสลายคือจุลินทรีย์ ผมเลยกลับไปหาข้อมูลจากเวปต่างๆ ว่าสูตรไหนดีบ้าง จนไปพบการทำปุ๋ยแห้ง (โบกาฉิ) ของเวป เกษตรกร.com http://www.kasedtakon.com/

สิ่งที่ต้องเตรียม มีดังนี้ครับ
1. มูลสัตว์ (ทุกชนิด) 1 ส่วน (ผมเลือกใช้มูลวัว)
2. แกลบดิบ 1 ส่วน
3. รำละเอียด 1 ส่วน
4. จุลินทรีย์ EM 20 ซีซี (2 ช้อนโต๊ะ)
5. กากน้ำตาล 20 ซีซี (2 ช้อนโต๊ะ)
6. น้ำสะอาด 10 ลิตร หรือ 1 ถัง
7. ดินที่มีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ (อันสุดท้ายนี้ผมเพิ่มเติมเอง โดยสั่งดินจากฟาร์มผักออแกนิคทางภาคเหนือ ที่เค้าหมักดินเองกว่า 3 ปี เพื่อสร้างจุลินทรีย์ที่แข็งแรง)  1 ส่วน
ซึ่งในส่วนนี้ ผมใช้เงินไปประมาณ 1,000 บาท (รวมค่าขนส่ง) แต่ของเหลือครับ หมักได้อีกหลายชุดเลย
มูลวัวและแกลบดิบ
รำละเอียดและกากน้ำตาล ดินจุลินทรีย์, น้ำ และ EM

วิธีทำ
ขั้นที่ 1 เตรียมจุลินทรีย์ EM , กากน้ำตาล , น้ำสะอาด , ผสมไว้ในถังน้ำ
ขั้นที่ 2 นำมูลสัตว์ + รำละเอียด + แกลบดิบ + ดินจุลินทรีย์ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
ขั้นที่ 3 นำใส่ลงในน้ำที่ขยายจุลินทรีย์ EM ในขั้นที่ 1 ให้เข้ากันจะได้ความชื้น 40 – 50 %( กำแล้วไม่มีน้ำหยดจากง่ามมือ)
ขั้นที่ 4 เอาส่วนผสมทั้งหมดบรรจุลงในกระสอบป่าน , ถุงปุ๋ย ที่อากาศถ่ายเทได้ไม่ต้องกดให้แน่น
ขั้นที่ 5 ต้องพลิกกลับกระสอบ ทุกๆ วัน จนครบ 15 วัน วันแรกๆ ถุงจะร้อนๆ หน่อยครับ แสดงว่าการหมักได้ผล

15 วันผ่านไป จากนั้นได้เวลาทดสอบปุ๋ยแห้งของเราครับ

วิธีการใช้ปุ๋ยแห้งเพื่อย่อยสลายขยะสด
1. ใส่ปุ๋ยแห้งโบกาชิ ประมาณครึ่งถังกวน
2. ใส่เศษอาหารในวันแรกในปริมาณ 30% ของปริมาณปุ๋ย (เพื่อให้จุลินทรีย์ค่อยๆ ปรับตัวในช่วงแรก) จากนั้นในวันถัดไปสามารถใส่ได้ในปริมาณเท่าๆ กับปุ๋ยในถังได้ครับ
เติมน้ำเปล่า หรือ EM ได้บ้างนิดหน่อยครับ ถ้าหากว่าขยะสดนั้นแห้งมาก แต่ถ้าขยะสดมีความชื้นสูงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องใส่ครับ

3. เปิดเครื่องกวนขยะให้ทำงานต่อเนื่องกันอย่างน้อย 18-24 ชม.
แอบเปืดฝาดูครับว่า 3 ชม. แรกเป็นยังไงบ้าง พบว่าขยะเปลี่ยนสี มีความร้อนภายในถัง
หลังจาก 18 ชม. ผ่านไปครับ (รูปอาจจะไม่ค่อยชัดนะครับ เพราะใช้มือถือถ่าย)
24 ชม. ผ่านไป สีสวยใช้ได้ครับ ไม่มีกลิ่น และอุ่นๆ เวลาที่นำออกจากถังกวน
จากนั้นผมเอาไปโรยใต้ต้นมะกรูดหน้าบ้านเลยครับ

สรุปผลจากการทดลองเบื้องต้น
1. ขนาดถังเหมาะกับบ้านเรือนที่มีปริมาณขยะสดไม่มาก สมาชิกประมาณ 3-4 คน
2. กินไฟประมาณวันละบาทกว่าๆ (ช่างไฟท้ายซอยช่วยคำนวณให้)
3. ดินที่ย่อยสลายกับเศษอาหารในแต่ละรอบ สามารถเก็บไว้ได้บางส่วน เพื่อใช้เป็นหัวเชื้อในรอบต่อไป (ปุ๋ยแห้งโบกาชิที่เราหมักไว้ก่อนหน้านี้ เราสามารถเติมได้อีกถ้าต้องการให้มีจุลินทรีย์มากขึ้น)

ข้อที่คิดว่าจะปรับปรุง
1. จะทำที่เปิดเอาเศษอาหารที่ย่อยสลายแล้วออกให้ง่ายกว่านี้
2. อยากติดตั้งระบบตัดไฟเอง ถ้ามอเตอร์ทำงานแล้วร้อน (กลัวมีปัญหาตอนกลางคืน แต่ ณ ตอนนี้ ยังไม่เจอปัญหาใดๆ)
3. จะทำให้รูปทรงดูกระทัดรัดกว่านี้

จบแล้วครับ สำสรับการทำเครื่องกำจัดขยะสดและทำปุ๋ยแห้งโบกาชิ ไว้ใช้เอง ผมจะขอทดลองใช้ต่อไปอีกสัก 1-2 เดือน แล้วจะเก็บข้อมูลมาอัพเดทเพื่อนๆ ที่สนใจอีกในครั้งต่อไปครับ และหากมีโอกาสจะนำถังที่ปรับปรุงแล้วมาแชร์อีกนะครับ

สุดท้ายก็ขอขอบคุณ ม.มหิดล และเวป เกษตรกร.com ครับ ที่เป็นความรู้ที่ดีมากๆ  ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่